แบงก์ชาติ รับลูก ซูเปอร์บอร์ด เร่งหาแนวทางกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ย้ำรูปแบบแตกต่างแบงก์พาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด มีมติมอบอำนาจ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยสามารถออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล การตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างอิสระนั้น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาข้อกฎหมาย ในการเข้าไปกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ ซึ่งรูปแบบการดูแลคงแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีภารกิจที่แตกต่างกัน โดยจะต้องดูแลให้ธนาคารเฉพาะกิจสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ คือ ความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจะต้องไม่เสียไป ส่วนอนาคตจะมีการควบรวมธนาคารเฉพาะกิจหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะให้ความเห็น โดยจะต้องรอให้ ธปท. พิจารณาแผนการฟื้นฟูให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากธนาคารเฉพาะกิจมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งทีมงานของธปท.อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด “เมื่อภาครัฐมอบหมายงานให้ทำก็ต้องวางแผน เมื่อชัดเจนก็จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อนำไปปฏิบัติ แต่การดูแลคงไม่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ 100% เพราะมีทั้งความเหมือนและความต่าง ส่วนจำนวนธนาคารเฉพาะกิจก็มี 7-8 แห่งที่ใหญ่จริง ๆ ก็มี 2-3 แห่ง การควบรวมก็คงต้องขอคิดให้ชัดเจนก่อน ยังไม่อยากพูดไปจะตีความกันผิดๆ ได้” นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ตามที่ซูเปอร์บอร์ด มีมติให้ ธปท. เข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น ไม่มีผลกระทบกับธ.ก.ส. เพราะปัจจุบันธปท.ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินกิจการของธนาคารอยู่แล้วปีละ 2 ครั้ง โดยใช้หลักเกณฑ์การตรวจสอบเหมือนกับทางธนาคารพาณิชย์ ทั้งเรื่องความมั่นคงทางการเงิน การจัดชั้นหนี้ การกันสำรอง และการบริหารความเสี่ยง จึงไม่ได้มีความกังวลใจแต่อย่างใด “ธ.ก.ส.ถูกตรวจสอบการทำงานโดยแบงก์ชาติอยู่แล้วปีละ 2 ครั้ง เพียงแต่เมื่อก่อนหลังตรวจสอบแล้ว แบงก์ชาติจะรายงานผลการตรวจสอบต่อกระทรวงการคลัง แต่ต่อไปหลังตรวจสอบแล้วก็สามารถสั่งการให้ธนาคารแก้ไขได้เลย รวมถึงสามารถเอาผิดกับฝ่ายจัดการ และผู้บริการได้ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้เร็วขึ้น” เขากล่าวต่อว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของธ.ก.ส.อยู่ภายใต้กรอบของสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงอยู่แล้ว มีการบริหารสภาพคล่องดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สินเชื่อมีการเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพของสินเชื่ออยู่ในภาวะปกติ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ระดับ 5.1% ของสินเชื่อโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่ก็อยู่ในระดับที่คุมได้ และคาดว่าภายในปีนี้เอ็นพีแอลจะไม่เกิน 4% โดยปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอลทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันธนาคารได้กันสำรองไว้สูงกว่ามูลหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล โดยกันสำรองทั้งหมด 1.8 แสนล้านบาท เพราะทางแบงก์ชาติได้ธนาคารกันสำรองสำหรับหนี้ที่สงสัยว่าเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพด้วย เพื่อความมั่นคงของธนาคาร นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแผนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และได้อนุมัติเฉพาะในส่วนของการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ ส่วนข้อเสนอที่ให้จัดทำรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเป็นกรรมการแบงก์รัฐ (ไดเร็คเตอร์พูล) แยกออกมาจากบัญชีรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น ไม่ได้มีการพิจารณา เพราะถือว่าได้ให้ธปท.เข้ามากำกับดูแลแล้ว Tags : แบงก์ชาติ • ซูเปอร์บอร์ด • ธปท.