ทุ่ม3.6แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 2 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ทุ่ม3.6แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้4หมื่นล้าน ช่วยชาวนา 1,000 บาท/ไร่ เริ่มจ่าย20ต.ค.

    รัฐบาลทุ่ม 3.6 แสนล้านบาท ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี นายกฯมั่นใจเศรษฐกิจกระเตื้อง พร้อมสั่งตั้งกรรมการติดตามเบิกจ่าย ด้าน “ปรีดิยาธร”เผย 5 มาตรการ เน้นสร้างงาน ซ่อมแซม ก่อสร้างดึง"งบกลาง-ไทยเข้มแข็ง" ขีดเส้นทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนพ.ย. จ่ายช่วยปัจจัยผลิตชาวนา 1,000 บาท/ไร่ ระบุดีกว่าจำนำข้าว เอกชนหนุน ไม่แทรกแซงตลาด ขณะนักเศรษฐศาสตร์มั่นใจกระตุ้นจีดีพีโต 2% ชี้เป็นมาตรการที่ดี

    การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (1 ต.ค.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท โดยเป็นมาตรการระยะสั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มุ่งเน้นไปที่การจ้างงาน เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และช่วยเหลือต้นทุนการผลิตชาวนา

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณเพื่อสร้างอาชีพ การจ้างงาน การซ่อมแซมสาธารณูปโภค และการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจะเป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่าให้เม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจถึงมือประชาชนให้มีอำนาจในการใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

    "ไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวมากน้อยอย่างไรเพราะในขณะนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 ก็เพิ่งจะมีการบังคับใช้และจีดีพีมีปัจจัยหลายอย่างและปัญหาเศรษฐกิจหลายอย่างต้องมีการแก้ไขในระยะยาวแต่ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการในการแก้ปัญหาระยะสั้นแล้ว"

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะมีการสุ่มตรวจการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อให้มีความโปร่งใส หากพบว่ามีการทุจริตจะมีการลงโทษทันที

    “หากเศรษฐกิจไม่เติบโตในปีนี้ผมก็ต้องรับผิดชอบ เพราะผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่อยากให้ดูว่าอดีตที่ผ่านมามีปัญหาอะไร มาตรการแบบนี้ไม่เคยทำมาก่อนเพราะติดปัญหาอะไร ส่วนการส่งออกที่ลดลงก็เป็นปัญหาจากภายนอก ที่เขาซื้อของเราลดลงเพราะปัญหาภายนอก แต่ก็กำลังแก้ปัญหาอยู่ ทั้งการเพิ่มเทคโนโลยีและการหาตลาดใหม่”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    ทุ่ม3.63หมื่นล้านออก5มาตรการ

    ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่ามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเน้นมาตรการที่สร้างการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเน้นการสร้างงาน และช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวมประมาณ 363,900 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 5 มาตรการย่อย

    1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนปี 2557 ของทุกหน่วยราชการที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย จำนวน 1.47 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลขยายระยะเวลาในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการจากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2557 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ใน 3 เดือนข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 20%

    2.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนปี 2558 ใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณและหน่วยราชการรายงานว่าจากงบลงทุนปี 2558 วงเงินรวม 4.195 แสนล้านบาท จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณให้ได้ 1.29 แสนล้านบาท คาดว่าในส่วนนี้จะมีการเร่งรัดทำสัญญาและเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 30-40%

    3.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่คงค้างจากงบไทยเข้มแข็ง 1.5 หมื่นล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นจากปีงบประมาณ 2555 - 2557 ที่คงเหลืออีก 8,000 ล้านบาท รวม 2.3 หมื่นล้านบาท

    เร่งจัดซื้อจัดจ้างภายในพ.ย.นี้

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าได้หารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มีการเสนอของบประมาณในการก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร หรือซื้อครุภัณฑ์ใหม่และไม่สามารถขอใช้งบประมาณปี 2558 ได้ให้นำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ เช่น อนุมัติงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนและจัดหาครุภัณฑ์ 6,850 โรงเรียน สร้างอาคารเรียนใหม่ 1,084 หลัง และห้องสุขา 1,000 หลังทั่วประเทศ วงเงิน 8,844.9 ล้านบาท และการบำรุงรักษาทางและบูรณะทางสายหลัก วงเงิน 3,898.6 ล้านบาท เป็นต้น

    "โครงการเหล่านี้ให้รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการไปเร่งดำเนินการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.เพื่อให้มีการเพิ่มการจ้างงานทั่วประเทศ โดยจะให้สำนักงบประมาณติดตามการใช้จ่ายงบประมาณทุกเดือน"

    4.ให้หน่วยงานราชการเร่งทบทวนโครงการที่มีกันงบประมาณไว้เบิกจ่ายเหลือปีงบประมาณตั้งแต่ปี 2548 - 2555 วงเงินรวมประมาณ 2.49 หมื่นล้านบาท โดยให้ทุกหน่วยงานไปดูว่ามีโครงการใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและให้เร่งนำเสนอเข้ามา เพื่อให้มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภายในโครงการต่างๆ ในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนต่อไป

    ช่วยชาวนา3.4ล้านครัวเรือน4หมื่นล้าน

    5.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยโดยอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำกัดคนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือรายละไม่เกิน 15,000 บาท เนื่องจากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าราคาข้าวในปีนี้ราคาตกต่ำโดยปัจจุบันราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อตัน

    ทั้งนี้เมื่อข้าวนาปีออกสู่ตลาดใน 1 - 2 เดือนนี้ เป็นต้นไปราคาข้าวจะตกต่ำลงอีก มาตรการนี้จึงเป็นการช่วยเหลือชาวนาอย่างเร่งด่วนโดยเฉลี่ยแล้วจะช่วยเหลือชาวนาได้ทั้ง 3.4 ล้านครอบครัว โดยจะสามารถช่วยเพิ่มราคาข้าวเฉลี่ย 100 บาท/ตัน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีกว่ามาตรการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินจำนวนมากถึงปีละ 2 แสนล้านบาท

    จ่ายเงินผ่านธ.ก.ส.ถึงมือชาวนา20ต.ค.

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือชาวนาเพียงฤดูกาลผลิตเดียวเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการระยะยาว โดยวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทรัฐบาลจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้สภาพคล่องสำรองจ่ายในโครงการไปก่อนและรัฐบาลจะตั้งวงเงินงบประมาณใช้คืนในปีงบประมาณต่อไป

    คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนาได้ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ส่วนการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในระยะยาวจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)

    “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดเป็นมาตรการที่เราทำอย่างจริงจังและไม่ได้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ โดยในส่วนมาตรการจ้างงานที่มีการเร่งการทำสัญญาโดยเฉพาะงานโครงการขนาดเล็กสามารถกดปุ่มทำได้พร้อมกันได้ทั่วประเทศ ธุรกิจก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจะตื่นขึ้น เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้จริงและเป็นการเคลื่อนของเศรษฐกิจจากชนบทเข้าสู่เมือง”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

    เร่งเบิกจ่ายหัวใจสำคัญดันจีดีพีโต

    ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า มาตรการภาครัฐที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ แต่แม้ภาครัฐจะเร่งลงทุนมากเท่าใด ก็คงจะไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจโตเต็มที่ได้ หากเอกชนไม่ได้ลงทุนตาม จึงควรทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นแล้วลงทุน ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

    "ความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การส่งออก ที่ไม่มีการเติบโต แม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือคู่แข่งกลับมีการเติบโต สะท้อนว่าศักยภาพในการแข่งขันของไทยน้อยลง ต่างประเทศจึงไม่ซื้อสินค้าของเรา ไทยจึงต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน"

    นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวถือว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้จีดีพีเติบโตในอัตรา 2% เพราะหากไม่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุน จีดีพีในปีนี้คงเติบโตได้แค่ 1% เพราะการส่งออกไม่ขยายตัว

    เวิลด์แบงก์เผยแนวคิดดีกระตุ้นศก.

    ด้าน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่ามาตรการของรัฐบาล มีการจ้างงานผ่านโครงการของภาครัฐ และอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้การลงทุน

    "ไอเดียรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถือว่าดี เพราะการลงทุนของไทย ถ้าการลงทุนสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน การใช้จ่ายของครัวเรือนด้วยจะดีกับอนาคต เพราะการลงทุนเป็นสิ่งช่วยประเทศเติบโตในอนาคต"

    เอกชนหมดห่วงเลิกแทรกแซงตลาด

    นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลไกราคาในตลาด แต่เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงช่วงแรก ส่วนระยะกลางและยาวเชื่อว่าจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้ปัจจัยการผลิตลดลง ควบคู่กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการกว่าจะได้ผลทางปฏิบัติ

    "เป็นเรื่องที่ดีที่ไม่มายุ่งกับกลไกตลาด แต่ก็เป็นห่วงอยู่ว่าช่วงที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดราคาข้าวค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะคู่แข่งมีปริมาณผลผลิตสูง เช่น อินเดีย ทำให้ปีหน้าการแข่งขันจะสูงตามไปด้วย ส่วนปีนี้ มีโอกาสส่งออกได้ 11 ล้านตัน โดยช่วง 8 เดือนส่งออกแล้ว 9.5 ล้านตัน และในเดือน ก.ย.นี้ก็เชื่อว่าจะส่งออกไม่ต่ำกว่า 9 แสนตัน" นายชูเกียรติ กล่าว

    สำหรับมาตรการช่วยเหลือชาวนา นายพรหมมา บุญมาช่วย เกษตรกรสุพรรณบุรี กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือชาวนา ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นเงินที่ช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ส่วนหนึ่ง และหวังว่าจะไม่มีการโกงกินกันระหว่างทางเพราะการโอนเงินจะต้องถึงมือเกษตรกรผ่านบัญชีที่เกษตรกรเปิดไว้กับธ.ก.ส.

    Tags : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • กระตุ้นเศรษฐกิจ • ช่วยชาวนา • คณะรัฐมนตรี • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • จัดซื้อจัดจ้าง

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้