ยุติแอลทีเอฟวอลุ่มสถาบันหาย

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 1 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    โบรกเกอร์เชื่อ แอลทีเอฟไม่ต่ออายุ กระทบวอลุ่มสถาบันเล็กน้อย เชื่อรัฐออกกองทุนรูปแบบใหม่ทดแทน

    จากความไม่ชัดเจนของรัฐบาล กรณีการต่ออายุการลดหย่อนภาษีให้กับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือแอลทีเอฟ ที่จะหมดอายุในปี 2559 ว่า จะมีการต่ออายุหรือไม่นั้น ทำให้มีความเสี่ยงของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนสถาบัน อาจจะมีการสัดส่วนลดลง โดยปัจจุบันนักลงทุนสถาบันมีสัดส่วนในมูลค่าการซื้อขายต่อวันที่ 9.73% ในขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ณ วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 890,853 ล้านบาท โดยมีกองทุนแอลทีเอฟอยู่ที่ 242,992 ล้านบาท

    นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส เปิดเผยว่า การหายไปของแอลทีเอฟนั้น จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนสถาบัน ที่ส่งคำสั่งซื้อผ่านทางโบรกเกอร์แน่นอน แต่จากการประเมิน จะกระทบไม่มากนัก เพราะคำสั่งการซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนสถาบัน ไม่ได้มาจากแอลทีเอฟเพียงอย่างเดียว

    "หากแอลทีเอฟหายไปจะกระทบกับวอลุ่มของนักลงทุนสถาบันแน่นอน แต่จะไม่กระทบมากนัก เพราะแอลทีเอฟเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมูลค่าการซื้อขาย แต่ยังมีคำสั่งซื้อในส่วนอื่นอยู่ด้วย ทั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นทั่วไป รวมไปถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(อาร์เอ็มเอฟ)ยังมีคำสั่งซื้ออยู่"

    นางภัทธีรา กล่าวว่า แม้แอลทีเอฟที่จะหมดอายุการลดหย่อนภาษีในปี 2559 แต่เชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลน่าจะมีการออกกองทุนขึ้นมาทดแทน และมีรูปแบบคล้ายคลึงกับแอลทีเอฟที่มีอยู่เดิม

    นอกจากนี้ยังมีกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟ ที่ยังลดหย่อนภาษีได้ต่อเนื่อง อีกทั้งนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ จะเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพ และไม่เน้นการลงทุนระยะสั้น จึงประเมินว่า คำสั่งซื้อจะไม่หายไปมากนัก ซึ่งขณะนี้นักลงทุนสถาบัน มีส่วนแบ่งในการซื้อขายต่อวันในระดับ 10% เท่านั้น จึงไม่กระทบกับภาพรวมของตลาด

    ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ เปิดเผยว่า ทิสโก้มีสัดส่วนจากนักลงทุนสถาบันในประเทศประมาณ 55 % จากมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดของบริษัท มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ใน 3 อันดับ

    "เรามองว่า แอลทีเอฟที่หายไปอาจกระทบกับวอลุ่มการซื้อขายบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้คำสั่งซื้อจากนักลงทุนสถาบันหายไปทั้งหมด เพราะยังเหลือประเภทกองทุนชนิดอื่นๆ อยู่ แต่สิ่งที่เราห่วงมากกว่า คือการเสียโอกาสนักลงทุน ที่จะได้เข้าสู่การลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งแอลทีเอฟเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้นักลงทุนได้รู้จักกับการลงทุนในตลาดหุ้น และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หากส่วนดังกล่าวหายไปจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย

    ทั้งนี้การแข่งขันของอุตสาหกรรมเพื่อแย่งชิงมูลค่าการซื้อขาย จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนั้น แม้หลายบริษัทหลักทรัพย์ จะให้ความสนใจในการเข้ามา ทำตลาดในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น แต่เป็นเรื่องไม่ง่าย ที่จะมีรายใหม่เข้ามา เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนส่วนใหญ่ จะมีการส่งคำสั่งผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เคยใช้บริการ และบริษัทหลักทรัพย์ที่มีความเข้มแข็งของงานวิจัย ซึ่งทิสโก้มีความเด่นในเรื่องดังกล่าว

    ขณะที่ นายจักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าขยายตลาดในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยบริษัทมีจุดเด่นในส่วนของทีมวิเคราะห์ โดยบริษัทมีทีมวิเคราะห์ที่มีความแม่นยำ โดยการเพิ่มลูกค้าในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เป็นแผนการหนึ่งที่จะลดสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งจะขยายไปกลุ่มลูกค้ากลุ่มอื่นมากขึ้น

    Tags : ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ • แอลทีเอฟ • สถาบัน • ไพบูลย์ นลินทรางกูร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้