สยามพิวรรธน์ทุ่ม5.5หมื่นล.ลุยลงทุน ผนึกตปท.ขยายไลน์ค้าปลีก -อสังหาฯ สยามพิวรรธน์ มั่นใจศักยภาพประเทศไทย วางยุทธศาสตร์ 5 ปี อัดฉีดงบลงทุน 5.5 หมื่นล้าน ขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีก อสังหาฯ ครบวงจร เปิดกว้าง “ร่วมทุนต่างชาติ” สยายปีกทั้งใน-ต่างประเทศ สร้างฐานดักโอกาส-อำนาจซื้อนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทุนไทยยักษ์ใหญ่ “สยามพิวรรธน์” องค์กรกว่า 5 ทศวรรษ เจ้าของและผู้บริหารโครงการสยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ และ ไอคอนสยาม ปรับทัพองค์กร วางยุทธศาสตร์ก้าวข้ามการแข่งขันระดับประเทศสู่เวทีโลก ประกาศวิสัยทัศน์ 5 ปี มุ่งขยายไลน์ธุรกิจทุกรูปแบบรับโอกาสมหาศาล และรับมือคู่แข่งนานาชาติ จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ได้จัดสรรงบกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ใช้ลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) โดยจะมีการขยายธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ทั้งศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกประเภทสเปเชียลตี้สโตร์ หรือร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง แฟรนไชส์ร้านอาหาร และ “ร่วมทุน” กับพันธมิตรต่างประเทศพัฒนาโครงการบันเทิงระดับโลก ศิลปวัฒนธรรม และธุรกิจค้าปลีก งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็นการลงทุนเองของสยามพิวรรธน์ 4.2 หมื่นล้านบาท การลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ 1 หมื่นล้านบาท อีก 3,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนค้าปลีกสเปเชียลตี้สโตร์และร้านอาหาร โดยมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาพัฒนา 7-8 โครงการ ในทำเลต่างๆ ทั้งภายในและนอกกรุงเทพฯ รวมถึงต่างประเทศ ซึ่งจะมีรายละเอียดเป็นรูปธรรมในปี 2558 ยุคทองค้าปลีกลงทุนพุ่ง 2 แสนล้าน ทั้งนี้ วงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาฯ ประเทศไทย อยู่ในช่วงของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการประกาศลงทุนโครงการใหม่จากผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและทุนใหม่ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เอเชียและประเทศไทย คือ หนึ่งในเป้าหมายการลงทุนทดแทนภูมิภาคยุโรปและสหรัฐซึ่งเผชิญวิกฤติการเงิน โดยไทยมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน มีภูมิศาสตร์ศูนย์กลางแห่งอาเซียนท่ามกลางเพื่อนบ้านที่กำลังเปิดประเทศ “ไทยต้องทำตัวเป็นเกตเวย์ของต่างชาติให้ได้ เพื่อดึงดูดต่างชาติมาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยซึ่งมีค่าเช่าที่ต่ำกว่าฮ่องกง สิงคโปร์ ขณะที่ค่าครองชีพต่ำ มีที่พักอาศัยเกรดเอจำนวนมาก” จะเห็นว่าเมื่อปัญหาการเมืองคลี่คลายผู้ประกอบการเริ่มรุกลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกซึ่ง “ดีมานด์” ยังมากกว่าซัพพลาย กล่าวคือ มีความต้องการพื้นที่จำนวนมากเพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจทั้งไทยแบรนด์และอินเตอร์แบรนด์ “5 ปีข้างหน้าการแข่งขันจะยิ่งกระจายวงกว้างมากขึ้น เวลานี้ย่านถนนพระราม 1 เปรียบได้กับออร์ชาร์ดโรด สิงคโปร์ เราเกาะกันไปกับรถไฟฟ้าและสร้างทำเลยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เช่น ริมแม่น้ำ รองรับโอกาสแห่งอนาคต” สร้างเอกลักษณ์ย้ำความแตกต่างคู่แข่ง นางชฎาทิพ กล่าวต่อว่า สยามพิวรรธน์ วางวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำเสนอความแปลกใหม่ให้ชีวิต (The Icon of Innovative Lifestyle) ภายใต้แผนพัฒนาโครงการที่เน้นสร้างความ “ความแตกต่าง” จากโครงการเดิม ทำให้ลูกค้าได้พบกับเอกลักษณ์เฉพาะโครงการไม่ซ้ำคู่แข่ง “ต้องเป็นคอนเซปต์แปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย หรือเป็นครั้งแรกในโลก นับเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ทุกโครงการของสยามพิวรรธน์แตกต่างจากคู่แข่งชัดเจน” แนวทางสร้างประสบการณ์ครั้งแรกและปรากฏการณ์ระดับโลกคือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการทำให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามวิกฤติการณ์ต่างๆ มาได้ด้วยดี เปิดกว้างพันธมิตรร่วมทุน ยุทธศาสตร์ธุรกิจดังกล่าวนับเป็นการเตรียมพร้อมฐานธุรกิจรับการเปิดประตูสู่อาเซียนด้วยการขยายเครือข่ายโครงการภายในประเทศและขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่าน “พันธมิตรร่วมทุน” เป็นหลัก โดยพันธมิตรของสยามพิวรรธน์เน้นกลุ่มทุนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันในมาตรฐานพัฒนาโครงการ เรียกว่า “เงินลงทุนต้องถึง” และ “ใจต้องถึงเรื่องการลงทุน” “เราไม่ทำโครงการแบบตีหัวเข้าบ้าน ระยะเวลาคืนทุนอาจนานกว่าโครงการอื่น แต่พาร์ทเนอร์ต้องเข้าใจว่าลงทุนไม่ได้หวังผลกำไรที่ดีอย่างเดียว แต่ต้องสร้างปรากฏการณ์และเติบโตอย่างยั่งยืน” บริษัทยังเตรียมพร้อมด้านองค์กร ซึ่งมีบริษัทในเครือทั้งสิ้น 15 บริษัท ให้มีศักยภาพแข็งแกร่งด้วยนโยบายด้านบริหารจัดการบุคลากร ผ่านการเสริมทัพผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้นำองค์กร การดึงมืออาชีพในด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศร่วมเป็นผู้นำองค์กร นอกจากนี้จัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับบริษัทพันธมิตรในอาเซียนและประเทศอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการบริหารจัดการ และเรียนรู้วัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ เพื่อนำมาปรับการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะ “นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” ที่เป็นกำลังซื้อหลักและมีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องในอนาคต ปัจจุบัน สยามพิวรรธน์ มีพื้นที่ค้าปลีกรวมกว่า 1.5 ล้าน ตร.ม. มีรายได้ 3 หมื่นล้านบาท จากการขยายธุรกิจเชิงรุกคาดรายได้เติบโต “เท่าตัว” ใน 3 ปี โดยบริษัทไม่มีแผนนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อย่างใด Tags : สยามพิวรรธน์ • ทศวรรษ • สยามพารากอน • ชฎาทิพ จูตระกูล • ค้าปลีก • นักท่องเที่ยว