"โบรกเกอร์" แข่งหั่นราคาคอมมิชชั่นดุ ด้าน "ก.ล.ต." มองมาตรการคุมหุ้นร้อนเหมาะสม เดินหน้าเพิ่มผู้ตรวจสอบบัญชี การแข่งขันของบริษัทหลักทรัพย์ในการแย่งชิงลูกค้ารายใหญ่มีความรุนแรงมากตามภาวการณ์ตลาดหุ้นที่มีความร้อนแรงมากกว่าปกติ ทำให้บางบริษัทหลักทรัพย์ปรับราคาค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือค่าคอมมิชั่นลง นายจักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้าที่มียอดการซื้อขาย หรือยอดเทรดที่ 1 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียมแค่ 200 บาท เท่านั้น "ในอุตสาหกรรมตอนนี้ มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะการช่วงชิงลูกค้ารายใหญ่ เหตุผลหนึ่งเพราะว่า ลูกค้ารายใหญ่ มีมูลค่าการซื้อขายที่สูง 50% ของมูลค่าการซื้อขายนักลงทุนรายบุคคลมาจากนักลงทุนรายใหญ่" นายจักรกริช กล่าวว่า ทิศทางดังกล่าวเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี โดยบริษัทได้เห็นการปรับลดค่าคอมมิชชั่น มาอยู่ที่ยอดการซื้อขายหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท เสียค่าคอมมิชชั่น 500 บาท แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 200 บาท และหลายโบรกเกอร์มีการพัฒนาห้องค้าหลักทรัพย์ของนักลงทุนรายใหญ่ โดยเสิร์ฟอาหารระดับพรีเมียม ห้องเทรดวีไอพี มีการตกแต่งเหมือนโรงแรม 5 ดาว ในขณะที่ค่าคอมมิชชั่นของบริษัท สำหรับนักลงทุนรายใหญ่อยู่ที่ 0.08% ใกล้เคียงอุตสาหกรรม ส่วนค่าคอมมิชชั่นลูกค้าทั่วไปอยู่ที่ 0.18% โดยบริษัทจะไม่ลงไปแข่งในการปรับลดค่าคอมมิชชั่น แต่จะเน้นให้บริการด้านข้อมูลที่มีความแม่นยำมากขึ้น รวมถึงการปรับห้องเทรดของบริษัทให้มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น "เราไม่ต้องการให้มองกลุ่มสามเอเข้ามาป่วนตลาด เพราะภาพตอนนี้ทุกคนเข้ามาแข่งขันทั้งหมด ซึ่งบริษัทจะไม่ลงไปแข่งค่าคอมมิชชั่น เพราะมองไม่เห็นความคุ้มค่า เพราะต้นทุนไม่ได้ปรับลดไปตามราคาที่ลงไปด้วย" นอกจากนี้เราจะไปขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยจะจัดกิจกรรมสัมมนา และเข้าไปให้ความรู้กับกลุ่มนักศึกษาทั้งในและต่างจังหวัด โดยบริษัทหวังว่าจะเพิ่มจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่ในปี 2558 ให้เพิ่มขึ้น 1,000 บัญชี ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 3.7% อยู่ในอันดับที่ 7 ของอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทจะคงส่วนแบ่งให้อยู่ในระดับดังกล่าว ปัจจุบัน บล.เออีซี มีจำนวน 13 สาขา โดยจะเพิ่มเป็น 15 สาขาในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่การตลาด 260 คน โดยล่าสุดบริษัทได้เพิ่มจำนวนมาร์เก็ตติ้งเข้ามาในไตรมาส 3 อีก 30 คน ถือว่าเพียงพอหลังจากนี้บริษัทจะไม่มีการเพิ่มจำนวนบุคลากร เพราะมองว่ามีความเพียงอยู่แล้ว ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรงที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ จะออกมาตรการมาเพิ่มเติม และการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น เป็นเรื่องดีที่บริษัทหลักทรัพย์ จะมีการดูแลความเสี่ยงกันเอง "ในส่วนของ ก.ล.ต. มองว่ามาตรการในการดูแลหุ้นร้อนแรงเพียงพอแล้ว และตลาดหลักทรัพย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด มีการสอบถามบริษัทจดทะเบียนที่มีราคาเคลื่อนไหวร้อนแรงกว่าปกติ" นายวรพล กล่าว ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมกับสภาผู้ตรวจสอบบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับบริษัทจดทะเบียน ที่จะมากขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีผู้ตรวจสอบบัญชี ที่สามารถตรวจสอบงบการเงินในตลาดหลักหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอทั้งสิ้น 145 ราย โดยก.ล.ต. ต้องการเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีให้ได้ 50 คนในเวลา 1 ปี โดยก.ล.ต. จะนำผู้สอบบัญชี ที่อยู่ในเครือข่ายและมีศักยภาพเพียงพอประมาณ 1,100 คนเข้ามาดำเนินการพัฒนา เบื้องต้นเราจะจัดการอบรมเพียงยกระดับผู้ตรวจสอบบัญชีร่วมกับสภาผู้ตรวจสอบบัญชีโดยจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะมีการปรับลดข้อกำหนดผู้ตรวจสอบบัญชีในกระดานหุ้นเอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะจัดตั้งขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยปรับลดให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ให้ผู้จัดการหรือผู้ควบคุมงานสอบบัญชี เข้าดำเนินการได้โดยต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 7 ปี มีประสบการณ์การเซ็นอนุมัติงบบริษัทจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยกระดานหุ้นเอสเอ็มอี จะเป็นตัวช่วยหนึ่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี มีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น และพัฒนายกระดับขึ้นไปตรวจสอบบัญชีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอในอนาคต ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ เข้าทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่า จะมีการออกประกาศในเร็วนี้โดยปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติหลายราย ให้ความสนใจเข้ามาจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาพูดคุยรวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างชาติให้ความสนใจเช่นกัน Tags : จักรกริช เจริญเมธาชัย • บล.เออีซี • โบรกเกอร์ • ก.ล.ต. • คอมมิชชั่น