แบงก์ชาติ เชิญ ส.อ.ท. ชี้แจงการทำ ซอฟท์โลน ช่วยเอสเอ็มอี ลั่นแก้ปัญหาไม่ตรงจุด-ขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท.ปี 51 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้เชิญผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) มาหารือเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอที่ ส.อ.ท.ขอให้ ธปท. ออกโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง โดย ธปท. ได้ชี้แจงว่า การทำซอฟท์โลน นอกจากไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท. ปี 2551 ก็ไม่อนุญาตให้ทำด้วย เพราะถือว่าเป็นการผิดต่อหลักวินัยการเงินที่ดี “เราได้เชิญเขามาชี้แจง และตั้งใจว่าจะทำหนังสือตอบกลับไปอย่างเป็นทางการ ไม่รู้ว่าหนังสือออกไปหรือยัง แต่อย่างน้อยก็ได้ชี้แจงทางวาจาแล้ว โดยเป็นการพบกันซึ่งหน้าก็ได้อธิบายไป”นายประสารกล่าว สาเหตุที่มองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเพราะ เท่าที่ ธปท. สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ ไม่มีรายใดที่ระบุว่า ต้นทุนดอกเบี้ยแพง และที่ผ่านมา ธปท. ก็ได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยดูแลลูกค้าเหล่านี้อยู่แล้วด้วย นายประสาร กล่าวว่า การช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา มีตั้งแต่การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งอนุญาตให้ลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้ในปีนี้ด้วย บางรายก็ใช้วิธีลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการในด้านต่างๆ ลงมา “ที่ผ่านมาเราได้ติดต่อทุกธนาคารให้ช่วยดูแลลูกค้าของเขา ซึ่งธนาคารเขาก็ทำจริงจัง เขามีการออกแพ็คเกจช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนชำระหนี้ พักการชำระหนี้ ตลอดจนลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการลง” นายประสารกล่าว นายประสาร กล่าวด้วยว่า การออกมาตรการซอฟท์โลนนั้น นอกจากจะขัดต่อพ.ร.บ.ธปท.ปี 2551 แล้ว ยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีด้วย เพราะการออกสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษกว่าราคาตลาด เท่ากับว่าต้องมีคนจ่ายส่วนต่างตรงนั้น ซึ่งจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยดีนัก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ธปท.คงไม่สามารถทำซอฟท์โลนได้ เพราะติดในเรื่องของกฎหมาย ดังนั้นแนวทางในการช่วยเหลืออื่นๆ นอกเหนือจากนั้น ก็คงต้องใช้กลไกของธนาคารพาณิชย์เฉพาะกิจ (เอสเอฟไอ) เข้ามาช่วย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ใช้เอสเอฟไอในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้มาตลอด “แนวทางอื่นก็ต้องให้แบงก์รัฐช่วย โดยให้สินเชื่อในอัตราที่ผ่อนปรน ถ้าเขาขาดทุนหรือเข้าเนื้อ รัฐก็ต้องชดเชยให้ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำแบบนี้มาตลอด อย่างเอสเอ็มอีแบงก์ที่ผ่านมาเราก็ทำมาตลอด อย่างกรณีน้ำท่วม เราก็มีการตั้งโครงการไว้ว่า ให้คิดดอกเบี้ยไม่เกินเท่านี้นะ ส่วนต่าง เราก็ช่วยออกให้”นายกฤษฎากล่าว นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การให้ซอฟท์โลนเป็นนโยบายจากรัฐบาล จะใช้เมื่อเกิดผลกระทบที่รุนแรง ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบในวงกว้าง และสามารถระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างชัดเจน เช่น ช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ธปท. ได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีตามความเหมาะสม เช่น การปรับลดค่าธรรมเนียมบางรายการ การปรับยืดเวลาการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยออกไประยะหนึ่งเพื่อให้ลูกหนี้ปรับตัวได้ หรือการให้ความช่วยเหลือในลักษณะการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมชั่วคราว สำหรับการให้ความช่วยเหลืออื่นเพิ่มเติม ธปท. คงต้องหารือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์ระดับความรุนแรงและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป Tags : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ธปท. • ส.อ.ท. • ซอฟท์โลน