ทุนนอกจ่อทิ้ง'หุ้น-บอนด์'กังวลเฟดขึ้น'ดอกเบี้ย'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 29 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    วงการตลาด"บอนด์-หุ้น"ยอมรับทุนต่างชาติจ่อไหลออกระยะสั้น หลังเฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น

    โบรกเกอร์ลุ้นการเติบโตกำไรบริษัทจดทะเบียนโดดเด่น ช่วยดึงเม็ดเงินกลับตลาดหุ้นไทยได้

    ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) รอบล่าสุด (16-17 ก.ย.57) นั้น ยังเป็นไปตามที่ตลาดโลกคาดการณ์ โดยเฟดยังคงลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ลงเหลือ 15,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน จาก 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในการประชุมครั้งก่อน และเป็นการปรับลดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนม.ค.57 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตราสารหนี้เดิมที่ลงทุนอยู่ถ้าครบกำหนดแล้วได้เงินคืนกลับมา ก็ให้ลงทุนกลับไปใหม่ทั้งจำนวน นั่นจะทำให้งบดุลของเฟดยังคงโตขึ้น แต่โตในอัตราที่ช้าลงมาก

    พร้อมส่งสัญญาณชัดเจนว่า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นต่อเนื่อง จะเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งหน้า (28-29 ต.ค. 57) แต่ยังจะคงรักษาดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ 0.00-0.25% ต่อไป และรักษาระดับดอกเบี้ยต่ำนี้ไปอีกระยะหนึ่ง แม้วจะเลิกมาตรการคิวอีแล้ว

    นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มองว่า ภาพของปัจจัยภายนอกในต่างประเทศ เริ่มนิ่งขึ้นในส่วนของการยุติคิวอี ถือว่าตลาดรับรู้ไปหมดแล้ว และไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก

    ระยะหลังปัจจัยบวกที่สำคัญต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดตราสารหนี้ มาจากการที่เฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันตลาดยังมองว่า การขึ้นดอกเบี้ย จะเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2558 เป็นต้นไป และจากนี้ไปยังเป็นปัจจัยบวกหนุนให้มีเงินทุนเข้ามาลงทุนใน "ตราสารหนี้ระยะยาว" ในไทยต่อเนื่อง

    3ปีต่างชาติลงทุนบอนด์1.5แสนล้าน

    ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลดีต่อเสถียรภาพด้านเครดิตของประเทศ ดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวระดับต่ำ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของไทยและสหรัฐที่ต่างกัน 1.0% ยังดึงดูดเงินลงทุนระยะยาวให้ไหลเข้ามาต่อเนื่อง

    "หากมองเงินทุนต่างชาติส่วนที่เป็นเงินทุนระยะยาว ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีขนาด 150,000 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดสะสม 660,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้มุ่งลงทุนตราสารหนี้ระยะยาว ดังนั้นโอกาสจะขายออกไปเร็วๆ มีน้อยกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น"

    ส่วนความกังวลของตลาด ต่อการชะลอมาตรการคิวอี เริ่มมาตั้งแต่เฟดส่งสัญญาณลดมาตรการคิวอี ช่วงเดือนพ.ค. ปี 2556 โดยช่วงนั้น ทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นทั่วโลกต่อเนื่อง

    มาตรการคิวอียุติช่วยหยุดความผันผวน

    นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2556 ที่เริ่มมีเงินไหลออกของเงินต่างชาติจากเรื่อง QE Tapering ในเดือนพ.ค.56 ถึงปัจจุบัน (ส.ค.57) พบว่า เงินลงทุนสุทธิสะสมของต่างชาติในตราสารหนี้ระยะสั้นค่อนข้างผันผวน โดยนับถึงปัจจุบันยอดไหลออกสะสมไปแล้ว 179,910 ล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนสะสมในตราสารหนี้ระยะยาว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเริ่มกลับมาเป็นบวกอีก ซึ่งช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มียอดไหลเข้าสะสมถึงปัจจุบัน 50,366 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี

    หากไม่มีอะไรผิดจากที่ตลาดคาดมาตรการคิวอีของเฟดสิ้นสุดลงเดือนต.ค.นี้ ปริมาณเงินในระบบคงลดลง และสภาพคล่องส่วนเกินที่เคยออกมาลงทุนในตลาดต่างๆ เมื่อครบอายุ คงทยอยไหลกลับไปสหรัฐ แต่หลังจากมาตรการสิ้นสุด ความผันผวนจะลดลง การที่เฟดยังคงดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยหนุนให้เงินไหลเข้าลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวต่อ

    ส่วนการคาดว่ายุโรปจะมีมาตรการอัดฉีดเงิน ไม่ส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชียมากเหมือนสหรัฐ เพราะเงินอัดฉีดมีเงื่อนไขชัดเจน ทำให้เงินยังอยู่ในระบบการเงินยุโรปมากกว่า

    เชื่อหยุดคิวอีไม่ช็อคตลาด

    เช่นเดียวกับ นางสาวศิริพรรณ สุทธาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชัดเจน แม้ตัวเลขการจ้างงานเดือนส.ค.ต่ำกว่าที่คาด สิ่งที่ทุกคนจับตามองคือการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 16-17 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเฟดคงแนวทางการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดคาดหากขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นช่วงกลางปี 2558

    ส่วนการยุติมาตรการคิวอี ถือว่า ตลาดรับรู้มาตามลำดับ และหลังจากยุติมาตรการคิวอี เฟดไม่ได้ดึงเงินออกจากระบบ ดังนั้นไม่น่าจะทำให้เกิดช็อกในตลาดตราสารหนี้

    ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป การเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในภาคพื้นยุโรป รวมถึงเงินเฟ้อที่ห่างจากเป้าจนกังลวจะเกิดปัญหาเงินฝืดขึ้นในระบบ

    ล่าสุดธนาคารยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.10% มาอยู่ที่ 0.05% พร้อมใช้มาตรการผ่อนคลายอื่นๆ เช่น ลดดอกเบี้ยเงินฝากจนติดลบ 0.2% การเพิ่มสภาพคล่องโดยการทำ “Long Term Refinancing Operation : LTRO” แบบเฉพาะเจาะจง 1 ล้านล้านยูโร ใน 4 ปี เริ่มปีหน้า และพิจารณาอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อตราสารที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง

    ทั้งหมดนี้ธนาคารกลางยุโรป มุ่งหวังว่าเงินดังกล่าว จะถูกนำไปปล่อยกู้ และจะทำให้เม็ดเงินเข้าระบบมากขึ้น และนำไปสู่การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป ต้องการขยายงบดุล 1 ล้านล้านยูโร โดยทำผ่านมาตรการที่เรียกว่า Private QE โดยเป็นการซื้อสินทรัพย์ เช่น ABS เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดนั้น

    การอัดฉีดสภาพคล่องของยุโรป ต่างกันกับสหรัฐค่อนข้างมาก และมีเงื่อนไขการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปชัดเจน โอกาสสภาพคล่องของยุโรป จะไหลออกมาหาผลตอบแทนในต่างประเทศ เช่นเดียวกับคิวอีของสหรัฐเกิดขึ้นน้อยมาก และไม่น่าส่งผลกระทบต่อกระแสเงินลงทุนในโลก

    การยุติมาตรการคิวอีของสหรัฐ ภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบเงินลงทุนระยะยาว ที่ยังได้ปัจจัยหนุนจากการคงดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐต่อเนื่อง ส่วนนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องของยุโรป พุ่งเป้าเม็ดเงินไหลอยู่ในระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก คงจะไม่ไหลออกมาสู่ตลาดเงินตลาดทุนนอกประเทศ เช่น มาตรการคิวอีของสหรัฐที่ผ่านมา

    คาดเงินต่างชาติจ่อไหลออก

    ด้านนางสาววิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมนักวางแผนการเงิน กล่าวว่า แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนนักลงทุนต่างประเทศ เชื่อจะไหลออกจากตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นทั่วโลก ไปสู่สหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย ยอมรับจะทำให้ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน

    "ประเมินว่าการไหลออกครั้งนี้ ไม่น่ากังวลสำหรับตลาดหุ้นไทย เพราะไม่ใช่การไหลกลับจากการเกิดปัจจัยลบภายในประเทศ" นางสาววิวรรณ กล่าว

    ทั้งนี้ประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเม็ดเงินต่างชาติ จะเป็นไปในลักษณะการโยกการลงทุนมากกว่าการลดน้ำหนักการลงทุน และเชื่อตลาดหุ้นไทย ยังมีโอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศกลับมาได้ จากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจ

    โอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติกลับมาของแต่ละภูมิภาคจะไม่เท่ากัน หากพิจารณาตลาดหุ้นในแถบยุโรป จะเห็นว่า ยังมีปัญหาทั้งยุโรปกลางและยุโรปชายขอบ เช่นเดียวกับในละตินอเมริกา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นในต่างประเทศอื่นๆ ยังมีปัญหาเรื่องการเมืองอยู่อีกมาก ซึ่งจะทำให้โอกาสที่เงินต่างชาติจะเข้าไปลงทุนมีน้อย

    ตลาดหุ้นเอเชียยังมีเสน่ห์

    ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียเหนือ ซึ่งมีตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลาง พบว่า ยังคงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่เช่นกัน ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับการพิจารณามากกว่าภูมิภาคอื่น

    "ปัจจัยที่จะทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้ามา ก็คือการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนของไทยเองก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปี 2558 ส่วนราคาหุ้นของตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่นับว่าถูกแล้ว แต่หากดัชนีย่อลงมาหลังจากที่เม็ดเงินต่างชาติไหลออกไปตลาดสหรัฐ ก็จะทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจมากขึ้น"นางสาววิวรรณ กล่าว

    นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนของไทย ยังมีสัญญาณบวกเพิ่มจากการลงทุนสินทรัพย์ถาวรที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความสามารถในการเติบโตของกำไรในระยะยาว

    ต่างชาติโชว์ซื้อสุทธิเกือบ4หมื่นล้าน

    ส่วนข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า 3 เดือนก่อนหหน้านี้ (ก.ค.-ก.ย.) นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยเดือนก.ย. (ณ วันที่ 25ก.ย.) ซื้อสุทธิ 23,409 ล้านบาท เดือนส.ค.ซื้อสุทธิ 2,398 ล้านบาท และเดือนก.ค. ซื้อสุทธิ 13,765 ล้านบาท รวมซื้อสุทธิ 3 เดือน

    ส่วนการซื้อขายของต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีนี้ พบว่า ซื้อและขายสุทธิสลับกัน โดยเดือนม.ค. ต่างประเทศขายสุทธิ 13,665 ล้านบาท ต่อเนื่องเดือนก.พ. ขายสุทธิ 21,376 ล้านบาท ส่วนเดือนมี.ค. ซื้อสุทธิ 14,253 ล้านบาท เดือนเม.ย. ซื้อสุทธิ 15,872 ล้านบาท ส่วนเดือนพ.ค. กลับมาขายสุทธิ 35,760 ล้านบาท และเดือนมิ.ย.ขายสุทิ 357 ล้านบาท

    กำไรบจ.ยังดึงดูดทุนนอกทยอยไหลออก

    ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2552 ตอนนั้นพีอีอยู่ที่ 10 เท่า จนถึงไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งมีพีอี 16 เท่า จากนั้นมีการซื้อสลับขายต่อเนื่อง โดยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดหุ้นไทย แต่ไม่มากนัก เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกเรื่องการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน

    "กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะได้ขายออกไปพอสมควรแล้ว ปัจจุบันสัดส่วนต่างชาติที่ถือหุ้นโดยตรงลดลงมาอยู่ที่ 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 28% และการถือผ่าน NVDR อยู่ที่ 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8% โดยกลุ่มที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาว

    Tags : ทุนนอก • เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม • ตลาดหุ้นไทย • ธนาคารกลางสหรัฐ • ตลาดหุ้นจีน • ศิริพรรณ สุทธาโรจน์ • ตลาดโลก

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้