ลุยแผนขนส่ง8.7แสนล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 28 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ไฟเขียวยุทธศาสตร์คมนาคม10ปี-ลงทุน6.6หมื่นล้านใน2ปีแรก ลุยแผนขนส่ง8.7แสนล้าน

    คมนาคมเห็นชอบยุทธศาสตร์คมนาคม 10 ปี งบ 8.7 แสนล้านบาท ลงทุนระยะ 2 ปี 6.6 หมื่นล้าน เน้นเชื่อม "ถนน-ระบบราง" โยงเมืองใหญ่ หวัง "ลดต้นทุน-ปริมาณรถส่วนตัว" พร้อมเร่ง รฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้า 6 เส้นทาง ขณะเดียวกันสั่งปรับปรุงบริการรถสาธารณะ เร่งจัดหารถเมล์เอ็นจีวีภายในต้นปีหน้า

    กระทรวงคมนาคมเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ และเร่งโครงการรถไฟฟ้า 6 เส้นทางในกรุงเทพฯ พร้อมพัฒนาบริการรถสาธารณะ โดยเร่งจัดหารถโดยสารเอ็นจีวี และเห็นชอบขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

    พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช็อป) ระบบขนส่งทางบกของกระทรวงคมนาคม เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ว่า ได้เห็นชอบงบประมาณในการพัฒนาระบบขนส่งทางบกตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศระยะ 10 ปี ระหว่างปี 2559-2568 จำนวนกว่า 8.7 แสนล้านบาท

    "จะจัดสรรในปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 จำนวน 6.6 หมื่นล้านบาทก่อน ส่วนปีงบประมาณ 2557 อยู่ระหว่างการประเมินวงเงินจากโครงการที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย" รัฐมนตรีคมนาคม ระบุ

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า งบประมาณในการลงทุนระบบขนส่งทางบกระยะเวลา 10 ปี จำนวน 8.7 แสนล้านบาทนี้ เป็นเพียงเงินงบประมาณเท่านั้น ยังไม่รวมการกู้เงิน การออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งการลงทุนเน้นการเชื่อมโยงในประเทศระหว่างกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ และชนบท ด้วยทางหลวง ทางหลวงชนบท ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง

    สำหรับตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาระบบขนส่งทางบก ได้แก่ 1.ลดต้นทุนโลจิสติกส์จาก 15.2% ต่อจีดีพี เหลือ13% ต่อจีดีพี 2.ลดสัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลจาก 59% เหลือ 40% ด้วยการพัฒนาระบบรถขนส่งสาธารณะให้คุณภาพและบริการที่ดีขึ้น

    3.ลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองภูมิภาค ด้วยการสร้างทางรถไฟขนาดรางมิเตอร์เกจ ความกว้าง 1 เมตร เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีการเดินทางจากรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นการโดยสารรถไฟ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนเพิ่มเติมด้วย

    4.เพิ่มความเร็วเฉลี่ยรถไฟในการขนส่งสินค้าจาก 39-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 55-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพิ่มความเร็วเฉลี่ยในการขนส่งผู้โดยสารจาก 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการซ่อมบำรุงทางรถไฟรางแบบมิเตอร์เกจ ขนาดความกว้างราง 1 เมตรให้มีความแข็งแรง

    5.เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก 2.5% เป็น 5% ด้วยการทำให้เวลาในการขนถ่ายสินค้าทางรางลดลง 6.เพิ่มปริมาณผู้โดยสารทางรถไฟให้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 75 ล้านคนต่อปี และ 7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยจะมีการจัดทำดัชนีชี้วัดการใช้เชื้อเพลิงในการเดินด้วยรถยนต์สาธารณะ รถไฟ และรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์)

    เร่งรถไฟฟ้า6เส้นทางในกทม.

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 6 เส้นทางตามแผนแม่บทของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น จะต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์แก่ 3 ส่วน คือ ประชาชน รฟม. และผู้ประกอบการ แต่ต้องการให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ทั้งด้านความสะดวกและความปลอดภัย รวมถึงต้องมีการออกแบบให้รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และคนพิการด้วย

    โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กิโลเมตร 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทางรวม 25 กิโลเมตร 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร 5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร และ 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร

    นอกจากนี้ รฟม.จะต้องหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องแผนการใช้พื้นที่ร่วมกันในการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ และต้องจัดทำแผนงานร่วมกันเพื่อให้โครงการก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีแนวทางการพัฒนาในภาพรวมที่ชัดเจน หลังจากปัจจุบันมีหลายโครงการที่ติดปัญหาการเวนคืนพื้นที่หรือพื้นที่ทับซ้อน

    บีเอ็มซีแอลยอมตรึงค่าโดยสารถึงสิ้นปี

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมว่า ยินดีจะขยายเวลาการตรึงราคารถไฟฟ้าใต้ดินในอัตรา 16-40 บาท ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ออกไปถึงวันที่ 31 ธ.ค.2557 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงวันที่ 1 ม.ค. 2558 บีเอ็มซีแอลจะปรับราคาค่าโดยสารขึ้น 1-2 บาทตามสัญญาสัมปทาน

    ท่าทีดังกล่าวเป็นผลมาจากก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ส่ง รฟม.ไปเจรจากับ บีเอ็มซีแอล เพื่อขอให้ขยายเวลาการตรึงอัตราค่าโดยสารออกไป

    ทั้งนี้ ทางกระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับฝ่ายกฎหมายก่อนว่าต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบหรือไม่ เพราะการตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินครั้งที่แล้ว ระหว่างวันที่ 3 ก.ค.- 2 ต.ค. ต้องผ่านความเห็นชอบของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)

    "บีเอ็มซีแอลจะขยายเวลาการตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในอัตรา 16-40 บาท ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จากนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 ม.ค.2558 ก็จะปรับค่าโดยสารขึ้น 1-2 บาท ตามสัญญาสัมปทาน เป็นอัตรา 16-42 บาท โดยอัตราค่าโดยสารใหม่คำนวณจากดัชนีชีวัดเรื่องค่าครองชีพซึ่งมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย"

    ไฟเขียวปรับราคาโดยสารแท็กซี่

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ว่า มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นราคาให้แน่นอน โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ดัชนีชี้วัดเรื่องค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการ 2.ต้นทุนราคาพลังงาน แต่ขณะนี้ต้องรอความชัดเจนของกระทรวงพลังงานเรื่องนโยบายการปรับขึ้นราคาพลังงานภายในต้นเดือน ต.ค. นี้ก่อน จึงจะสามารถสรุปได้ว่าจะปรับค่าโดยสารขึ้นเท่าใดและเมื่อใด เพราะต้องการพิจารณาปรับราคาครั้งเดียวอย่างรอบด้าน

    "จากการศึกษาต้นทุนค่าโดยสารรถแท็กซี่ ก็มีผลว่าจะปรับขึ้นราคาให้อย่างแน่นอน ส่วนจะปรับขึ้นเท่าใดนั้นต้องขอดูประเด็นเรื่องพลังงานประกอบกับดัชนีเรื่องค่าครองชีพก่อนจึงจะได้ข้อสรุป เพราะจะทำให้เหตุผลในการปรับขึ้นราคามีน้ำหนักและประชาชนเข้าใจได้ แต่พบว่าเฉพาะดัชนีผู้บริโภคก็มีผลทำให้ต้นทุนรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นระหว่าง 8-11% โดยไม่นับปัจจัยด้านพลังงาน"

    คาดรู้ผลต้นปรับค่าโดยสาร5ต.ค.

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมจะประสานกระทรวงพลังงานให้ได้ข้อสรุปข้อมูลเรื่องการปรับขึ้นราคาพลังงานภายในวัน 5 ต.ค. นี้ หลังจากนั้นกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะว่าจ้างเอกชนเพื่อตรวจสอบและปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการของแท็กซี่จำนวน 1.11 แสนคันทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งด้านสภาพรถ ความสะอาด และการให้บริการ หากแท็กซี่คันใดผ่านมาตรฐานก็จะได้ปรับราคาโดยสารใหม่หลังจากนั้น 30 วัน โดยจะมีการติดสติ๊กเกอร์แสดงสัญลักษณ์ แต่หากแท็กซี่คันใดไม่ผ่านมาตรฐานก็จะไม่ได้ปรับขึ้นราคา และมีโอกาสถูกถอนใบอนุญาต

    นอกจากนี้ จะทำสัตยาบันกับผู้ประกอบการให้เช่ารถแท็กซี่เพื่อดูแลผู้ขับรถแท็กซี่ ทั้งเรื่องสภาพและอายุการใช้งานของรถไม่ให้เกิน 9 ปี และไม่เก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ กับคนขับรถแท็กซี่เพิ่มขึ้น

    ทั้งนี้ ราคาแท็กซี่ใหม่ยังคงอัตราเริ่มต้นที่ 35 บาท แต่จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารขณะที่รถติดและปรับขึ้นตามระยะทาง โดยจะแบ่งอัตราค่าโดยสารแต่ละช่วงให้สั้นลง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำตัวเลขค่าโดยสารในอัตราใหม่อยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอย่างต่ำ 300 บาท/วัน จากปัจจุบันที่มีรายได้ประมาณ 200-280 บาทต่อวันเท่านั้น

    นอกจากนี้ จะออกโครงการให้รถแท็กซี่จำนวน 3 หมื่นคันที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เป็นเชื้อเพลิง เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) แทน เพราะมีความปลอดภัยมากกว่า และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมจะอำนวยความสะดวกด้วยการหาสถานีบริการเอ็นจีวีรอบนอกกรุงเทพฯให้

    รถเมล์เอ็นจีวีส่งม็อบล็อตแรกต้นปีหน้า

    ส่วนโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,138 คันนั้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้จัดทำร่างประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมประมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค. นี้ หลังจากนั้นจะมีการจัดซื้อจัดจ้างและรับมอบรถล็อตแรกภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2558 จำนวน 489 คัน

    "รถล็อตนี้จะเป็นรถชานต่ำทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ หลังจากนั้นจะทยอยรับมอบจนครบ 3,138 คันในปี 2559"

    เน้นลงทุนพื้นฐาน-ปรับบริการรถสาธารณะ

    ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในการเวิร์คช็อปได้มีการหารือกันใน 2 เรื่อง คือ การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการพัฒนาการให้บริการ โดยในส่วนหลังจะเน้นพัฒนาเรื่องความปลอดภัย

    ในขณะนี้ คสช. ได้จัดระเบียบรถโดยสารต่างๆ และต่อไปก็จะมีการพัฒนามาตรฐานด้านการขนส่งทางบก ทั้งเรื่องการกำกับสภาพตัวรถ กติกาในการขับขี่ บทลงโทษ และจะยึดใบอนุญาตขับขี่จนกว่าผู้ขับขี่จะมีการปรับปรุง

    Tags : คมนาคม • โครงสร้างพื้นฐาน • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • อีโคคาร์ • รถไฟ • ขนส่ง • แสนล้าน • กทม. • แท็กซี่ • เอ็นจีวี • รถสาธารณะ • คสช.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้