"ตลาดหลักทรัพย์" หนุนรัฐต่ออายุกองทุนแอลทีเอฟ สนับสนุนการออมรายย่อยผ่านนักลงทุนสถาบันต่อเนื่อง กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ถือเป็นกองทุนที่มีประโยชน์ที่สนับสนุนการลงทุนระยะยาวในหุ้น และมีส่วนช่วยสร้างนักลงทุนสถาบันให้เพิ่มขึ้นในตลาดหุ้น ปัจจุบันสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันในประเทศมี 9-10% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จากก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีกองทุนแอลทีเอฟ มีนักลงทุนสถาบันซื้อขายเฉลี่ย 4-5% เท่านั้น นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เห็นว่ากองทุนแอลทีเอฟ มีประโยชน์และได้นำเสนอข้อมูลกับภาครัฐไปแล้ว ล่าสุดทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี ก็พร้อมจะพิจารณาข้อมูลและเข้าใจในประเด็นนี้ดี ปัจจุบันกองทุนหุ้นในตลาดมีสินทรัพย์ประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท กองทุนแอลทีเอฟ มีขนาด 240,000 ล้านบาท มีสัดส่วนกว่า 50% ของกองทุนหุ้นในปัจจุบัน ถ้าเงินกองทุนแอลทีเอฟหายไป สัดส่วนของนักลงทุนสถาบันในประเทศคงลดลง และอาจทำให้ตลาดขาดสมดุลของกลุ่มนักลงทุนประเภทต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนได้เช่นกัน "กองทุนแอลทีเอฟ เป็นเครื่องมือที่จะดึงกลุ่มนักลงทุนเข้ามาเรียนรู้การลงทุนระยะยาวในหุ้น และเห็นประโยชน์ของการลงทุนจากการถูกบังคับให้ลงทุนระยะยาว ซึ่งแนวโน้มกองทุนแอลทีเอฟ เริ่มทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในกองทุนประเภทอื่น เช่น กองทุนหุ้นทั่วไป เป็นต้น ถ้าเลิกตรงนี้ไปน่าเสียดาย เพราะโมเมนตัมที่กำลังเกิดขึ้นจะหายไป วอลุ่มเทรดของนักลงทุนสถาบัน จะส่งผลกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์" นางเกศรา กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์มีแผนจะจัดทำระบบกลางในการซื้อขายกองทุนรวมขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุน โดยคาดจะเริ่มต้นได้ช่วงต้นปีหน้า โดยจะจัดทำระบบการซื้อขายกองทุนกลางขึ้นมาก่อน โดย บลจ. หรือตัวแทนขายที่สนใจ ก็ส่งคำสั่งมาที่ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นผู้ส่งผ่านคำสั่งไปยัง บลจ. อีกครั้งหนึ่ง ระยะที่สอง จะพัฒนาระบบในการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ที่จะให้นักลงทุนสามารถเข้ามาใช้ เพื่อทำรายการซื้อขายกองทุนของบลจ. ได้ผ่านระบบงานนี้ แต่เบื้องต้นจะทำส่วนแรกก่อน เพราะส่วนที่สอง ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ ที่ทำในลักษณะของ Fund Supermart ได้อยู่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ จะเริ่มทำในส่วนที่ยังไม่มีก่อน ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า เงินลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟ 240,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับจำนวนบัญชี 960,000 บัญชี เฉลี่ยต่อบัญชีเป็นเม็ดเงิน 200,000 บาท ซึ่งไม่เป็นเม็ดเงินที่มาก โดยใกล้เคียงกับเงินเฉลี่ยต่อบัญชีในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงต้องการให้ภาครัฐเปิดใจรับฟัง และเห็นความสำคัญของภาคสังคมและครัวเรือน ในการเก็บออมเพื่อชีวิตของตัวเองด้วย เมื่อภาครัฐเห็นความสำคัญของเงินยามเกษียณของข้าราชการแล้ว ต้องการให้เห็นความสำคัญถึงเงินยามเกษียณ โดยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนการออมภาคบังคับเพื่อให้คนทำงานได้เก็บเงินออมสะสมของตัวเองและเงินสมทบของนายจ้างเอาไว้ใช้เพื่อชีวิตหลังเกษียณของตัวเองเท่านั้น "ในส่วนของกองทุนแอลทีเอ ก็เป็นระบบที่ดีซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นผลมากขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ และน่าจะขยายเวลาไปอีกสักระยะ โดยอาจมีเกณฑ์วัดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สัดส่วนนักลงทุนสถาบันขึ้นไปถึงระดับหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่สภาตลาดทุนไทยคงจะร่วมหารือกันอีกครั้ง" นางวรวรรณ กล่าวด้วยว่า หลังจากเดือน ต.ค.นี้ บลจ. คงผลักดันโดยการให้ข้อมูลกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น และไม่ต้องการให้รัฐให้ความสำคัญแต่เรื่องการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่านั้น แต่ควรหันมามองภาคสังคมและครัวเรือนสนับสนุนให้เขามีเครื่องมือในการออมเพื่อชีวิตที่ดี ซึ่งเงินออมเหล่านี้สุดท้ายก็จะย้อนกลับไปในระบบเศรษฐกิจสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวให้กับประเทศเช่นเดียวกัน” Tags : กองทุนรวม • แอลทีเอฟ • เกศรา มัญชุศรี • วรวรรณ ธาราภูมิ