บจ.คึกคักรับโครงการโซลาร์รูฟ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 25 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เอสพีซีจี จับมือ ไทยพัฒนาอุตสาหกรรม ลุยโซลาร์รูฟท็อป พัฒนาเฟสแรก6หมื่นตารางเมตร ผลิตไฟฟ้า5เมกะวัตต์

    หวังกำลังผลิตแตะ 100 เมกะวัตต์ใน 5 ปี ด้านไอเอฟอีซี ตั้ง 5 บริษัทย่อย รุกธุรกิจพลังงานทดแทน ชี้ไตรมาส 3 พลิกมีกำไรจากรายการพิเศษ

    บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้หันมาให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน เนื่องจากภาครัฐจะเปิดให้ประมูลโครงการติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟโดยมีทั้งโครงการที่ค้างจากปีก่อนและโครงการใหม่

    นางสาว วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ spcg เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะรุกธุรกิจด้านโซลาร์รูฟมากขึ้น โดยได้จับมือกับพันธมิตรอย่าง บริษัท ไทยพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TFD ในการตั้งบริษัทลูกโดยถือหุ้น 50% เพื่อพัฒนาพื้นที่หลังคาที่มีอยู่ โดยในระยะแรกคาดว่าจะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ ในพื้นที่หลังคากว่า 60,000 ตารางเมตร และผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์

    "การที่เราเน้นเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจในการติดตั้งโซลาร์รูฟนั้น เพื่อเตรียมเข้าร่วมโครงการภาครัฐบาลที่จะเปิดประมูลในปีนี้ประมาณ 800 เมกะวัตต์ โดยทางบริษัทคาดหวังส่วนแบ่งของโครงการไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งความร่วมมือกับทีเอฟดีนั้น เราประเมินว่าในเฟสแรกจะติดตั้งบนพื้นที่หลังคาของโรงงานได้ 60,000 ตารางเมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 และจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558 โดยเป้าหมายของเราในการร่วมพัฒนากับ ทีเอฟดี คือจะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ 10 เมกะวัตต์"

    เขากล่าวว่า นอกจากการเจรจากับพันธมิตรอย่างทีเอฟดีแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เจรจากับบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อหาพื้นที่หลังคาเพิ่มเติม และเรายังหาพันธมิตรเพิ่มเติมซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้เพราะหลายบริษัทนั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป้าหมายของเราต้องการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากส่วนดังกล่าว ที่ 100 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี นอกจากนี้บริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการเข้าไปลงทุน โซลาร์รูฟในประเทศญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุนในสัดส่วน 10% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะเข้าไปพัฒนาโครงการทั้งสิ้น 40 เมกะวัตต์ บน 4 เกาะในญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจุดเด่นของญี่ปุ่นนั้นคือมีการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูง แต่เงินลงทุนก็สูงกว่าในไทยเช่นกัน

    สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ยังมีการเติบโตได้ในระดับที่ดี โดยกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของบริษัทอยู่ในระดับสูงกำไรทั้งปีของปี 2556 หลังจากนี้บริษัทคาดว่าจะมีการเติบโตของรายได้และกำไรเฉลี่ยปีละ 10% โดยมาจากการรับรู้รายได้ของโซลาร์ฟาร์มที่มีอยู่ที่เดิม 36 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ และรายได้จากการขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    ด้านนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากปีนี้ที่มีอยู่ 40 เมกะวัตต์ ให้มีกำลังการผลิตรวมในปี 2558 อยู่ที่ 300 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 100 เมกะวัตต์ โดยสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าเยอะขึ้น ทำให้บริษัท เตรียมทำเรื่องขอย้ายหมวดการซื้อขายหุ้นมาอยู่ที่หมวดพลังงานจากปัจจุบันที่ซื้อขายอยู่ในหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ภายในไตรมาส 4 

    นอกจากนี้บริษัทปรับตัวเองให้เป็น โฮลดิ้งส์ คอมปะนี โดยจะจัดตั้งบริษัทย่อย 5 บริษัท เพื่อลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า คือ 1.โรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะ 2.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3.โรงไฟฟ้าพลังงานลม 4. บริษัทที่จะเข้าไปลงทุนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะในกัมพูชา และ 5. บริษัทที่จะเข้าไปลงทุน โรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ ในญี่ปุ่น โดยบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทย่อยทุกบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากเป็นบริษัทที่มีความแข็งแรงเพียงพอ โดยบริษัทแรกที่จะเข้าจดทะเบียนคือ บริษัท ไอเฟด วิง ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในปี 2559

    สำหรับเป้าหมายปีนี้บริษัทจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 40 เมกะวัตต์ จากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้แล้ว ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง หลังจากนี้เราจะเป็นผู้ดำเนินการ สร้างโรงไฟฟ้าเอง ทำให้ต้นทุน จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า หลังจากที่ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท กรีนโกรท กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายเราจะเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นในลักษณะร่วมทุนกับพันธมิตร

    ส่วนเงินลงทุนในปี 2558 บริษัทเตรียมเงินทุนสำหรับการลงทุนไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาทในการพัฒนาโครงการ โดยมาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง และเงินที่ได้จากการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนท์) และที่เหลืออีก 5-6 พันล้านบาทจะมาจากการกู้สถาบันการเงิน จากปัจจุบันที่บริษัทฯมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.2-0.3 เท่า

    ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 จะมีความชัดเจนว่ารายได้และกำไรของบริษัท จะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมามากขึ้น และจะเป็นสัดส่วนสำคัญของบริษัท ซึ่งเราจะมีการขายสินทรัพย์ในธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสาร ออกไปและจะทยอยรับรู้กำไรพิเศษเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 3 ซึ่งเหตุดังกล่าวจะทำให้ผลการดำเนินงานของเราจะพลิกเป็นมีกำไรได้

    Tags : โซลาร์รูฟ • ตลาดหลักทรัพย์ • ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ • เอสพีซีจี • IFEC • TFD • โซลาร์เซลล์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้