ก.ล.ต.-ตลท.ถกรับกฎหมายใหม่-จับตาหุ้นในเอ็มเอไอ "วรพล"ระบุโทษหนักขึ้น-ทำคดีรวดเร็ว คนซื้อ"อินไซเดอร์"โดนด้วย ก.ล.ต.ถกตลาดหลักทรัพย์ เตรียมรับกฎหมายใหม่ สั่งเข้มงวดสร้างราคาหุ้น จับตาเคลื่อนไหวผิดปกติ ให้โบรกฯส่งข้อมูลตรวจสอบทันที หวังสร้างความเป็นธรรมการซื้อขาย-เอาผิดได้รวดเร็ว รวมโทษปรับเป็น 3 เท่า เกาะติดหุ้นใน"เอ็มเอไอ" ผิดปกติมากสุด สะท้อน"พี/อี"เกินปัจจัยพื้นฐาน หน่วยงานที่ดูแลการซื้อหลักทรัพย์หวังว่าร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะแก้ปัญหาการสร้างราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากจะเพิ่มโทษมากขึ้น ทั้งทางแพ่งและอาญา ร่างกฎหมายดังกล่าวค้างมาหลายรัฐบาล จนล่าสุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นำมาพิจารณาใหม่และเห็นเป็นกฎหมายเร่งด่วน จึงผลักดันผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และอยู่ระหว่างการเสนอเข้าสู่สนช. ที่ผ่านมา คดีการสร้างราคาหลักทรัพย์หรือปั่นหุ้น มักจะไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ถูกกล่าวโทษได้ โดยส่วนใหญ่มักจะหลุดในช่วงขั้นตอนการส่งดำเนินคดี เนื่องจากมีความเห็นต่างกันระหว่างหน่วยงานที่กำกับหลักทรัพย์และกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) การดำเนินคดีของก.ล.ต. ในช่วงปี 2557 ข้อมูล ณ สิ้นเดือนส.ค. ปรากฏว่ามีการเปรียบเทียบปรับรวมทั้งสิ้น 78 ราย แบ่งเป็นการสร้างราคา 21 ราย และการใช้ข้อมูลภายใน 5 ราย และการกล่าวโทษเนื่องจากไม่ยอมเสียค่าปรับ รวมทั้งสิ้น 72 ราย เป็นการกล่าวโทษฐานความผิดสร้างราคา 6 ราย นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าก.ล.ต.ได้ร่วมประชุมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กำชับให้ตลท.ดูแลและเข้มงวดในหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือมีการเก็งกำไรสูง เพื่อป้องกันความเสียหายกับนักลงทุนที่อาจได้รับผลกระทบหากมีความพยายามในการสร้างราคา "เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้ร่วมประชุมกับตลาดหลักทรัพย์ ได้กำชับให้ตลาดหลักทรัพย์เข้มงวดในการดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์มากขึ้น หลังจากเราพบว่ามีหุ้นที่มีเคลื่อนไหวร้อนแรงมากกว่าปกติ เพราะเราต้องป้องกันความเสียหายจากนักลงทุนที่อาจเกิดขึ้น" นายวรพล กล่าวว่าก.ล.ต.ได้สั่งการให้ตลาดดูความเคลื่อนไหวในหุ้นที่มีความผิดปกติ หากพบให้ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบว่าเป็นการส่งคำสั่งมาจากบริษัทหลักทรัพย์รายใด มีความผิดปกติหรือไม่ และสั่งการให้ตลาดขอข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าที่คาดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องจากบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีความเคลื่อนไหวในการซื้อขายสอดคล้องกันกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นหรือไม่ ผู้ซื้อขายใช้'อินไซเดอร์'โดนด้วย นายวรพล กล่าวว่าหาก ก.ล.ต. ตรวจสอบว่า มีการตรวจสอบว่ามีใครที่นำข่าวสารของบริษัทจดทะเบียนไปหาประโยชน์ในการซื้อขายหรือไม่ หากพบว่ามีการใช้ข่าวภายในเข้าทำการซื้อขาย(อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) ก.ล.ต.จะมีการเอาผิดกับผู้ที่ทำการซื้อขายหุ้นและสามารถตรวจสอบได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทหรือไม่ โดยกฎหมายดังกล่าวจะขยายบทลงโทษให้เอาผิดกับผู้ที่ทำการซื้อขายด้วย จากเดิมที่จะมีการเอาผิดเฉพาะผู้ที่ปล่อยข่าว นายวรพล กล่าวว่าความผิดตามกฎหมายใหม่จะมีโทษปรับเงินจากมูลค่าความเสียหาย 3 เท่าของส่วนต่าง ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้งนี้ โทษเดิม มีการปรับเท่ากับกำไรไม่ต่ำกว่า 5 แสน สูงสุดไม่เกิน 2 เท่าของกำไรที่ได้รับ ชี้กฎหมายใหม่เอาผิดทางแพ่งได้ทันที นายวรพล กล่าวว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยลดกระทำความผิดในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจะช่วยให้การดำเนินคดีที่มีความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์สามารถเอาผิดทางแพ่งได้เลย หากพบว่าผู้ที่กระทำความผิดมีความผิดจริง ช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินคดี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยตัดลดความเสียหายเพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดใช้เงินที่ได้รับการกระทำความผิดมาสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้น "ก.ล.ต.ก็อยากเน้นย้ำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการซื้อขายมากขึ้น โดยใช้วิธีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของบริษัทเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้" ส่วนมาตรการดูแลการซื้อขาย ทั้งใช้เครื่องมือในระบบเทรดดิ้งอะเลิร์ท และสั่งให้ทำการซื้อขายด้วยเงินสดนั้นมีความเหมาะสมอยู่แล้ว หากพบว่าหุ้นไหนที่มีความผิดปกติตลาดก็สั่งการให้บริษัทจดทะเบียนแจ้งถึงความเคลื่อนไหว ซึ่งก.ล.ต.มองว่ามาตรการดังกล่าวยังมีประสิทธิภาพ ชี้ตลาดแกร่งพอรับภาวะผันผวน นายวรพล ยังกล่าวถึงความแข็งแกร่งของบริษัทหลักทรัพย์ในการรับมือความเสียหายหากเกิดวิกฤติ หรือการปรับตัวลดลงของหุ้นอย่างรุนแรงว่าก.ล.ต.ได้มีการทดสอบความแข็งแกร่งของบริษัทหลักทรัพย์เป็นประจำ โดยพบว่าหากดัชนีตลาดหุ้นรับตัวลดลงระดับ 15% ติดต่อกัน 5 วัน ก็ยังสามารถรับมือภาวการณ์ดังกล่าวได้ ส่วนการกู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือ บัญชีมาร์จิ้น นั้น ปัจจุบันยังอยู่ในระดับปกติที่ 3-4 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่น่ากังวล เพราะบริษัทหลักทรัพย์ มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีเท่านั้น รฟม.หารือตั้งอินฟราฟันด์ นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเข้าหารือ เพื่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะนำเงินไปลงทุนในการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นช่องทางในการระดมทุนที่ดี ลดค่าใช้จ่ายและการกู้ยืมของภาครัฐ และมีความรวดเร็วในการระดมทุน เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำภายใน 2-3 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยถือว่ามีความล่าช้าในด้านดังกล่าวจากปัญหาการเมืองมาพอสมควรแล้ว ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.จะยังไม่มีการพิจารณาการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS จนกว่าคดีความฟ้องร้องจะสิ้นสุด ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งต้องรอให้มีความชัดเจนก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว Tags : ก.ล.ต. • หลักทรัพย์ • ราคาหุ้น • เอ็มเอไอ • วรพล โสคติยานุรักษ์ • อินไซเดอร์ • คสช. • ครม. • ดีเอสไอ • ปั่นหุ้น