ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์เงินกองทุนโบรกบังคับใช้ต.ค.นี้ ด้านนายกสมาคมบล.ยืนยันสมาชิกฐานะแข็งแกร่ง เชื่อไม่ส่งผลกระทบ ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์การแก้ไขฐานะเงินกองทุนสำหรับ โบรกเกอร์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ มีผลเดือน ต.ค.นี้ ด้านนายกสมาคมบล.ยืนยันสมาชิกฐานะแข็งแกร่ง ไร้ปัญหาแต่ที่ปรับเกณฑ์เพราะรองรับธุรกรรมในอนาคต และรับมือความผันผวนของตลาดทุน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบการปรับปรุงข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ทั้งในด้านการดำเนินการแก้ไขฐานะเงินกองทุน ประกอบด้วย การกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขเงินกองทุน การจำกัดการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขฐานะเงินกองทุน และในด้านการดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขฐานะเงินกองทุนได้ ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อลูกค้า คู่สัญญาของบริษัทหลักทรัพย์ และระบบตลาดทุนโดยรวม โดยข้อกำหนดที่ปรับปรุงใหม่จะมีความชัดเจนและครอบคลุมธุรกรรมที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถให้บริการได้ และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับทันทีภายหลังจากประกาศลงนามภายในเดือน ต.ค.2557 นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคม บล. กล่าวว่าการที่สำนักงานก.ล.ต.ปรับปรุงการแก้ไขฐานะเงินกองทุนสำหรับบล.ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้นั้น มองว่าเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งปัจจุบันภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นมีความผันผวน โดยเฉพาะในส่วนของมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) มีปรับตัวขึ้นลงเร็วและแตกต่างกันในแต่ละวัน เช่นบางวันมูลค่าการซื้อขาย 3-4 หมื่นล้านบาท และบางวันก็ขยับไปถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งธุรกรรมการซื้อขายของลูกค้าที่ทำรายการก็จะมีผลกระทบต่อระดับเงินกองทุนของบริษัท "การปรับเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติไม่ได้มีผลกระทบอะไรเพราะจริงๆ แล้ว ฐานะเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบันถือว่าเข้มแข็งและส่วนใหญ่จะมีเงินกองทุนในเกณฑ์ประมาณ 50-100%อยู่แล้ว บางครั้งเมื่อมีธุรกรรมการซื้อขายที่มีผลต่อเงินกองทุนอาจจะมีบางแห่งที่เงินกองทุนแตะระดับต่ำสุด ดังนั้นก.ล.ต.จึงมีการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวออกมา" นายกสมาคมบล.กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะเป็นแนวทางการรองรับโบรกเกอร์ที่จะต้องทำธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ หรือมูลค่าการระดมทุนที่สูงกว่าเงินกองทุนของบริษัท รวมถึงอนาคตบล.จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการระดมทุนขนาดใหญ่มากขึ้น ดังนั้นการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะช่วยให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย Tags : วรพล โสคติยานุรักษ์ • ก.ล.ต. • ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ • ผลกระทบ • หุ้นไอพีโอ • บริษัทหลักทรัพย์