"อี ฟอร์ แอล เอม" ปิดเกมเทคโอเวอร์ "วุฒิศักดิ์ คลินิก" จ่ายเงินแค่ 1.5 พันล้านบาท เตรียมปรับโครงสร้างบอร์ดใหม บริษัทอี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) เหลือแค่เพียงขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 ต.ค. เท่านั้น ในการเข้าซื้อกิจการ บริษัทวุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด หรือ WCIG ก็จะเสร็จสิ้น หลังจากใช้บริษัทลูกเข้าซื้อกิจการ นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ กรรมการ บริษัทอี ฟอร์ แอล เอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สาเหตุที่สนใจเข้าซื้อกิจการ วุฒิศักดิ์ คลินิก เพราะมองตลาดความสวยงาม จะเข้ามาช่วยส่งเสริมกับการขายเครื่องมือแพทย์ที่ทำอยู่ได้ "นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดที่มีมูลค่าการตลาดสูง จึงศึกษาว่าใครอยู่ธุรกิจเกี่ยวกับความงาม และพบว่าบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย แต่วุฒิศักดิ์เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องเป็นเม็ดเงินหลายร้อยล้านบาท จึงเข้าไปเจรจา และเป็นช่วงเดียวที่วุฒิศักดิ์ คลินิก กำลังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ขณะนั้นบริษัทมีกองทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเขาต้องการขายหุ้นออกมา" นายธีรวุทธิ์ กล่าว หลังจากนั้น บริษัทจึงได้แต่งตั้งที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด และจ้างที่ปรึกษาทางการเงินอิสระอีก 1 ราย บริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด เข้าทำการตรวจความเสี่ยงทั้งหมดในช่วง 120 วันที่ผ่าน เพราะนักลงทุนกังวลในจุดนี้ และจากการตรวจสอบไม่พบความเสี่ยงด้านกฎหมายและความเสี่ยงด้านการเงิน ส่วน วุฒิศักดิ์ คลินิก เคยมีคดีฟ้องร้องนั้น นายธีรวุทธิ์ กล่าวว่า เดิมบริษัทวุฒิศักดิ์มี 2 บริษัท คือ 1 บริษัทวุฒิศักดิ์ คลินิก จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันบริษัทนี้ปิดชำระบัญชีไปแล้ว และได้ตั้ง บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัทไม่เกี่ยวกัน ประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องของบริษัทเก่าในอดีต สำหรับการเข้าซื้อหุ้นวุฒิศักดิ์ คลินิก ใช้เงิน 4.5 พันล้านบาท เพราะนอกจากเข้าซื้อหุ้น 3.5 พันล้านบาท ต้องหาเงินเพื่อชำระหนี้เดิมของบริษัทอีก 1 พันล้านบาท บริษัทจะใช้วิธีสร้างมูลค่าเพิ่มจากการก่อหนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้เป็น 2 ระดับ คือ 1. บริษัทจะตั้งบริษัทลูก โดยบริษัทถือหุ้น 60% และอีก 40% จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของวุฒิศักดิ์ คลินิก ถือร่วมกับกองทุนที่ร่วมทำการเข้าซื้อ โดยบริษัทลูก จะเข้าซื้อหุ้น 100% ของวุฒิศักดิ์ บริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท แต่ใช้วิธีเรียกชำระราคา 2.5 พันล้านบาท ทำให้บริษัทได้เงินทันที 2.5 พันล้านบาท ส่วนอีก 2 พันล้านบาท บริษัทลูกใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงิน 2. ส่วนของอีฟอร์แอล ที่ต้องชำระราคาในบริษัทลูกที่ถือหุ้น 60% วงเงิน 1.5 พันล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีส่วนทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท มีเงินสด 500-600 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ทำให้บริษัทมีศักยภาพกู้เงินถึง 2,000 ล้านบาท ในระดับหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 2 เท่า วิธีนี้สามารถทำได้และผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ ไม่ต้องเพิ่มทุน และจากการพูดคุยกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ให้ความสนใจรูปแบบดังกล่าวมี 4-5 ธนาคาร ที่พร้อมให้สินเชื่อ ซึ่งต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย 60-80 ล้านบาท โดยบริษัทมีศักยภาพที่จะจ่ายได้ จะแล้วเสร็จก่อนประชุมผู้ถือหุ้น "ครั้งนี้ไม่ใช่การแบ็คดอร์ หรือเข้าตลาดทางอ้อม แต่ อี ฟอร์ แอล ต้องการซื้อบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจ โดยนำธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพการเติบโต ไม่ได้เปลี่ยนธุรกิจเดิมที่มีอยู่ และไม่นำผู้ถือหุ้นเดิมของวุฒิศักดิ์มานั่งในคณะกรรมการบริษัท และไม่มีการแลกหุ้นระหว่างกัน" การเข้าซื้อกิจการ วุฒิศักดิ์ คลินิก จะหนุนให้บริษัทเป็นอันดับ 1 ของประเทศด้านความงาม เพราะมี 120 สาขา แต่จะปรับบริหารให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น และปรับโครงสร้างกรรมการใหม่ทั้งหมด โดยจะเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียง มีภาพพจน์ที่ดีตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาร่วมบริหาร นอกจากนี้ ยังได้ปรับรูปแบบกลยุทธ์ใหม่ โดยเน้นการรุกตลาดเออีซีจากปัจจุบันมี 11 สาขาในต่างประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และตลาดประเทศใหม่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย ซึ่งเรามองว่าภายในปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป 1-2 ประเทศ และในอนาคตจะนำ วุฒิศักดิ์ คลินิก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทัรพย์ คาดภายใน 2 ปี "อี ฟอร์ แอล จะโตก้าวกระโดด โดยปีหน้าจะมีรายได้ 5,000 ล้านบาท จากปีนี้คาดมีรายได้ 1,000 ล้านบาท และเติบโต 10% ต่อปีต่อเนื่อง โดย 3 ปีข้างหน้าเราจะเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และส่วนการให้บริการความงาม จะมีสัดส่วนรายได้ 65% และเครื่องมือแพทย์ 35% โดยจะผลักดันให้บริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี 2558 ส่วนการซื้อกิจการในระยะสั้น ยืนยันว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะต้องการรับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้นให้กับผู้ถือหุ้นก่อน" Tags : อี ฟอร์ แอล เอม • วุฒิศักดิ์ คลินิก • เทคโอเวอร์ • ธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์