"ไทย"แชมป์ควบรวมมูลค่าพุ่ง6แสนล้าน เอสแอนด์พีประเมิน2ปีเน้นกู้เงินเทคโอเวอร์ เอสแอนด์พีระบุภาคธุรกิจไทยมีมูลค่าควบรวมกิจการมากสุดในภูมิภาคอาเซียน เผยผลสำรวจ 5 ปีย้อนหลังพบมูลค่าการควบรวมกิจการสูงถึง 6 แสนบ้านบาทโดย 2 ปีย้อนหลังเป็นการกู้เพื่อไปซื้อกิจการเป็นส่วนใหญ่ สวนทางการเติบโตของกระแสเงินสดในบริษัทที่ปรับตัวลดลง พร้อมคาดแนวโน้มภาคธุรกิจไทยจะมีการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ นายไมเคิล ซีพาลด์ กรรมการผู้จัดการ และผู้จัดการส่วนงานวิเคราะห์และจัดอันดับในเอเชียแปซิฟิก สถาบันจัดลำดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือเอสแอนด์พี กล่าวถึงผลสำรวจบริษัทชั้นนำ 100 บริษัทในภูมิภาคอาเซียนว่า บริษัทส่วนใหญ่มีความต้องการในการควบรวมกิจการและการเพิ่มเงินลงทุนของกลุ่มบริษัทชั้นนำในไทย จะเป็นมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของบริษัทในช่วง 12 เดือนจากนี้ นายเซเวียร์ จีน ผู้อำนวยการ ส่วนงานวิเคราะห์และจัดอันดับในเอเชียแปซิฟิก สถาบันจัดลำดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือ เอสแอนด์พี กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทชั้นนำ 20 แห่งที่ทำการรวบรวมข้อมูล มีมูลค่าการควบรวมกิจการมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และในช่วง 2 ปีย้อนหลังพบว่าแหล่งเงินในการควบรวมกิจการมาจากการกู้ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่ปี 2551-ไตรมาส 1 ปี 2557 ของ 20 บริษัทชั้นนำในประเทศไทยพบว่ามีการควบรวมกิจการคิดเป็นมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 50% ของมูลค่าการควบรวมกิจการของทั้งหมด 100 บริษัทในภูมิภาคเอเชียที่ทำการสำรวจ ทั้งนี้ ระดับหนี้ของ 20 บริษัทชั้นนำปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากในอดีต ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าบริษัทจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจพบว่าการเติบโตของกระแสเงินสดในบริษัทนั้นๆ กลับปรับลดลง โดยค่าเฉลี่ยของการเติบโตของรายได้ในภูมิภาคอาเซียนปรับลดลง 6%ในปี 2556 จากปี 2555 ที่มีการเติบโต 13% และ 15% ในปี 2554 ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่ออิบิทดาปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 เท่า จากระดับ 2 เท่าในปี 2551 “เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่าภาคธุรกิจของไทยจะมีการกู้เพิ่มมากขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อรักษามูลค่าเงินลงทุนเพื่อขยายกิจการและเงินปันผล และประเมินว่าเงินลงทุนเพื่อขยายกิจการในไตรมาส 1/2557 จะปรับเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน” นายจีนกล่าว ผู้อำนวยการกล่าวว่า ภาคธุรกิจไทย ทั้งในส่วนของบริษัทแม่โดยตรงและบริษัทในเครือมีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการควบรวมกิจการสูงมาก ทั้งการควบรวมกิจการภายในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งทำให้งบดุลมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ในมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รูปแบบการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจของประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากทำให้การตีความงบการเงินมีความสลับซับซ้อน และอาจทำให้ไม่สามารถประเมินภาพรวมธุรกิจได้ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อมีการควบรวมกิจการกับธุรกิจที่ทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น ผลสำรวจพบว่า กลยุทธ์การระดมทุนและความเสี่ยงทางการเงินของภาคธุรกิจในประเทศไทยค่อนข้างหลากหลาย โดยประมาณ 20% ของกลุ่มธุรกิจยังมีหนี้สินในระดับที่สูง และอีกครึ่งหนึ่งมีหนี้ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการเงินกลับมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งกลุ่มกล่าวคือ บริษัทส่วนมากตั้งใจขยายธุรกิจด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยกลุ่มธุรกิจที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่ม คือกลุ่มการบิน, กลุ่มเคมิคอล และกลุ่มเหมืองแร่ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอด้านธุรกิจ นายจีนกล่าวอีกว่า ในส่วนของภูมิภาคอาเซียนนั้น คาดหวังว่าภาคธุรกิจในอาเซียนจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอีก 12-24 เดือนจากนี้ เนื่องจากความสามารถในการระดมทุนที่ดีและมีโอกาสเติบโตในประเทศสูง อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวนั้นไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ก็สามารถสร้างความเสี่ยงให้กับภาคธุรกิจเช่นกัน ในหัวข้อของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สถาบันเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจของภูมิภาคอาเซียนที่อยู่ในการสำรวจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งกลุ่มธุรกิจได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง แม้ที่ผ่านมา ปัจจัยด้านดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ต้นทุนการเงินของกลุ่มธุรกิจลดลง เป็นผลให้เห็นการเติบโตทางธุรกิจที่น่าพอใจ แต่สถาบันเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายธุรกิจ และเชื่อว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจชั้นนำจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ เขากล่าวเพิ่มว่า ในกลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทยนั้น แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้น ต้นทุนที่สูงขึ้นก็จะไม่กระทบกับความสามารถในการขยายธุรกิจและสร้างการเติบโต เนื่องจากเชื่อว่าบริษัทชั้นนำส่วนมากมีการเตรียมการด้านเงินกู้ โดยให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกับรายได้หลักของบริษัท เพื่อให้เกิดความสมดุลในที่สุด ซึ่งส่วนนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่บริษัทชั้นนำของประเทศไทยได้เรียนรู้เมื่อปี 2540 ที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ Tags : เอสแอนด์พี • อาเซียน • ธุรกิจ • ดอกเบี้ย • ธุรกิจไทย • ไมเคิล ซีพาลด์