(รายงาน) เอดีบีชี้ศก.เอเชีย-แปซิฟิก'แกร่ง' โตต่อเนื่องถึงปีหน้า แม้ประเทศอุตฯชะลอ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ออกรายงาน "แนวโน้มการพัฒนาเอเชีย 2014" ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในปีนี้และปีหน้า และเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก แม้ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญยังไม่ฟื้นตัว เอดีบีคาดการณ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกเอดีบี 45 ประเทศ อาจเติบโต 6.2 % ในปี 2557 และ 6.4 % ในปี 2558 จากปีก่อนที่เติบโต 6.1% นายทาเกะฮิโกะ นาคาโอะ ประธานเอดีบี ระบุว่า "เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังคงได้รับแรงหนุนส่งให้เติบโตต่อไป ถึงแม้ว่าประเทศอุตสาหกรรมสำคัญมีเศรษฐกิจฟื้นตัวเชื่องช้าเกินคาด" ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ตามที่ทางเอดีบีเคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. โดยเอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 6.2 % ในปี 2557 และ 6.4 % ในปี 2558 นายซาง-จิน เว่ย นักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าวว่าการชะลอตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจบางประเทศในภูมิภาคนี้ แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2557-58 นายเว่ยกล่าวว่า "การผลักดันกระบวนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในจีน, อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสามประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ จะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการกำหนดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ" รายงานของเอดีบีคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐ, ยูโรโซน และญี่ปุ่นจะเติบโตในอัตรารวมกันราว 1.5 % ในปี 2557 และ 2.1 % ในปี 2558 เอดีบีระบุว่า "หลังจากสหรัฐประสบภาวะอากาศหนาวจัดในไตรมาสแรก, ญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในไตรมาส 2 และเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอต่อไปนั้น เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญเหล่านี้ก็แทบไม่ได้เติบโตขึ้นเลยในช่วงครึ่งปีแรก" รายงานระบุว่า มาตรการต่างๆ เพื่อทำให้การลงทุนมีเสถียรภาพนั้นช่วยทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง "ดูเหมือนว่าจีนจะมีการขยายตัวสอดคล้องกับที่เอดีบีคาดไว้ที่ 7.5% ในปีนี้ และ 7.4% ในปีหน้า" "หลังการขยายตัว 7.4% ในไตรมาสแรก, การอุปโภคบริโภคที่ทรงตัว และอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7.5% ในไตรมาส 2 ทางการจึงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบเล็งเป้าหมาย และมาตรการกระตุ้นทางการคลังขนาดย่อม เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกจากระดับ 7.7% ในปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็จะควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อด้วย" รายงานระบุ รายงานระบุว่า อินเดีย "ส่งสัญญาณการฟื้นตัวใหม่" โดยหลังการชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาด รัฐบาลใหม่ก็มีความพร้อมอย่างมากที่จะดำเนินมาตรการปฏิรูปเพื่อปลดปล่อยศักยภาพของเศรษฐกิจอินเดีย "รายงานฉบับนี้ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้ แต่ก็ปรับ เพิ่มคาดการณ์ขึ้น 0.3% เป็น 6.3% ในปีหน้า ซึ่งการปฏิรูปจะสามารถเริ่มบังเกิดผล" ส่วนจีดีพีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะยังคงอยู่ที่ 6.7% ในปีนี้และปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีนและฮ่องกง และภาวะชะลอตัวของมองโกเลียจะถูกชดเชยด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ และไต้หวันที่มีภาคการส่งออกเป็นตัวนำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเอเชียตะวันออกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.4% ในปีนี้ แต่ก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปีหน้า ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มในจีน เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัวมากขึ้นในปีหน้า หลังจากที่ชะลอตัวในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัว 4.6% ในปีนี้ ลดลงจาก 5.0% ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ และเทียบกับที่ขยายตัว 5.0% ในปีที่แล้ว "อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงในหลายประเทศ โดยมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพี สำหรับอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม" อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกจากมาเลเซียช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของมาเลเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปีหน้า เศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาวะตกต่ำจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัว 5.3% ส่วนภูมิภาคเอเชียใต้กำลังมีการขยายตัวมากเกินคาด "ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของอนุภูมิภาคในปีนี้ถูกปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น 5.4% ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นของบังกลาเทศและปากีสถานเนื่องจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และการโอนเงินกลับประเทศ" เศรษฐกิจของเอเชียใต้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% ในปีหน้า เพิ่มขึ้น 0.3% จากที่คาด ไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากการทบทวนปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีสำหรับอินเดียแล้ว รายงานยังระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีสำหรับปากีสถาน และบังกลาเทศเพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่ความพยายามปรับปรุงบรรยากาศ สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทั้งสองประเทศ "ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนุภูมิภาคถูกปรับลดลงราว 0.33% มาที่ 6.1% ในปีนี้ และ 5.9% ในปีหน้า" รายงานระบุ ปรับลดคาดการณ์อาเซียน เอดีบีได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ โดยระบุถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงต้นปีนี้ และราคาส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เอดีบีได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลงเหลือ 1.6% ในปีนี้ ต่ำสุดในอาเซียน โดยลดลงจาก 2.9% ในปีที่ผ่านมาและคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.5% ในปีหน้า เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัว 4.6% ในปีนี้ ลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ 4.7% และการคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ 5.0% เอดีบีได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2557 สำหรับอินโดนีเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และสิงคโปร์เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนเม.ย. แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของมาเลเซียสู่ 5.7% จาก 5.1% โดยระบุถึงการฟื้นตัวของการส่งออก แต่เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มขยายตัวในปี 2557 สู่ 5.3% แม้ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.และเม.ย.ที่ระดับ 5.4% คาดปีหน้าฟื้นตัวตัวจากศก.โลก "ในปีหน้า เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมที่สำคัญและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ 5.3%" เอดีบีระบุ เอดีบียังคงตรึงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้และปีหน้า โดยระบุว่า การขยายตัวมีแนวโน้มลดลงสู่ 7.5% ในปีนี้และ 7.4% ในปีหน้าเมื่อเทียบกับ 7.7% ในปี 2013 "การจ้างงานที่ลดลงและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาจะถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นคาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว" เอดีบีระบุ เอดีบียังคงตรึงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2557 ของอินเดียที่ 5.5% และที่ 6.3% สำหรับปี 2015 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ 6.0% อันเป็นผลจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี นาเรนทรา โมดิ Tags : เอดีบี • เอเชีย • แปซิฟิก • เศรษฐกิจ • จีดีพี • อาเซียน