กูรูชี้สัญญาณบาทอ่อนชัด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 22 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นักเศรษฐศาสตร์ มอง แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าชัด หลัง "เฟด" ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย คาดสิ้นปีแตะ 32.50-33.00บาท

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีทิศทางความผันผวนในด้านอ่อนค่าอยู่ เพียงแต่สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ได้ลดคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินบาทมาอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่ประเมินว่าจะอ่อนค่าได้ถึง 34 บาทต่อดอลลาร์

    สาเหตุที่มีการปรับลดคาดการณ์ดังกล่าวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่มีแนวโน้มว่าจะผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้เงินทุนบางส่วนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานการไหลออกของเงินทุนบางส่วนที่กลับไปลงทุนในสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปีหน้า

    “เรามองว่าปัจจัยกดดันเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงมีอยู่ แต่ผลที่จะมีต่อค่าเงินบาทน่าจะเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า จึงได้ปรับคาดการณ์ในปีนี้ใหม่ แต่ยังคงมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในปลายปีหน้า” นายอมรเทพกล่าว

    นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า แม้การประชุมครั้งที่ผ่านมาของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าสุดท้ายคงหนีไม่พ้นที่จะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นภายในปีนี้ ทำให้ทิศทางเงินบาทไทยมีแนวโน้มว่าจะยังอ่อนค่าอยู่ โดยมีกรอบแนวรับสำคัญที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์

    “เราคิดว่ายังไงเฟดก็คงพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยชัดๆ ในปีนี้ ดังนั้นภาพของตลาดเงินช่วงที่เหลือของปี เรามองว่ายังเป็นภาพของความผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าอยู่ และโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 32 บาท ไปอยู่ที่ 31 บาทในปีนี้มีค่อนข้างยากแล้ว” นายกำพลกล่าว

    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการที่เอฟโอเอ็มซีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่สูงขึ้นจากการประเมินในครั้งก่อนหน้า โดยมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีหน้าจะปรับขึ้นเป็น 1.3% จากเดิมที่ 1.1% และในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.75% จากเดิมที่ 3.35% สะท้อนถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีความชัดเจนขึ้น

    จากการคาดการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเริ่มมีไม่มากนัก เพราะถ้าเฟดเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย นั่นหมายความว่าสภาพคล่องบางส่วนในตลาดการเงินโลกจะเริ่มหายไป โดยปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ไทย มีสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศถือครองอยู่ราว 7 แสนล้านบาท ถ้าเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง เชื่อว่าเงินส่วนนี้คงมีการไหลออกไปบ้าง ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีทิศทางการอ่อนค่าที่ชัดเจนขึ้น

    นอกจากนี้ถ้าดูในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับทิศทางของค่าเงินบาท เริ่มมีแนวโน้มว่าจะเกิดดุลได้น้อยลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ทำให้อนาคตอาจต้องสั่งซื้อสินค้าทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น มีผลต่อตัวเลขการนำเข้าที่สูงขึ้น จึงมีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดโดยตรง

    สำหรับทิศทางเงินบาทในช่วงสิ้นปี ทางธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีความผันผวนที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกหรือนำเข้า หันมาป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทกันมากขึ้น

    นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า โอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับไปแข็งค่าอยู่ในระดับ 31 บาทปลายๆ เป็นไปได้ค่อนข้างยากแล้ว โดยทางศูนย์วิจัยมองว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะอยู่ที่ระดับ 32-32.5 บาทต่อดอลลาร์

    “เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ต่อเมื่อเศรษฐกิจ มีความเข้มแข็งที่ชัดเจน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นไปแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น” นายเบญจรงค์กล่าว

    Tags : ค่าเงินบาท • ดอลลาร์ • เฟด • ดอกเบี้ย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้