ธปท.มั่นใจแผน "ปฏิรูปพลังงาน" ภาครัฐไม่กระทบเงินเฟ้อ เตรียมถกรมว.คลัง กรอบนโยบายการเงินใหม่ศุกร์นี้ พร้อมเตรียมเสนอชื่อกนง.ใหม่ 4 คนในสัปดาห์นี้ ขณะประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ที่ระดับ 1.5% ยันพร้อมรับมือตลาดเงินโลกผันผวน นโยบายปฏิรูปราคาพลังงาน ส่งผลให้มีการปรับราคาน้ำมันและก๊าซให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งการปรับราคาพลังงานเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มั่นใจว่าสามารถดูแลให้อยู่ในกรอบได้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ทดลองทำประมาณการและสมมติฐานต่างๆ เพื่อดูว่าจะกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างไรบ้าง ซึ่งเท่าที่คำนวณออกมาเชื่อว่า ธปท. สามารถดูแลได้ "การปรับราคาพลังงานแน่นอนว่า เกี่ยวข้องโดยตรงกับราคาขนส่ง และราคาสินค้าต่างๆ ทางทีมงานของเราได้ติดตามโดยการสร้างสมมติฐานต่างๆ เพื่อดูว่ามีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างไร ซึ่งถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เราคิดว่าเอาอยู่ และคิดว่ากรอบเงินเฟ้อใหม่ที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา น่าจะเป็นกรอบเงินเฟ้อที่เราดูแลได้" นายประสารกล่าว สาเหตุที่ ธปท. ประเมินเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาพลังงานในตลาดโลกไม่ได้สูงมากนัก โดยอุปทานด้านพลังงานในตลาดโลกมีออกมามากขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในตลาดโลกเองก็ไม่ได้มีมากนัก จึงไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโลก โดยภาพรวมจึงคิดว่าการปฏิรูปพลังงาน ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทำให้นโยบายการเงินต้องเปลี่ยนทิศทางไปอย่างมีนัยสำคัญ เตรียมหารือคลังกรอบเงินเฟ้อศุกร์นี้ นายประสาร กล่าวด้วยว่า ในวันศุกร์ที่ 26 ก.ย.นี้ ธปท.มีนัดหารือกับ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2558 ส่วนจะมีการปรับไปใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวยังไม่ขอตอบคำถามนี้ เพราะโดยมารยาทแล้ว อยากให้ รมว.คลัง ได้รับทราบและพิจารณาก่อน ส่วนการปฏิรูปภาษีที่ออกมารวมทั้งการส่งสัญญาณว่า อาจมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) หากมีความจำเป็นนั้น นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะปรับภาษีด้านใดบ้าง จึงอยากรอดูความชัดเจนอีกครั้ง ส่วนแนวคิดที่รัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีแวตนั้น ก็ต้องดูโครงสร้างภาษีอื่นๆ ประกอบด้วย จึงจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่ามีผลกระทบอย่างไร "แวตมักเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประสบการณ์ที่เห็นจากญี่ปุ่นก็คงมีผลกระทบต่อการบริโภคบ้าง ดังนั้นจังหวะเวลาและความสัมพันธ์กับมาตรการด้านอื่นๆ จะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ การตอบคำถามเดี่ยวๆ แยกออกมาเลย จึงอาจไม่ได้มีความหมายอะไร ยังต้องรอดูภาษีตัวอื่นๆ ประกอบด้วย" เล็งชงชื่อบอร์ดกนง.ใหม่แทน4คนครบวาระ นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกทั้ง 4 ท่าน ที่จะครบวาระปลายเดือนต.ค.นี้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ธปท.ปลายสัปดาห์นี้ ธปท.จะเสนอรายชื่อ กนง. ท่านใหม่ ให้คณะกรรมการ ธปท.พิจารณา จึงคาดว่า จะทราบรายชื่อ กนง. ใหม่ทั้ง 4 ท่าน ภายในปลายสัปดาห์นี้ "ตามกฎหมายแล้ว ผู้ว่าการแบงก์ชาติ มีสิทธิเสนอชื่อได้ 2 เท่า ซึ่งเท่ากับว่าสามารถเสนอรายชื่อได้ทั้งหมด 8 รายชื่อ เพื่อให้บอร์ดธปท. คัดเหลือ 4 รายชื่อ โดยคาดว่าปลายสัปดาห์นี้คงจะทราบผล" นายประสาร กล่าว ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามถึงการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในการประชุม กนง. ครั้งที่ผ่านมา (17 ก.ย.) ด้วยว่า มีการปรับตัวเลขใดบ้าง ซึ่ง นายประสาร กล่าวว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการจะแถลงในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ซึ่งเบื้องต้นบอกได้เพียง ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะใกล้เคียงประมาณการเดิมที่ 1.5% แต่ตัวเลขการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับลดลงจากประมาณการเดิน ขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐออกมาดีขึ้น นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีความแตกต่างกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ลง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น และอาจมีการทำคิวอีออกมาเพิ่มเติมนั้น เขากล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ธปท. ติดตามดูอยู่ เตรียมมาตรการรับมือเลิกคิวอีป้องค่าเงิน นายประสาร กล่าวว่า เท่าที่ได้ไปประชุมร่วมกับผู้บริหารจากธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ในการประชุมของธนาคาร เพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ก็มีการพูดคุยถึงกรณีดังกล่าวเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า นโยบายการเงินของสหรัฐยังคงมีบทบาทหลักมากกว่า เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า เมื่อประเทศเหล่านี้ทำนโยบายคิวอี ผลกระทบที่มีต่อตลาดเงินทั่วโลกส่วนใหญ่เกิดจากการทำคิวอีของสหรัฐ ขณะที่อีซีบีและบีโอเจ ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดเงินโลกมากนัก สำหรับกรณีของสหรัฐนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า จะพยายามไม่ทำอะไรที่เป็นการสร้างเซอร์ไพร์สให้กับตลาดเงิน ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่เฟดได้ระบุเอาไว้ เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อตลาดการเงินไทยก็คงไม่ได้มาก ธปท. ไม่ได้ประมาทในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางและเปิด จึงควรต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองไว้พอสมควร โดยวิธีป้องกันที่ดีสุด คือ พยายามดูแลให้เสถียรภาพเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง ไม่สร้างการบิดเบือนในกลไกตลาด "วิธีป้องกันตัวเองที่ดีสุด คือ ดูแลให้เศรษฐกิจมีภาวะที่แข็งแรง มีความสมดุลอย่าให้บิดเบือน ซึ่งพวกนี้จะช่วยได้มาก เพราะถ้าไปดูกลางปีที่แล้ว ช่วงที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะลดคิวอี ตอนนั้นประเทศที่ได้รับผลกระทบ คือ ประเทศที่มีจุดอ่อน" นายประสารกล่าว ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง สำหรับประเทศไทยนั้น นายประสาร กล่าวว่า โดยภาพรวมนับว่ามีความแข็งแกร่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่ได้อ่อนแอ เงินเฟ้อไม่สูงมาก มีเครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นพอสมควร อีกทั้งยังมีผู้เล่นในตลาดที่คุ้นเคยกับค่าเงินบาทเป็นอย่างดี โดยเข้าใจว่าเงินบาทมีความยืดหยุ่น ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีระบบสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งด้วย "เครื่องมือเราที่เตรียมไว้รองรับ จะเห็นว่า เรามีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น มีระบบแบงก์ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งหนี้ภาคเอกชนและภาครัฐก็ไม่ได้สูงมากจนสร้างความกังวลใจ ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเองก็อยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นถ้าตลาดไม่ได้เกิดเซอร์ไพร์สอะไรมากๆ เชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดเงินไทย คงไม่ได้มากนัก เพราะที่ผ่านมาตลาดก็พอรับรู้ในระดับหนึ่งแล้วว่า ระยะข้างหน้านโยบายการเงินของสหรัฐจะไปทิศทางใด" นายประสารกล่าว Tags : ราคาพลังงาน • น้ำมัน • ก๊าซ • ธปท. • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • เงินเฟ้อ • กนง. • คิวอี • สมหมาย ภาษี • เศรษฐกิจ