ธปท.เตือนเอเชียสกัดเงินร้อน งัดมาตรการคุมทุนเคลื่อนย้าย แบงก์ชาติหนุนตลาดเกิดใหม่ย่านเอเชียงัดมาตรการดูแลภาคการเงินแบบเฉพาะเจาะจง รับมือทุนเคลื่อนย้ายผันผวนหลังสหรัฐ-อังกฤษขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า ในงานประชุมผู้นำสถาบันการเงินการบริหารจัดการสินทรัพย์ภาครัฐครั้งที่ 2 ซึ่งมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บบส.) เป็นเจ้าภาพ วานนี้ (26 ก.ย.) นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในหัวข้อ ”แนวโน้มตลาดการบริหารสินทรัพย์ทั่วโลกปี 2558 จะใช้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร” เป็นการเตือนตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมไทย ให้รับมือกับภาวะเงินทุนผันผวนไหลเข้าตลาดมากขึ้น เพราะสหรัฐและอังกฤษมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า “ในปีหน้าดอกเบี้ยในสหรัฐและอังกฤษมีแนวโน้มปรับขึ้นแน่นอน ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกับธนาคารกลางยุโรปก็ยังคงขยายงบบัญชีหรืออัดฉีดเงินหรือสภาพคล่องเข้าระบบ สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางเหล่านี้ดำเนินนโยบายที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเงินทุนทั่วโลก” จากสถิติช่วงปี 2551-2556 เม็ดเงินทั่วซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ศูนย์ของธนาคารกลางประเทศสำคัญทั่วโลก ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมากกว่าภูมิภาคอื่น และการไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้ มีความอ่อนไหวมากกว่าเม็ดเงินมาจากการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) มาก ทั้งนี้กระแสทุนที่มีความอ่อนไหว เมื่อไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ย่อมส่งผลกระทบมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ บางประเทศที่มีสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนสูงดึงดูดทุนนอกมาก ก็จะเผชิญความผันผวนของเงินทุนอย่างหนัก นางรุ่งมองว่าภาวะผันผวนของเงินทุนย่อมมีแน่นอน และจะทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดมีการปรับตัว การบริหารจัดการที่ดี เพื่อลดผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นกับตลาดเกิดใหม่ ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเธอคิดว่าต้องใช้นโยบายมหภาคที่ดีพร้อมกับใช้มาตรการใหม่ๆ อย่างการเข้าไปดูแลภาคการเงินแบบเฉพาะเจาะจง(Macro Prudential Policies) รับมือ “ไม่คิดว่าตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยจะหนีพ้นปัญหากระแสเงินทุนผันผวนไปได้ ตราบใดที่ประเทศนั้นๆ ยังมีการค้าการลงทุนอยู่ในตลาดโลก ราคาสินทรัพย์ที่ปรับขึ้นก็เกิดจากสภาพคล่องในตลาดโลก เราต้องมีวิธีจัดการกับสภาพคล่องนี้ให้ถูกต้อง ต้องดูว่าเงินเข้ามาเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจดีหรือไม่ ถ้าพื้นฐานไม่ดีประเทศก็จะเผชิญความอ่อนไหวมากขึ้น” เธอเพิ่มเติมว่านโยบายการเงินของไทย ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเคลื่อนไหวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจ สำหรับค่าเงินบาทก็ปล่อยให้เคลื่อนไหวยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบและเป็นกันชนภาวะตื่นตระหนกจากต่างประเทศ นายจอห์น กินเนน หุ้นส่วนอาวุโสบริษัทเบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกระแสเงินทุนที่ไหลกลับสหรัฐจากแนวโน้มสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าว่า กระแสเงินทุนจากสหรัฐน่าจะเห็นโอกาสการทำกำไรในตลาดสหรัฐมากกว่า หากมีเงินทุนรูปดอลลาร์ออกจากตลาดไทยตอนนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และคิดว่าเงินเหล่านี้ไม่น่าจะไหลกลับเข้าตลาดไทยและอาเซียนมากนัก เขากล่าวตั้งแต่บริษัทเข้ามาให้บริการบริหารสินทรัพย์ตั้งแต่ปี 2550 ช่วงนั้นตลาดไทยดูไม่น่าสนใจพอๆ กับตลาดจีน แต่เวลานั้นบริษัทรู้สึกจริงจังกับการเข้ามาขายหนี้ไม่ก่อเกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ในไทย จนตอนนี้สามารถขายพอร์ตเอ็นพีแอลได้เกือบ 100% มูลค่าผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์น่าพอใจ และเชื่อว่าตลาดบริหารสินทรัพย์ในไทยน่าจะเติบโตดี Tags : ธปท. • เอเชีย