คลังเตรียมหั่นเพดานลดหย่อนภาษี-ยืดเวลาขายคืน บลจ.ชี้หากไม่ต่ออายุในปี59 หุ้นเจอแรงเทขายหนักต้นปี60กว่าแสนล้าน คลังเตรียมปรับเงื่อนไขลงทุน"แอลทีเอฟ" หั่นเพดานลดหย่อนภาษี-ยืดเวลาการถือครอง หากต่ออายุออกไปหลังครบกำหนดปี 2559 ด้าน"เอไอเอ็มซี"ส่งข้อมูลให้คลังพิจารณาผลกระทบ ขณะโบรกฯคาดหากไม่ต่ออายุจะกระทบตลาดหุ้นหนัก ต้นปี 2560 คาดมีแรงเทขายกว่าแสนล้าน กระทรวงการคลังเตรียมปรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ:LTF) ภายหลังหมดเขตการสนับสนุนด้านภาษีในปี 2559 โดยอาจจะขยายเวลาการขายคืนโดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและกำหนดเพดานสูงสุดในการลดหย่อนภาษี สิทธิประโยชน์ทางภาษีการลงทุนแอลทีเอฟ เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ผู้ซื้อหน่วยลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ 15% ของรายได้ และเพดานไม่เกิน 5 แสนบาท โดยสามารถขยายคืนเมื่อถือครองครบ 5 ปี และไม่เสียภาษีเงินได้หากมีกำไร สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (เอไอเอ็มซี) ระบุว่าความนิยมลงทุนในแอลทีเอฟ เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 ก.ย.2557 พบว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ) มีขนาดกองทุนคงค้างอยู่ที่ประมาณ 2.42 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27.28% ของกองทุนหุ้นทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.49% ของกองทุนทั้งหมดในอุตสาหกรรม โดยวงเงินกองทุนปรับขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความเห็นข้อแย้งในมาตรการดังกล่าวมีมากขึ้นเมื่อจะครบกำหนดให้สิทธิทางภาษีในปีหน้า นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่าควรยกเลิกเนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กับคนมีรายได้สูงและทำให้ช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนและรวยมากขึ้น โดยมีการใช้เฉลี่ยนปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจตลาดทุนเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จากเม็ดเงินที่ไหลออกเมื่อครบกำหนดขายคืน จึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการภาษีออกไป นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนปีการถือครองและการลดวงเงินหักลดหย่อนภาษี อาจเป็นทางเลือกในการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ลงทุนในแอลทีเอฟ "สิทธิประโยชน์ทางภาษีของแอลทีเอฟ ซึ่งจะหมดอายุในปี 2559 นั้น สศค. กำลังพิจารณาว่า สมควรที่จะขยายอายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ ขณะนี้ ยังไม่สรุปว่าจะต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษี" นายกฤษฎา กล่าวว่าสศค.พิจารณาข้อดีข้อเสียของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของแอลทีเอฟ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า เป็นการเอื้อต่อคนรวย ขณะที่ฝั่งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันแนวคิดการต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีของแอลทีเอฟ กลับมองว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่แอลทีเอฟ เป็นการส่งเสริมการออมและพัฒนาตลาดทุนไทย "เราจะทำประเด็นต่างๆ เหล่านั้นมาพิจารณา ซึ่งทางเลือกหนึ่ง ที่จะให้คงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของแอลทีเอฟ คือ การขยายระยะเวลาการถือครองแอลทีเอฟให้ยาวนานขึ้น จากปัจจุบันถือครองเพียง 5 ปีตามปีปฏิทิน สามารถขายคืนได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาถือครองตามปีปฏิทินแล้ว คนลงทุนในแอลทีเอฟ จะถือครองเพียง 3 ปีกับสองวัน ก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแอลทีเอฟแล้ว หากซื้อวันสุดท้ายของปีแรก และขายคืนวันแรกของปีที่ 5 ดังนั้นการขยายระยะเวลาถือครองออกไป เพื่อให้เป็นการออมในระยะยาว ตามวัตถุประสงค์ของแอลทีเอฟอย่างแท้จริง" นายกฤษฎา กล่าว แนะภาครัฐใช้ข้อมูลรอบด้านตัดสินใจ นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเอไอเอ็มซี กล่าวว่ากองทุนแอลทีเอฟ ในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กองทุนดังกล่าวมีเม็ดเงินรวมกันทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนล้านบาท สำหรับในปี 2556 ที่ผ่านมา กองทุนแอลทีเอฟมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.9% ของมูลค่าตลาดรวม โดยมีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนในกองทุนประมาณ 9.6 แสนบัญชี เม็ดเงินรวมกัน ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท นางวรวรรณ กล่าวว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ อันจะส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในระยะยาว และส่งเสริมทัศนะการลงทุนระยะยาวในตราสารทุน "ทางสภาธุรกิจตลาดทุนได้นำเสนอข้อมูลการศึกษาในเรื่องของกองทุนแอลทีเอฟกับภาครัฐแล้วและหวังว่าภาครัฐจะใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาตัดสินใจ ทั้งนี้ไม่ว่าภาครัฐจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกองทุนก็ควรจะให้ทางผู้ประกอบธุรกิจมีส่วนรับรู้ด้วยเช่นกัน แต่อยากให้พิจารณาอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกันเหมือนๆ กันเท่านั้นเอง" คาดแรงขายหุ้นหนักในช่วงต้นปี 2560 นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนผ่านกองทุนแอลทีเอฟนั้น ในช่วงหลังเริ่มมีสัญญาณที่ดีในการกระจายเข้าลงทุนตั้งแต่ช่วงต้นปีไปทุกเดือนมากขึ้น แต่เม็ดเงินที่ไม่มากนัก โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงนิยมเข้าลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเช่นเดิม หากย้อนหลังในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงขายกองทุนแอลทีเอฟออกมาในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี จากเม็ดเงินที่ถือลงทุนครบตามเงื่อนไข 5 ปีปฏิทินแล้ว แต่จะกลับมาซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี และจะทำให้ยอดเงินลงทุนสุทธิในกองทุนแอลทีเอฟมีขนาดเฉลี่ยไม่น้อยไปกว่าเดิม "หากภาครัฐไม่ต่อประโยชน์ทางภาษีให้เงินในระบบกองทุนแอลทีเอฟในปัจจุบันน่าจะหมดไปในที่สุด" นายกิตติคุณ กล่าวว่า หากรัฐไม่ต่อประโยชน์ทางภาษีที่จะหมดใน ปี 2559 ออกไป เชื่อในปี 2560 จะมีแรงขายหุ้นจากกองทุนดังกล่าวออกมาจำนวนมาก โดยเงินที่จะขายออกมาได้ในปีดังกล่าว จะเป็นเงินที่เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป โดย ณ สิ้นปี 2556 กองทุนแอลทีเอฟมีเม็ดเงินคงค้างอยู่ประมาณ 2.14 แสนล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถขายออกมาได้ทั้งหมด แต่โดยส่วนตัวคิดว่าแรงขายอาจจะมีประมาณ 70-80% ของยอดคงค้างในปีดังกล่าว หรือคิดเป็นประมาณ 1.47-1.68 แสนล้านบาท "ตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2560 คงเผชิญกับแรงขายต่อเนื่องตามพฤติกรรมของนักลงทุนส่วนเงินใหม่ที่เคยเข้าในช่วงปลายปีก็จะหายไป น่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงหลังจากปี 2559 ด้วยเช่นกัน แต่ผลกระทบอาจจะทยอยออกมาเพราะมีการขายออกเป็นระยะๆ โดยเงินที่ไหลออกการจะไหลกลับเข้าไปในระบบประเมินว่าไม่ง่ายแม้อาจจะมีบางส่วนที่ยังอยู่ในระบบกองทุนในรูปแบบอื่นๆ ก็ตาม" นายกิตติคุณกล่าว กรุงศรีรับส่งผลกระทบบลจ. นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงศรี จำกัด ยอมรับว่า หากภาครัฐไม่ต่อสิทธิประโยชน์ภาษีกองทุนแอลทีเอฟที่จะหมดลงในปี 2559 เชื่อว่าในท้ายที่สุดมูลค่าคงค้างที่อยู่ในกองทุนกว่า 2.42 แสนล้านบาท ก็คงจะหมดไปในท้ายที่สุดด้วยเช่นกัน จากข้อมูลสถิติในอดีตพบว่า กองทุนนี้เมื่อครบอายุพร้อมไถ่ถอนจะมีผู้มาขายออกไปประมาณ 50% ซึ่งในระยะยาวคนที่ลงทุนอยู่ก็คงขายไปจนหมด ผลกระทบกับ บลจ. ย่อมต้องมีแน่นอน โดยเฉพาะปัจจุบันกองทุนแอลทีเอฟมีสัดส่วนการตลาดที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆ ชี้ได้ประโยชน์เรียนรู้ลงทุนระยะยาว ประเด็นนี้เป็นเพียงภาพเล็ก เพราะท้ายสุดเชื่อว่าอุตสาหกรรมบลจ.ยังคงเติบโตต่อได้ แต่อยากให้หันมามองภาพรวมที่สำคัญกว่า คือ กองทุนแอลทีเอฟ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาพใหญ่ที่สำคัญกับประเทศ เพราะเป็นการดึงคนให้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยใช้กองทุนแอลทีเอฟเป็นสิ่งนำนักลงทุนเหล่านี้ให้เข้ามาสัมผัสเครื่องมือลงทุนอย่างกองทุนรวม ได้เรียนรู้และเห็นผลประโยชน์จากการลงทุนระยะยาวเพื่อนำไปสู่การใช้เครื่องมือการลงทุนอื่นๆ ต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินในชีวิต โดยไม่ต้องไปเริ่มต้นจากศูนย์ "หากรัฐจะนำกองทุนแอลทีเอฟซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้ออกไป ก็ควรจะต้องนึกหาสิ่งอื่นที่ดีกว่ามาทดแทน ไม่เช่นนั้นที่อุตส่าห์ลงทุนทำไปตลอดระยะเวลา 12 ปี อาจจะสูญเปล่าก็ได้ อะไรที่จะดีกว่ามาช่วยพัฒนาประเทศในภาพรวมนั่นสำคัญกว่า" นายฉัตรรพีกล่าว โบรกชี้ยกเลิกกระทบตลาดหุ้น นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การยกเลิกสิทธิทางภาษีแอลทีเอฟ จะส่งกระทบต่อตลาดหุ้นพอสมควร โดยเฉพาะทำให้เครื่องมือลดความผันผวน และเครื่องมือกระตุ้นการออมหายไปจากตลาดทุน ในแง่ของความกังวลว่าจะเกิดแรงขายกองทุนแอลทีเอฟ จนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างมากนัก เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น "ภาพที่จะเห็นแรงขายหนักๆ จนทำให้ดัชนีปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญนั้นเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะเงินของกองทุนแอลทีเอฟไม่ใช่เงินใหม่ แต่เป็นเงินค้างตามอายุของทุนแอลทีเอฟแต่ละกอง ซึ่งผู้ถือหน่วยส่วนมากก็ได้รับสิทธิทางภาษีมาแล้วระยะหนึ่ง แม้จะยกเลิกสิทธิภาษี แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือหน่วยลงทุนก็ยังคงอยู่จนกว่าจะหมดอายุกองทุน" นายสุกิจ กล่าว "แอลทีเอฟ"เครื่องมือพยุงหุ้นของรัฐ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าประเด็นเรื่องแอลทีเอฟจะกดดันตลาดหุ้นไทยนับจากนี้เป็นต้นไป หากพิจารณามูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ กองทุนแอลทีเอฟ ณ สิ้นเดือน ส.ค.2557 จำนวน 53 กอง มูลค่า 2.45 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 27.6% ของมูลค่าสุทธิของเงินกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั้งหมด หรือ Equity Fund หรือเป็นเงินรวม 8.88 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นได้รวมอาร์เอ็มเอฟ 129 กอง มูลค่าราว 1.54 แสนล้านบาท และอีกราว 4.89 แสนล้านบาท เป็นกองทุนทั่วไป ทั้งนี้ไม่รวมกองทุนตราสารหนี้ และตราสารการเงินระยะสั้น และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) อีกกว่า 2.86 ล้านล้านบาท ขณะที่ฐานะสุทธิของกองทุนหุ้น เท่าที่ได้ตรวจสอบล่าสุดพบว่า มีเงินสดอยู่ในมือเพียง 3.75% ของเงินลงทุนในกองทุนตราสารทุนทั้งหมด ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2-10% ถือว่ากองทุนหุ้นได้เข้าลงทุนเต็มที่แล้ว ทำให้เชื่อว่านับจากนี้น่าจะเป็นทยอยขายมากกว่าซื้อ ประกอบกับตลาดหุ้นไทยมีค่าพีอีกว่า 16 เท่า ซึ่งอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างสูง Tags : แอลทีเอฟ • กระทรวงการคลัง • กฤษฎา จีนะวิจารณะ • วรวรรณ ธาราภูมิ • ฉัตรพี ตันติเฉลิม • ลดหย่อนภาษี