ฟิทช์คงเรทติ้งไทย ชี้พื้นฐานแข็งแกร่งหั่นจีดีพีเหลือ1.2%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 2 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ฟิทช์หั่นเป้าจีดีพีไทยลงเหลือ 1.2% จาก 2.5% แต่คงเรทติ้ง ระบุพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง คาดปีหน้าโต 4%

    จากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐหนุน ด้านธนาคารโลกเล็งปรับจีดีพีต่ำกว่า 3% ขณะ"ปรีดิยาธร"มั่นใจมาตรการกระตุ้น ดันเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง เตรียมประมูลรถไฟฟ้า 8 สายปีหน้า

    บริษัทฟิทช์ เรทติงส์ (ประเทศไทย) คงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและสถาบันการเงินของไทย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง แม้จะมีความเสี่ยงในช่วงขาลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐล่าช้า

    นายเจมส์ แมคคอร์แมค หัวหน้าฝ่ายเรทติ้งประเทศของ ฟิทช์เรทติ้งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ กล่าวในจัดการประชุมประจำปีที่กรุงเทพวานนี้(1ก.ย.) เรื่อง "ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย" ว่า อันดับความน่าเชื่อของไทย ตอนนี้ยังมีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับสมเหตุสมผล BBB+ และฟิทช์ยังไม่เปลี่ยนแปลงเรทติ้งในระยะสั้น หรือช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

    "หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับการคลังของประเทศ รวมถึงฐานะการคลังของไทยในต่างประเทศ หรือพัฒนาการทางการเมือง ถ้าปัจจัยเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงในเชิงลบ และมีผลต่อการเติบโตของประเทศ ฟิทช์อาจจะพิจารณาเรทติ้งประเทศไทยใหม่"

    ฟิทช์ได้ปรับจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 1.2% จากเดิมให้ไว้ 2.5% ส่วนปีหน้าให้จีดีพีขยายตัว 4% เพราะไตรมาสแรกปีนี้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอ ผลประกอบการทางเศรษฐกิจออกมาไม่ดี จึงปรับลดจีดีพีทั้งปีนี้ของไทยมาตั้งแต่ไตรมาส 2 แล้ว

    ส่วนคาดการณ์จีดีพีปีหน้า ฟิทช์ให้ตัวเลขไว้ที่ 4% เพราะคาดหวังภาครัฐมีการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และใช้จ่ายมากขึ้น หากภาครัฐใช้จ่ายลงทุนมากขึ้น น่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้นตามไปด้วย

    ลงทุนภาครัฐหนุนจีดีพีปีหน้าขยายตัว

    ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศวานนี้ (1ต.ค.) ไม่ส่งผลต่อเรทติ้งประเทศ แต่ช่วยสนับสนุนการเติบโต และเป็นส่วนที่ฟิทช์นำไปใช้คาดการณ์จีดีพีประเทศจากนี้ไปด้วย

    "รัฐบาลมีแผนพัฒนาประเทศอยู่แล้ว หากไม่สามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ หรือล่าช้าเลื่อนออกไป ก็กลายเป็นปัญหาพัฒนาขีดแข่งขันของประเทศที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว หวังว่ารัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ จะเริ่มต้นลงทุน หากโครงการลงทุนภาครัฐยังดำเนินไปต่อเนื่องจะช่วยจีดีพีไทยปีหน้าขยายตัวได้มากขึ้น"

    นอกจากนี้ สิ่งที่ นายแมคคอร์แมค กังวลมากที่สุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย คือ หลายปีที่ผ่านมาการเติบโตของไทยเทียบประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะกับประเทศที่ได้เรทติ้งระดับเดียวกัน ค่อนข้างอ่อนแอ แต่ยังไม่ได้ฉุดเรทติ้งประเทศต่ำลง เพราะหนี้ภาครัฐต่ำอยู่ที่ 33-34% ของจีดีพี ฐานะการคลังในต่างประเทศค่อนข้างดีอยู่

    ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปีนี้ คือ การเริ่มใช้จ่ายภาครัฐสะดุด รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายพัฒนาประเทศให้เดินหน้า หรือนโยบายล่าช้าในแง่การใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้เกิดความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดได้

    "ถ้ารัฐบาลเดินหน้าใช้จ่ายลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ จะเกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชนและภาคครัวเรือน คือสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน ขณะที่ความรู้สึกของผู้บริโภคกับนักลงทุนก็ดีขึ้นด้วย หากไม่มีพัฒนาการเหล่านี้เศรษฐกิจอาจสะดุดถอยหลังได้"

    ชี้เศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

    นายแมคคอร์แมค กล่าวว่า ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้า ยังคลุมเครือไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอาจเกิดขึ้นกับไทย เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ และภูมิภาคสำคัญข้างต้น มีความแตกต่างกัน จึงอยู่ที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจของยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยุโรปแต่ไม่มากนัก เพราะการส่งออกของไทยไปยุโรปไม่ถึง 10%

    ส่วนการฟื้นตัวแข็งแกร่งของสหรัฐ นายแมคคอร์แมค กล่าวว่า จะทำให้สหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่การฟื้นตัวดีของสหรัฐน่าจะส่งผลดีช่วยกระตุ้นการส่งออกของเอเชียรวมไทย ให้สามารถส่งออกไปสหรัฐได้มากขึ้น

    ธนาคารโลกจ่อหั่นจีดีพีไทยต่ำ3%

    น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลง จากเดิมเคยให้ไว้ที่ 3% ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ ซึ่งเวลานั้นเป็นอัตราสูงเกินไปสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ เนื่องจากการส่งออกลดลง การบริโภคครัวเรือนกับภาคเอกชนและการลงทุนไม่ขยายตัวตามคาด

    ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ธนาคารโลกในไทย จะแถลงข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียรวมไทย ซึ่งจะแถลงปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยปีนี้ ซึ่งปรับลดลงจากระดับ 3% ที่เคยให้ต้นปีนี้ หลังจากพบว่าการส่งออกลดลง การบริโภคภาคครัวเรือนกับภาคเอกชน รวมถึงการลงทุน ตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวโตน้อยกว่าคาดการณ์

    "รายงานที่ธนาคารโลกเคยออกไว้เดือนมิ.ย. เป็นเพราะคาดการณ์ว่า หลังมีรัฐบาล การบริโภคกับการลงทุนในประเทศกระเตื้องได้เร็ว แต่พอดูข้อมูลจริงๆ กลับช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐอาจใกล้เคียงตัวเลขเดิม"

    สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลัก จะมาจาก 2 ทาง คือการส่งออกกรณีเศรษฐกิจโลก สหรัฐฟื้นตัวแล้ว แต่ยุโรปดูอ่อนแอยังฟื้นไม่เต็มที่ จึงมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกตรงนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของไทยจากภายนอก เพราะการส่งออกของไทย 70% ของจีดีพี

    ปีหน้าเปิดประมูลรถไฟฟ้า8สาย

    ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีสัมมนาว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ เพราะมาตรการส่วนใหญ่เป็นการมุ่งใช้เงินงบประมาณเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และทำให้ประชาชนมีรายได้ โดยจะจัดสรรงบประมาณ 20% เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

    นอกจากนี้รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน จากการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ค้างอยู่ 400,000 ล้านบาท และปีหน้าจะสามารถเปิดประมูลสร้างรถไฟฟ้า 8 สาย จากทั้งหมด 10 สายภายในปีหน้า ซึ่งการลงทุนทั้งหมดจะมีการดึงเอกชนเข้ามาร่มลงทุน (พีพีพี) เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนและประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้มากกว่าการที่รัฐเข้าไปลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งการลงทุนเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการทั้งหมดที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติวานนี้

    “ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการทั้งหมดที่จะเสนอต่อครม. และเชื่อว่าจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และทำให้ประชาชนมีการใช้จ่าย รวมไปถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลบวกและเป็นจุดเริ่มต้นที่จะฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และช่วยให้จีดีพีปีหน้าขยายได้ 4-5%”

    Tags : ฟิทช์ เรทติงส์ • ความน่าเชื่อถือ • จีดีพี • ปัจจัยเสี่ยง • ธนาคารโลก • รถไฟฟ้า • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้