เล็งรื้อระบบ70:30สางปมน้ำตาล

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    จักรมณฑ์ เตรียมสางระบบแบ่งปันผลประโยชน์น้ำตาล 70 ต่อ 30 ปล่อยเสรีตามกลไกตลาด

    นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือกับสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยอีสาน และสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ว่า กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้แสดงความเป็นห่วง ในนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยของรัฐบาล ที่อาจจะส่งผลกระทบทำให้ราคาอ้อยตกต่ำ แต่ตนเห็นว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อราคา เพราะอ้อยเป็นพื้นที่สามารถเป็นได้ทั้งอาหาร และนำไปผลิตเป็นพลังงาน หากราคาน้ำตาลตกต่ำ ก็สามารถหันไปผลิตเป็นเอทานอลได้ มีความเสี่ยงด้านราคาน้อยกว่าพืชอาหารเพียงอย่างเดียว

    นอกจากนี้ กลุ่มชาวไร่อ้อยยังได้เสนอให้ปรับปรุงระบบการแบ่งปันผลประโยชน์สุทธิ ที่จะได้รับจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายและผลพลอยได้เป็นประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะนำมาจัดสรรในอัตราที่เป็นธรรมโดยชาวไร่อ้อยได้รับ 70% และโรงงานน้ำตาลได้รับ 30% เนื่องจากในปัจจุบันโรงงาน ได้นำผลผลิตจากอ้อยไปต่อยอดเป็นพลังงานเป็นจำนวนมาก เช่น นำกากน้ำตาล และน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล นำชานอ้อยไปผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ไม่ได้นำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ทำให้ชาวไร่อ้อยสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็น

    "ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 เป็นกฎหมายที่ใช้มานานถึง 30 ปี จึงมองว่าควรจะเปลี่ยนระบบใหม่หรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นระบบให้โรงงานมาตกลงราคากับชาวไร่อ้อยรวมทั้งค่าขนส่งอ้อยจากไร่ไปสู่โรงน้ำตาลเลยว่าจะให้ราคาได้เท่าไร เพื่อลดความซับซ้อนในการคำนวณ และลดต้นทุนการขนส่งของเกษตรกร แต่ในระบบนี้อาจจะเกิดปัญหาการแย่งตัดราคาซื้ออ้อยได้ และทำให้ระบบการดูแลชาวไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลเสียไป ซึ่งก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวไร่อ้อย และโรงน้ำตาล ร่วมกันพิจารณาว่าจะมีทางออกอย่างไร แล้วกำหนดเป็นกฎกติกา และรัฐบาลจะมีหน้าที่เพียงควบคุมให้เป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้"

    สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยยังได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกมติครม. ที่กำหนดให้โรงงานจะต้องมีระยะห่างระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร เนื่องจากชาวไร่อ้อยมีผลผลิตเพิ่ม จึงควรจะเพิ่มโรงน้ำตาลให้มากขึ้น ซึ่งจะศึกษาระยะห่างระหว่างโรงงานเท่าไรจึงเหมาะสม และไม่เกิดการแย่งวัตถุดิบอ้อย

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบโควตาน้ำตาล ก , ข และ ค นั้น มองว่าควรจะยกเลิกระบบโควตาน้ำตาล เปลี่ยนมาเป็นการใช้ราคาเดียวกัน ตามกลไกราคาตลาด ซึ่งจะป้องกันการลักลอบส่งออกอันเนื่องมาจากราคาที่ต่างกันระหว่างโควตาน้ำตาลภายในประเทศ และราคาตลาดโลก รวมทั้งยังลดปัญหาด้านการจัดการ ซึ่งก็ต้องปล่อยให้ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไปพิจารณาว่าควรจะปรับเปลี่ยนไปรูปแบบใด

    นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ยังมีความจำเป็นสำหรับเกษตรกร เพราะชาวไร่อ้อยมีอำนาจต่อรองกับโรงงานน้ำตาลน้อย หากปล่อยเป็นระบบเสรี ก็จะเสียเปรียบโรงน้ำตาล ซึ่งภาครัฐควรจะผลักดันให้ปรับปรุงระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรมกับเกษตรกรมากขึ้น โดยการนำรายได้จากการผลิตเอทานอล และไฟฟ้า รวมทั้งผลพลอยได้ต่างๆจากอ้อยเข้ามารวมในสูตรการคำนวณด้วย

    ในส่วนของการแก้ไขมติ ครม. ให้โรงงานน้ำตาลมีระยะห่าง 80 กม. นั้น ในมุมมองของชาวไร่อ้อยเห็นว่าควรจะปรับปรุง เพราะในปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น การลดระยะห่างระหว่างโรงงานจะทำให้ลดต้นทุนการขนส่งของชาวไร้อ้อย

    Tags : จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช • ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ • น้ำตาล • ไร่อ้อย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้