แบงก์กรุงเทพมั่นใจเศรษฐกิจเวียดนามฟื้น มอง 3-5 ปีข้างหน้า "จีดีพี" กลับมาโต 6-7% นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไปสาขาประเทศเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเวียดนามว่าในปีนี้ภาพรวมธุรกิจในเวียดนามได้ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ทางการเวียดนามได้มีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และลดอัตราเงินเฟ้อจากที่เคยสูงถึง 20% ลงมาเหลือ 1.7% และดูแลค่าเงินด่องให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีค่าความผันผวนแค่ 1% เท่านั้นขณะเดียวกันได้แก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินด้วยการแยกหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลออกมาไว้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี ทำให้เอ็นพีแอลในระบบปรับลดลงเหลือ 4% จากที่เคยสูงถึง 7-8% ในปี 2555 ขณะเดียวกันได้ลดความร้อนแรงในการให้สินเชื่อจากที่เคยเติบโตถึงปีละ 50% ในช่วงปี 2550-2552 ในปีนี้ทางการเวียดนามได้คาดการณ์การขยายตัวของสินเชื่อไว้ที่ระดับ 12% แต่ผ่านมาจนถึงขณะนี้สินเชื่อทั้งระบบเติบโตได้เพียง 4% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ ในส่วนของธนาคารกรุงเทพได้ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อในเวียดนามปีนี้ที่ระดับสูงกว่า 10% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 5-6% ซึ่งในภาพรวมก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เป็นการปล่อยสินเชื่อจากภายนอกประเทศเป็นหลัก เช่นสาขาในไต้หวันหรือฮ่องกง ส่วนสินเชื่อที่ปล่อยในประเทศเวียดนามยังทรงตัว เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเงินด่องและค่าเงินดอลลาร์อยู่ในระดับสูง ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการกู้เงินเป็นดอลลาร์เพื่อต้นทุนที่ถูกว่า แต่ก่อนหน้านี้ทางการเวียดนามยังควบคุมการขยายสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการกู้เงินจากต่างประเทศ สำหรับเอ็นพีแอลของธนาคารกรุงเทพในเวียดนามยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2% แต่มีระดับการตั้งสำรองสูงมาก รองรับการเป็นเอ็นพีแอลได้ถึง 7% ขณะที่รายได้กว่า 80% มาจากรายได้จากดอกเบี้ยที่เหลือเป็นรายได้ค่าธรรมเนียม เขากล่าวว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนาม คาดว่าจะทำให้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้ากเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมาและส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ที่ระดับ 6-7% ได้ หากความขัดแย้งกับจีนไม่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจรวมถึงระบบธนาคารพาณิชย์ด้วย อย่างไรก็ตามเวียดนามยังถือเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าประเทศไทยถึง 50% โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนหลังมีความขัดแย้งในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนหมู่เกาะเซนกากุ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามและญี่ปุ่นมีความสนิทสนมกัน จากการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนามในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในเวียดนาม นอกจากสิทธิพิเศษทางภาษีกับยุโรป แล้ว เวียดนามยังอยู่ระหว่างการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) กับ 12 ประเทศสมาชิกซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตเพื่อส่งออกไปในประเทศเหล่านั้นให้มีต้นทุนถูกลง เนื่องจากไม่มีภาษีการส่งออก ถือเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศอีกช่องทางหนึ่ง เขายังกล่าวอีกว่า เวียดนามยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีก โดยประชากรเวียดนามที่มีกว่า 90 ล้านคน อยู่ในวัยหนุ่มสาว แม้จะยังประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ แต่ในอนาคตจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมหาศาล โดยในขณะนี้ชนชั้นกลางในเวียดนามมีอยู่เพียง7 ล้านคน แต่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 ล้านคน ถือเป็นกำลังซื้อสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้ในอนาคต “ลูกค้าของธนาคารที่เข้าไปทำธุรกิจในเวียดนามเป็นลูกค้าจากไทย 40% อีก 30-40% เป็นลูกค้าจากอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกงและจีน ที่เหลือเป็นลูกค้าในประเทศเวียดนามเอง แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่มีเงินทุน ถ้าเป็นเอสเอ็มอีจะเหนื่อยหน่อย ต้องมั่นใจว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ดี เพราะต้องเข้าไปแข่งกับเอสเอ็มอีจากไต้หวัน หรือเอสเอ็มอีเวียดนามเอง ดังนั้นต้องหาตลาดให้ได้ก่อน เมื่อดีแล้วค่อยไปตั้งโรงงาน ที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีไทยเข้ามาทุกวัน ซึ่งการให้สินเชื่อของธนาคารก็ยังเน้นลูกค้ารายใหญ่ เพราะเอสเอ็มอียังอันตรายในเรื่องของความโปร่งใส เราจึงเน้นแต่ซัพพลายเชนของลูกค้าเท่านั้น” Tags : ธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ • ธนาคารกรุงเทพ • บัวหลวง • เวียดนาม