(รายงาน) 'บริโภค-ลงทุน-ส่งออก'ไม่ฟื้น เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ'แผ่ว' สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค. 2557 ระบุว่ามีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีการชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง มีรายละเอียดดังนี้ การบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนส.ค. 2557 หดตัว -0.8% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.9% ต่อปี ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวในอัตราเร่งที่ -8.1% จากเดือนก่อนที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.6% ต่อปี แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ 5.1% จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 6.8% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนส.ค. หดตัวที่ -11.4% ต่อปี ตามการหดตัวที่ลดลงจากยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในภูมิภาคและกทม. ส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนส.ค. 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -41.2% ต่อปี แต่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งได้กลับมาขยายตัว 1.8% ต่อเดือน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักรมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนส.ค. 2557 หดตัวต่อเนื่องที่ -14.1% ต่อปีจากเดือนก่อนที่หดตัว -9.7% เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ได้ขยายตัวเร่งขึ้นไปมากในช่วงปี 2556 ขณะที่ยอดขายปูนซีเมนต์หดตัว -2.7% ต่อปีส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนส.ค. 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -21.2% ต่อปี อย่างไรก็ดี พบว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์สามารถกลับมาขยายตัวที่ 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลัง รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมได้จำนวน 132.1 พันล้านบาท หดตัว -7.9% ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 124.7 พันล้านบาท หดตัว -4.3% ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 107.2 พันล้านบาท ขยายตัว 0.8% ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 17.5 พันล้านบาท หดตัว -27.2% ต่อปี ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ 2,034.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 80.6% ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 (2,525.0 พันล้านบาท) ทั้งนี้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)) ได้จำนวน 203.2 พันล้านบาท ลดลง -5.9% ต่อปี ดังนี้ 1. ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลง -5.9% จากปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลง -6.4% จากปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลง -4.1% จากปีก่อน ตามการปรับลดอัตราภาษี และ 2. ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อนโดยภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลง -6.3% จากปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้อปท.) ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ได้ 1,881.6 พันล้านบาท ลดลง -4.3% จากปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการ 168.4 พันล้านบาท หรือ -8.2% สำหรับดุลเงินงบประมาณ เกินดุล 4.7 พันล้านบาท และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -411.7 พันล้านบาท อุปสงค์ต่างประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนส.ค. ซึ่งหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์ หดตัว -7.4% ต่อปี โดยในเดือนส.ค. สินค้าส่งออกที่หดตัวลดลง ได้แก่ สินค้าในหมวดยานพาหนะ และหมวดเกษตร ในสินค้ายางพารา เป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการเกษตร สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าอยู่ที่ 17.8 พันล้านดอลลาร์ หดตัว -14.2% ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน การผลิตในภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนส.ค. 2557 พบว่าสามารถขยายตัวได้ที่ 2.1% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.5% ตามการลดลงของผลผลิตข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 สอดคล้องกับผลผลิตมันสำปะหลังที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวโพด ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ซึ่งยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. อยู่ที่ระดับ 88.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับหลายพื้นที่ของประเทศเกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนส.ค. 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.08 ล้านคน หรือหดตัว -11.9% ต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แล้ว พบว่าขยายตัวได้ที่ 2.1% ต่อเดือน โดยมีนักท่องเที่ยวกลุ่มแอฟริกาใต้ขยายตัว 23.2% ต่อปีขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มอื่นๆ ยังคงหดตัว เช่น อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และยุโรป ที่หดตัว -21.6% -10.8% และ -3.3% ต่อปีตามลำดับ Tags : บริโภค • ลงทุน • ส่งออก • เศรษฐกิจ • ภาวะเศรษฐกิจไทย • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง