(รายงาน) เปิดร่างกม.การคลังภาครัฐ สกัด "ประชานิยม-หนี้ไม่เกิน60%จีดีพี" สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายใหม่หลายฉบับที่เสนอรัฐบาล และถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญในการดูแลวินัยการเงินการคลังของประเทศ มีรายละเอียดดังนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมาย จะมีการกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้วินัยการเงินการคลัง กล่าวคือ ระดับหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี กำหนดนิยามของการใช้จ่ายเงินโครงการประชานิยม ที่ไม่ก่อให้เกิดภาระการคลัง และจะกำหนดไม่ให้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้มีการนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายเป็นรายกรณี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยความคืบหน้าของการพิจารณาร่างกฎหมายการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ...ว่า เร็วๆ นี้ ตนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าหารือ เพื่อสรุปหลักการ เหตุผล และรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายของกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีลำดับถัดไป เบื้องต้น สศค.คงยึดหลักการ เหตุผล ของการร่างกฎหมายการเงินการคลังภาครัฐที่ สศค. เคยร่างไว้แต่เดิม แต่ในแง่ของรายละเอียดมาตราของกฎหมาย จะมีการเพิ่มเติมบางส่วนที่สำคัญต่อการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อเป็นการวางมาตรฐานการใช้จ่ายเงินภาครัฐสำหรับทุกรัฐบาล อาทิ เรื่องการใช้นโยบายประชานิยม และ การกำหนดกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อนำเงินรายได้ของรัฐไปใช้เป็นรายกรณี เป็นต้น สั่งนิยามนโยบายประชานิยมชัดเจน "ผมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของ สศค. ไปเพิ่มเติมรายละเอียดของกฎหมาย ที่จะช่วยให้การใช้จ่ายของรัฐบาลอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังมากขึ้น โดยนำบทเรียนของการใช้จ่ายเงินภาครัฐมาเป็นตัวกำหนด เช่น นโยบายประชานิยม เราจะกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนว่า นโยบายประเภทใดเป็นนโยบายประชานิยม ควรที่จะมีการนำเงินงบประมาณไปใช้หรือไม่ ยกตัวอย่าง กรณีโครงการจำนำข้าว แม้รัฐบาลจะไม่มีเจตนาให้เกิดภาระหนี้จำนวนมาก แต่ที่สุดแล้ว นโยบายก็ทำให้เกิดภาระหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น" นายกฤษฎา กล่าว กรณีที่หน่วยงานภาครัฐ กำหนดกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้นำรายได้ของรัฐไปใช้เป็นรายกรณี เช่น กรณีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)โดยนำรายได้ของการจัดเก็บภาษีบาป ไปสนับสนุนกองทุน ขณะที่รายได้รัฐทุกบาทจะต้องเข้าคลังหลวง และให้นำออกใช้จ่ายได้ตามกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น การดำเนินการลักษณะนี้ ถือได้ว่า เป็นการออกกฎหมายที่คลุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินของรัฐ และหากในอนาคต มีหน่วยงานใดที่ออกกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ จะทำให้ขาดวินัยการเงินการคลัง กำหนดวินัยการเงิน-คลังเป็น6ส่วน หลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวางแผนการเงินระยะปานกลาง การจัดหารายได้ การกำหนดแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การบริหารการเงินและทรัพย์สิน การบัญชี กองทุนสาธารณะ การก่อหนี้ หรือ การดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สิน หรือภาระทางการเงิน หลักเกณฑ์กำหนดวงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นและการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารการคลังของประเทศ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน โปร่งใสและตรวจสอบได้ ร่างกฎหมายดังกล่าว จะประกอบด้วย 2 หมวด คือ 1.หมวดวินัยการเงินการคลังภาครัฐ 2.หมวดบัญชีภาครัฐ การรายงาน และ การตรวจสอบ สำหรับหมวดวินัยการเงินการคลังภาครัฐ จะกำหนดเป็น 6 ส่วนหลัก คือ 1.ส่วนของรายได้แผ่นดิน 2.ส่วนของรายจ่าย 3.ส่วนของแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน 4.ส่วนของการก่อหนี้ 5.ส่วนของการบริหารการเงินและทรัพย์สิน 6.ส่วนของเงินนอกงบประมาณและกองทุนสาธารณะ สาระสำคัญของแต่ละส่วน คือ รายได้แผ่นดิน จะกำหนดว่า รายได้แผ่นดิน ได้แก่ เงินทั้งปวงที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บ หรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ และต้องนำส่งคลัง เป็นต้น ส่วนรายจ่าย จะกำหนดให้หน่วยงานรัฐจ่ายเงินได้แต่เฉพาะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย หรือ ตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่น เน้นการใช้จ่ายต้องคุ้มค่า การจ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ ต้องนำไปใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้อย่างคุ้มค่าและประหยัด โดยคำนึงถึงเป้าหมาย ประโยชน์ที่ได้รับ ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของหน่วยงานของรัฐ และสอดคล้องกับรายการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายของแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานรัฐนั้น รวมถึงการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ ต้องคำนึงถึงข้อผูกพันในการชำระเงินตามสัญญา ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการเงินที่เกิดขึ้น ขณะที่การเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การนำเงินส่งคลัง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน กำหนดให้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายงบประมาณ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย ความสามารถในการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน สถานการณ์หนี้สาธารณะ และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายเพื่อลงทุนต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น ก่อหนี้สาธารณะไม่เกิน60% การก่อหนี้ จะกำหนดสัดส่วนระดับการก่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% เว้นแต่กรณีที่เกิดเหตุจำเป็น ให้รัฐมนตรีคลังเป็นผู้กำหนดสัดส่วนใหม่ได้ เป็นต้น ส่วนการบริหารการเงินและทรัพย์สิน จะกำหนดให้การบริหารเงินคงคลังให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง โดยต้องรักษาไว้ในระดับที่จำเป็น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอ สำหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และเงินที่เบิกจากคลังเพื่อการใด ให้นำไปจ่ายได้เฉพาะเพื่อการนั้น จะนำไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นไม่ได้ ถ้าไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด ให้หน่วยงานรัฐผู้เบิก นำส่งคืนคลังโดยไม่ชักช้า ส่วนเงินนอกงบประมาณ และกองทุนสาธารณะ จะกำหนดว่า เงินนอกงบประมาณให้มีเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ หากส่วนราชการมีเงินดังกล่าวไว้ แต่ยังไม่ได้ใช้จ่ายให้นำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีการกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น หากมีเงินคงเหลือให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินโดยไม่ชักช้า จัดทำความเสี่ยงการคลังประจำปี สำหรับหมวด 2 การบัญชีภาครัฐ การรายงาน และการตรวจสอบ สาระสำคัญจะกำหนดให้กระทรวงการคลัง กำหนดมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายการบัญชีภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจัดทำบัญชี และรายงานงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ เว้นแต่จะมีกฎหมายเป็นอย่างอื่น และให้กระทรวงการคลัง จัดทำบัญชีการเงินแผ่นดินเพื่อบันทึกรายงานเกี่ยวกับ รายได้ รายจ่าย การก่อหนี้ผูกพัน การกู้ยืม การบริหารเงินและทรัพย์สิน และ การอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินแผ่นดินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ นอกจากนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้รัฐมนตรีเสนอรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณที่สิ้นปีงบประมาณ ให้รัฐมนตรีเสนอรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีที่สิ้นสุดนั้นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ พร้อมให้กระทรวงการคลัง จัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี ซึ่งต้องแสดงผลการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงินนโยบายของรัฐบาล และผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อาจก่อให้เกิดภาระต่อฐานะการคลังของรัฐบาล และ แนวทางบริหารความเสี่ยงนั้น โดยให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาในการกำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับปีงบประมาณถัดไป Tags : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง • สศค. • กฤษฎา จีนะวิจารณะ • วินัยการเงินการคลัง • ประชานิยม • หนี้สาธารณะ