รื้อเกณฑ์'พีพีพี'เร่งลงทุน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 24 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ครม.ไฟเขียวงบรัฐวิสาหกิจ1.3ล้านล.-เบิกจ่ายงบ2.6แสนล. สั่งสคร.สำรวจโครงการลงทุน เปิดทางเอกชนร่วมทุนเพิ่ม

    รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐ ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยคาดว่าจะมีงบประมาณจากภาครัฐกว่าแสนล้านบาท และเตรียมแผนกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องจากการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น

    การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ ได้อนุมัติกรอบการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และเร่งเบิกจ่ายงบปี 2557 ที่ยังไม่เบิกจ่าย 1.6 แสนล้านบาท โดยให้เร่งโครงการทั้งหมดภายใน 3 เดือน รวม 2.6 แสนล้าน(อ่านรายละเอียดหน้า 2)

    นอกจากงบประมาณภาครัฐ ครม.เห็นชอบกรอบงบทำการประจำปีงบประมาณ 2558 ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง โดยมีเงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

    นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่ารายจ่ายและการลงทุนภาครัฐ จะส่งผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในไตรมาส 4 โต 4-5% แม้เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 1.5-2%

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการประชุมครม. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เห็นชอบกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2558

    กรอบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2558 มีทั้งสิ้น 1,397,412 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายการลงทุน 657,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2557 ประมาณ 14% โดยการลงทุนอยู่บนสมมุติฐานการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.5 - 4.5 % โดยคาดว่ารัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง จะมีรายได้รวม 2,008,297 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,919,758 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 83,269 ล้านบาท

    "ครม.ให้สภาพัฒน์เป็นผู้พิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปีในส่วนที่เป็นงบลงทุน ให้มีความสอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558

    นายอาคม กล่าวว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ต้องรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานและเบิกจ่ายงบลงทุนให้สศช.ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งผลการดำเนินการในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้สศช.รวบรวมและรายงานครม.ทุก 3 เดือน

    ส่วนหน่วยงานที่ต้องส่งแผนฟื้นฟูหน่วยงานให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) ก็ขอให้เร่งดำเนินการเพื่อให้ ครม.พิจารณาต่อไป

    สั่งกำกับเข้มผลดำเนินงานรสก.

    นายอาคม กล่าวว่าการกำกับดูแลการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้กำหนดให้ 1. กระทรวงการคลังเร่งรัดการกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน และให้ความสำคัญกับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เป็นต้น

    2.ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดพิจารณาการปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน จำกัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีความคล่องกัวในการดำเนินงานมากขึ้นและสามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจได้

    3.ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเจ้าสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยอาจพิจารณากำหนดแนวทางการสนับสนุนหรือส่งเสริมธุรกิจร่วมกันหลังจากสัมปทานที่ให้หน่วยงานเอกชนจะหมดลงในปี 2558

    4.ให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับงานด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามมติ ครม. 24 ก.ย. 2556 โดยให้กันงบประมาณอย่างน้อย 3% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี และ 50% ของกำไรสุทธิ 3% ให้จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับงานวิจัยและการพัฒนาทางด้านสังคม

    สั่งทบทวนสถานภาพบางแห่ง

    5.ให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาทบทวนบทบาท และทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงความจำเป็นในการคงสภาพหน่วยงานบางแห่ง โดยมีกรอบ 4 ข้อ คือ

    1.รัฐวิสาหกิจที่ปัจจุบันมีการดำเนินงานหรือการดำเนินธุรกิจซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง

    2. ความจำเป็นในการเป็นเครื่องของภาครัฐที่อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

    3.รัฐวิสาหกิจประเภทที่ดำเนินกิจการโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดหารายได้และในการดำเนินงานต้องได้รับการสนับสนุนเงินรายได้ส่วนใหญ่จากงบประมาณผ่านดิน และ

    4. รัฐวิสาหกิจลูกที่จัดตั้งขึ้นโดยมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ

    “ที่ผ่านมาบางหน่วยงานไม่ได้ทำภารกิจตรงตามกับวัตถุประสงค์เดิมที่ได้มีการจัดตั้ง เช่น องค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ไม่ได้มีภารกิจหลักในการรับจำนำข้าวแต่ที่ผ่านมาต้องทำตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลเมื่อไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้วให้กลับไปทำภารกิจเดิม ส่วนหน่วยงานที่อาจถูกยุบเลิกซูเปอร์บอร์ดจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผลการขาดทุนต่อเนื่อง และหน่วยงานหมดความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน”นายอาคมกล่าว

    ‘สมหมาย’สั่งทำแอคชั่นแพลน

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่านายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งให้หน่วยงานในสังกัดทำแผนปฏิบัติการ หรือ แอคชั่นแพลน ตามนโยบายทั้ง 9 ด้านที่ได้ให้นโยบายไว้มานำเสนอภายในสัปดาห์หน้า ส่วนแผนงานของสถาบันการเงินของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ทางคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ดจะเป็นผู้พิจารณา

    แผนปฏิรูปแบงก์รัฐได้นำส่งให้กับซูเปอร์บอร์ดพิจารณาแล้ว โดยในการฟื้นฟูแบงก์ที่มีปัญหานั้น นอกจากแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้แล้ว อาจจะต้องมีการทบทวนพันธกิจ กำหนดกรอบบทบาทหน้าที่ของแต่ละแห่งให้ชัดเจน ดูว่าจำเป็นต้องไปทำธุรกิจแข่งกับธนาคารพาณิชย์หรือไม่ นอกจากนี้ในการกำกับดูแลอาจจะต้องมีคณะกรรมการ หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของแบงก์รัฐเฉพาะ จากปัจจุบันที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นผู้ตรวจสอบแบงก์รัฐแทนกระทรวงคลัง

    สั่งเร่งทำ'พีพีพี'ลดหนี้สาธารณะ

    ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าสคร.ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ไปดูเรื่องการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ(พีพีพี) ซึ่งต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น กระตุ้นการลงทุน และช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล แต่ละหน่วยงานจึงต้องกลับไปทำรายชื่อโครงการลงทุนของตัวเอง ว่ามีการลงทุนกี่โครงการ โครงการใดบ้างที่รัฐจะลงทุนเอง และโครงการใดบ้างที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน

    นอกจากนี้รัฐมนตรีฯยังสั่งการให้สคร.ไปจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากหน่วยงาน และภาคเอกชนทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ถึงอุปสรรค และเงื่อนไขการร่วมลงทุน ตามร่างพ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือ กฎหมายพีพีพี ว่าควรจะปรับปรุง หรือ แก้ไขในส่วนใดบ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน และให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด หลังจากได้ความเห็นจากที่ประชุม สคร.ก็จะรวบรวมใช้เป็นแนวทางในการปรับแก้กฎหมายลูกของพีพีพี

    เล็งปรับเกณฑ์เพิ่มเอกชนลงทุน

    ทั้งนี้ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนค่อนข้างน้อย ควรจะเพิ่มพีพีพีมากกว่านี้ ดังนั้น สศร. จึงต้องปรับกฎหมายเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเร่งทำโครงการพีพีพี และทำแผนยุทธศาสตร์ให้เอกชนเข้าร่วมทุนเพิ่มขึ้น

    นายกุลิศ กล่าวว่า สัดส่วนโครงการพีพีพี จะเป็นเท่าใดนั้น ยังต้องรอรัฐบาลพิจารณาทบทวนการลงทุนว่าจะเหลือโครงการลงทุนใดบ้าง และการจัดสรรแหล่งเงินลงทุนอื่นๆ นั้นรัฐบาลจะใช้งบประมาณ เงินกู้ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่าไหร่

    อนึ่งตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในช่วง 8 ปี (2558-2565) มูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท ก่อนหน้านี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ประเมินแหล่งที่มาของเงินทุน ว่าเป็นเงินกู้รัฐวิสาหกิจ 45% งบประมาณภาครัฐ 20% การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ พีพีพี 20% รายได้รัฐวิสาหกิจ 10% กองทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ 5% คาดว่าจะลงทุนเบิกจ่ายในปีแรกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

    Tags : ครม. • เศรษฐกิจ • รัฐวิสาหกิจ • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ • สศช. • คมนาคม • กฤษฎา จีนะวิจารณะ • กุลิศ สมบัติศิริ • พีพีพี • จีดีพี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้