ธปท.หั่นเป้าส่งออกคาดไม่ขยายตัว พร้อมคงเป้าจีดีพีที่ 1.5% ด้าน"ปรีดิยาธร" คาดเศรษฐกิจปีหน้าโตต่ำ 5% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงินเดือนก.ย. หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา โดยได้ประเมินและปรับประมาณการ การขยายส่งออกไม่ขยายตัว แต่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ 1.5% จากการบริโภคในประเทศและการเบิกจ่ายภาครัฐ นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า เดิมคาดการณ์ส่งออกจะขยายตัว 3.0% ล่าสุดปรับลดลงมาเหลือ 0% หรือไม่เติบโต เป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ไม่เป็นไปตามที่คาด รวมไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสินค้าส่งออกของไทย "ส่วนในปี 2558 ปรับขยายตัวส่งออกลดลงเหลือ 4% จากเดิมคาดจะขยายตัว 6% เพราะการเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่นชะลอตัวลง" การส่งออกรถยนต์ของไทยแม้จะทรงตัว แต่ไทยเน้นส่งออกประเภทอีโคคาร์มากขึ้น ทำให้มีมูลค่าลดลง รวมถึงอินโดนีเซียมีการขยายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และเริ่มแข่งขันในการตลาดส่งออก นอกจากนี้เทคโนโลยีการผลิตของไทย มีข้อจำกัดโครงสร้างของสินค้าส่งออก สินค้าเกษตร ราคาข้าวและยางพาราตกต่ำ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะการส่งออกพึ่งพิงสินค้าเกษตรมากกว่าประเทศอื่น ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าคาด นอกจากนี้ไทยยังได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ผลจากหลายประเทศยังคงประกาศเตือนการเดินทางมายังไทยตัวเลขนักท่องเที่ยวยุโรปที่ฟื้นตัวช้ากว่าตามภาวการณ์เศรษฐกิจ และนักท่องเที่ยวรัสเซียมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน ส่งผลให้ประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้เหลือ 25 ล้านคน จากเดิมคาดมี 25.5 ล้านคน และปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวในปี 2558 เหลือ 27 ล้านคน จากเดิม 28.5 ล้านคน ผลดังกล่าวทำให้การส่งออกและบริการปีนี้ปรับตัวติดลบ 0.4% จากเดิมคาดขยายตัว 2.5% แม้การส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัวลงชัดเจน แต่การเติบโตของเศรษฐกิจไทย กนง. มองว่าขยายตัวที่ 1.5% เท่าเดิม โดยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แรงส่งของการลงทุนภาคเอกชนปลายไตรมาส 2 ส่งต่อมายังครึ่งปีหลัง รวมไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐบาล ที่กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แต่ปี 2558 แรงส่งดังกล่าว ยังไม่เพียงพอให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี รวมถึงการส่งออกยังเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ทำให้ กนง. ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2558 เหลือ 4.8% จากเดิม5.5% ทั้งนี้กนง.ยังไม่ได้ใส่ประมาณการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่อาจออกมาในอนาคตรวมอยู่ด้วย ซึ่งกนง.จะขอรอดูโครงการก่อนที่จะปรับเมินอีกครั้ง กนง.จับตานโยบายการเงินกลุ่มศก.หลัก สำหรับปัจจัยที่ กนง.จับตาในระยะต่อไปนั้น คือความแตกต่างของทิศทางการดำเนินงานนโยบายการเงิน และกลุ่มเศรษฐกิจหลัก อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้น รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือน ที่แม้จะชะลอตัวลง แต่ยังมีผลต่อความสามารถกับภาคครัวเรือนในการรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ โดยเกิดจากการใช้จ่ายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคสินค้าไม่คงทน และการลงทุนในภาคการก่อสร้างรวมทั้งรายจ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย การจ้างงานและรายได้นอกภาคการเกษตรเริ่มดีขึ้น ด้านการลงทุนภาคเอกชน มีความเชื่อมั่นมากขึ้น การลงทุนขยายตัวรองรับการบริโภคที่ฟื้นตัว อีกทั้งการอนุมัติการลงทุนจาก บีโอไอ ที่เคลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้าช่วยสนับสนุนแรงส่งในระยะต่อไป ต้นทุนต่ำ-ราคาน้ำมันลงกดเงินเฟ้อลด การลงทุนเพื่อส่งออกบางส่วน ชะลอออกไปตามการส่งออกที่อ่อนตัวกว่าคาด ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐบาลนั้น สูงกว่าที่ประเมินไว้ทั้งปี2557 และ 2558 โดยเม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐลดลงน้อย เพราะการตรวจสอบโครงการภาครัฐบาล แต่ด้วยผลของราคาที่ต่ำกว่าคาดทั้งไตรมาส 2และครึ่งปีหลัง ทำให้แรงกระตุ้นที่แท้จริงสูงกว่าคาด ส่วนปี 2558 เม็ดเงินรายจ่ายสูงขึ้นจากนโยบายเร่งรัดของภาครัฐ และโครงการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นรวมถึงมีเม็ดเงินที่ชะลอมาจากปีก่อน ส่วนประมาณการเงินเฟ้อปรับลดลงจากต้นทุน ทั้งแรงกดดันด้านต้นทุนต่ำลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลงเหลือ 101ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานลงเหลือ 1.6% จากเดิม 1.7 % และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เหลือ 2.2 % จากเดิม 2.6 % ธปท.เสนอรมว.คลังใช้เงินเฟ้อทั่วไป ส่วนนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วานนี้ ว่า ในฐานะประธานกนง. ได้เรียนรมว.คลังพิจารณาเกี่ยวกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธปท. จะใช้กำหนดนโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจในปี 2558เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาอนุมัติภายในสิ้นปีนี้ ธปท.ยังได้เสนอแนวคิดต่อรมว.คลัง ในการนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนการใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันซึ่งรมว.คลังเข้าใจดี โดยเหตุผลของแนวคิดนี้ คือ การใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทำให้ธปท. สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหมายถึง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่รวมกับราคาพลังงานและอาหารสด ซึ่งจะสะท้อนค่าครองชีพประชาชน "เรื่องตัวเลขเงินเฟ้อที่เราเสนอ ตามขั้นตอนแล้ว รมว.คลังจะเป็นผู้พิจารณา ถ้าท่านเห็นด้วยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะรัฐมนตรี" ปัจจุบัน มีไทยเพียงประเทศเดียว ที่ใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อในการกำหนดนโยบายการเงินโดยใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชี้ใช้นโยบายการเงินเข้มต้องผ่อนการคลัง นายประสาร กล่าวด้วยว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนถึงการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจ โดยหลักการ คือหากนโยบายการเงินที่เข้มข้นในการดูแลเศรษฐกิจ การใช้นโยบายการเงินก็ผ่อนลง กลับกันหากใช้นโยบายการเงินเข้มข้น นโยบายการคลังต้องผ่อนคลายลง และโจทก์การดูแลเศรษฐกิจก็มีอยู่มาก แต่ไม่ถึงกับมีอะไรน่ากังวล "ยังมีโอกาสหารือนโยบายการเงิน เรื่องดอกเบี้ย ภาวะอัตราแลกเปลี่ยน การกับสถาบันการเงิน ปัญหาระบบแบงก์รัฐ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องที่ธปท.กำลังทำ และขอให้คลังดูเพิ่มเติม เช่น แผนการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ การส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การเงินรากหญ้า และแผนพัฒนาการเงินของประเทศ แต่ไม่ถึงกับมีมติอะไร เพียงแต่บอกว่า เรามีเรื่องที่ต้องประสานงานกับกระทรวงการคลังมากขึ้น" นายประสาร กล่าว "ปรีดิยาธร"ชี้ศก.ปีหน้าโตต่ำ5% ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "มุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกลุ่มประเทศยุโรป เอเชีย และผลกระทบการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อกลุ่มอาเซียน" ในการประชุมระดับผู้นำด้านสถาบันการเงิน และ การบริหารจัดการสินทรัพย์ของภาครัฐ ครั้งที่ 2 วานนี้ว่า ปัจจุบันเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยจีนเป็นผู้ผลักดันการเติบโต ประชากรที่มีอยู่มากกว่า 1 พันล้านคนเป็นทั้งกำลังการผลิต และกำลังซื้อที่สำคัญ ประเทศในแถบเอเชียได้ประโยชน์จากการเติบโตของจีนมากทั้งการส่งออก ช่วยประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะซอฟท์แลนดิ้ง การเติบโตของเศรษฐกิจอาจไม่สูงเหมือนในอดีต แต่ยังเติบโตได้ 6-7% ส่วนเศรษฐกิจไทย ไม่ได้มีปัญหาถดถอย แม้ปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาอาจกระทบจีดีพีบ้างแต่ยังแข็งแกร่ง เศรษฐกิจในเอเชีย ยังมีโอกาสเติบโตสูงยิ่งมีการรวมเป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้อาเซียนเปรียบเหมือนประเทศอีกประเทศหนึ่ง โดยมีการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยคงไม่เติบโตได้สูง หรือไม่เกิน 5% ได้เหมือนในอดีต แต่คงเห็นการเติบโตแค่ 3-4% ถือว่าเป็นอัตราที่ดีพอสมควร "การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเพิ่มองค์ประกอบการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มเป็นอาเซียน การค้าและการบริโภคภายในอาเซียน จะเติบโตมากขึ้น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว สำหรับปัญหาการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดทุนเป็นเรื่องปกติ เงินไหลเข้าทำให้ตลาดปรับขึ้น แต่ต้องมีการไหลออก ซึ่งอาจไม่เห็นการเติบโตของตลาดหุ้นเช่นนั้นอีก จึงไม่ต้องสนใจกับตลาดหุ้น เพราะเป็นเรื่องของธปท.ที่จะดูแลเรื่องนี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องเอ็นพีแอลของสถาบันการเงิน จึงต้องรักษาบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ทั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เพราะหากบริษัทบริหารสินทรัพย์เหล่านี้แข็งแรง จะทำหน้าหน้าที่ดูดเอาหนี้เสียออกจากระบบแบงก์ หนี้เสียในระบบก็จะลดลง "อยากเห็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่อยากให้เป็นบริษัทที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นบริษัทเอกชนเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้น" "ณรงค์ชัย" คาดจีดีพีปีหน้าโต 4.5-5% นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และทีมเศรษฐกิจคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ของไทยในปีหน้า จะอยู่ที่ 4.5-5.0% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล "ยอมรับว่าปีนี้จีดีพีไม่น่าจะถึง 2% เพราะครึ่งปีหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่คาดไว้ จากการบริโภคและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมามากนัก ซึ่งทีมเศรษฐกิจเตรียมที่จะหารือมาตรการต่างๆ ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และปกติช่วงไตรมาส 4 ถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจะมีการเติบโตดีกว่าทุกไตรมาส จากที่เป็นช่วงไฮซีซัน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภค" Tags : ธปท. • ใส่ • จีดีพี • เศรษฐกิจ