'หนี้ครัวเรือน'พุ่งแตะ10ล้านล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 2 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    แบงก์ชาติ เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส2พุ่งแตะ10ล้านล้าน ด้านนายแบงก์ หวั่นกำลังซื้อผู้บริโภคสินเชื่อลดลง

    “แบงก์ชาติ” เผยหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 2 พุ่งแตะ 10 ล้านล้าน คิดเป็น 84% ของ “จีดีพี” โดย “สินเชื่อบัตรเครดิต ลิสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคล” เพิ่มกว่า 13% ขณะที่ยอด “ตึ๊ง” ผ่านโรงรับจำนำลด 14% ด้านนายแบงก์ หวั่นกำลังซื้อผู้บริโภคลด กระทบสินเชื่อรายย่อย

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดว่า หนี้ครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากภาระหนี้ที่อยู่ระดับสูง ทำให้คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคอาจด้อยลงบ้าง แต่ยังเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จะทำให้รายได้ครัวเรือนค่อยๆ ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะนอกภาคเกษตร ซึ่งช่วยบรรเทาความเปราะบางของภาคครัวเรือนได้บ้าง

    ล่าสุด ธปท. ได้รายงานตัวเลขเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 พบว่า มียอดคงค้างสุทธิอยู่ที่ 10,029,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดคงค้างที่ 9,276,815 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 752,730 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 8.11% แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 9,886,752 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 142,793 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.44%

    สำหรับสัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยเทียบกับ จีดีพี ณ สิ้นปี 2556 พบว่า มีอัตราส่วนอยู่ที่ 84% โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 83% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 75%

    รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มที่มีอัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนมากสุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ กลุ่มสถาบันการเงินอื่น เช่น บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 มียอดคงค้างการให้กู้ยืมอยู่ที่ 9,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 7,040 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,885 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 40.9%

    รองลงมาได้แก่ กลุ่มบริษัท บัตรเครดิต ลิสซิ่ง และ สินเชื่อส่วนบุคคล โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 มียอดคงค้างการให้กู้ยืมที่ 1,090,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 132,260 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.7%

    อันดับ 3 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต มียอดให้กู้ยืมคงค้างอยู่ที่ 83,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 9,598 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 12.91% อันดับ 4 คือ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ มียอดคงค้างการให้กู้ยืมที่ 1,526,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 130,251 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 9.32%

    อันดับ 5 ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มียอดการให้กู้ยืมอยู่ที่ 4,256,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 349,245 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 8.93% อันดับ 6 ได้แก่ กลุ่มสถาบันรับฝากเงินอื่น เช่น บริษัทเงินทุน (บง.) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มียอดคงค้างการให้กู้ยืมอยู่ที่ 2,898 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 232 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 8.7%

    อันดับ 7 คือ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ มียอดคงค้างการให้กู้ยืมอยู่ที่ 54,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 3,700 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 7.34% และสุดท้าย คือ ธนาคารเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (เอสเอฟไอ) ซึ่งมียอดการให้กู้ยืมคงค้างที่ 2,923,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 160,050 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.79%

    สำหรับกลุ่มที่มียอดการให้กู้ยืมคงค้างลดลงมากสุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน มียอดการให้กู้ยืม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ 25,131 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 25,776 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 50.6% รองลงมาได้แก่ กลุ่มโรงรับจำนำ มียอดการให้กู้ยืมคงค้างที่ 56,319 ล้านบาท ลดลง 9,715 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 14.71%

    รายงานนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนด้อยลงบ้างในไตรมาส 2 ปี 2557 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาระหนี้ที่ยังแขวนตัวอยู่ในระดับสูงจากการก่อหนี้มากในช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในไตรมาส 1 ปี 2556 เป็น 6% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 ตามการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นเป็นสำคัญ

    “ระยะต่อไป ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำซึ่งมีภาระในการชำระหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่น”รายงานนโยบายการเงินธปท.ระบุไว้

    นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังมีความกังวลในสถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้นว่าจะกระทบกับธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างไร โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 20% ขณะที่สินเชื่อส่วนใหญ่ยังเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยในปีนี้ธนาคารเชื่อว่าจะขยายสินเชื่อได้ในระดับ 6-7% ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายสินเชื่อไม่เกิน 8% ในปีนี้ โดยจะมาจากธุรกิจก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและโรงไฟฟ้าที่ยังมีความต้องการอยู่

    “หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคให้ปรับลดลง ในแง่ของธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมในระดับทรงตัวที่ 2.1-2.2% แต่การสำรองฯ ยอมรับว่าปีนี้สำรองเพิ่มเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า เพื่อระมัดระวัง จากเศรษฐกิจชะลอและการเมืองต้นปี โดยสำรองเพิ่มเป็น 0.85%ของสินเชื่อรวม จากเดิม 0.8%

    ส่วนการกำหนดเป้าหมายสินเชื่อในปีหน้ายังอยู่ระหว่างติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก่อนว่าจะมีมาตรการใดออกมาบ้าง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปี 2558 ให้มีการขยายตัวมากน้อยเพียงใด จึงจะนำมาประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและกำหนดทิศทางของสินเชื่อได้

    Tags : หนี้ครัวเรือน • ธนาคารแห่งประเทศไทย • สินเชื่อ • เศรษฐกิจ • ธนาคารพาณิชย์ • ธปท. • ธุรกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้