"จัสมิน"ปรับลดรายการทรัพย์สินที่ขายเข้ากองอินฟราฯ เหลือแค่โครงข่ายใยแก้วนำแสง จากเดิมมี"แอคเซส โนด- เคเบิล" รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับธุรกรรมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานว่า บริษัทขอแก้ไขทรัพย์สินที่ทำการขายให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เนต จัสมินโกรท จากเดิมที่บริษัท และบริษัทย่อยจะขายทรัพย์สินที่เกี่ยวกับระบบบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ได้แก่ โครงข่ายใยแก้วนำแสง (OFC),Access Node และ Cable ที่เชื่อมโยงถึงลูกค้าประเภท ADSL ให้แก่กองทุนฯ ภายหลังที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน เปลี่ยนเป็น เหลือเพียง โครงข่ายใยแก้วนำแสง เท่านั้น ส่วน Access Node และ Cable ไม่ขายเข้ากองทุน แต่ในส่วนของมูลค่ากองทุนยังคงอยู่ที่ประมาณ 55,000-70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เส้นใยแก้วนำแสง (OFC) ที่จะขายให้แก่กองทุนฯ ประมาณ 980,000 คอร์กิโลเมตร จะส่งมอบประมาณ 800,000 คอร์กิโลเมตรในวันที่ซื้อขาย และอีกประมาณ 180,000 คอร์กิโลเมตร จะทยอยส่งมอบภายใน 2 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขายให้กองทุนฯ ประมาณ 817,000 คอร์กิโลเมตร ส่วน Access Node ยกเลิกไป จากเดิมจะขายเข้ากองทุนฯ ประมาณ 28,200 จุด โดยจะส่งมอบประมาณ 18,000 จุดในวันที่ซื้อขาย และที่เหลืออีก 10,200 จุดจะทยอยส่งมอบภายใน 2 ปี และ Cable ที่เลิกไป จากเดิมจะขายเข้ากองทุนฯ ประมาณ 2.25 ล้านพอร์ต โดยจะส่งมอบประมาณ 1.6 ล้านพอร์ตในวันที่ซื้อขาย และที่เหลือ 0.65 ล้านพอร์ตจะทยอยส่งมอบภายใน 2 ปี อย่างไรก็ตามการยกเลิกการจำนำหุ้นสามัญของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (TTTBB) ซึ่งบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ถืออยู่จำนวน 76% รวมทั้งยกเลิกจำนำหุ้นของบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด (TTTI) ซึ่ง TTTBB ถืออยู่ 76% ทั้งนี้เดิมที่มีแผนจะเอาหุ้นดังกล่าวมาจำนำ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าเช่าในอนาคต บริษัทหรือบริษัทย่อยจะจำนำหุ้นสามัญของ TTTBB ซึ่ง ACU ถืออยู่ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 950 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 76% ของหุ้นทั้งหมดของ TTTBB รวมทั้งจำนำหุ้นสามัญของ TTTI ซึ่ง TTTBB ถืออยู่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 760,000 หุ้น หรือคิดเป็น 76% ของหุ้นทั้งหมดของ TTTI จากการแก้ไขมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2556 ซึ่งถือเป็นรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ รายการดังกล่าวยังคงเข้าข่ายเป็นรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ แต่ทำให้ขนาดรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ลดลง โดยเมื่อคำนวณขนาดรายการการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์โดยอ้างอิงข้อมูลจากงบการเงินรวมฉบับสอบทานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2557 แล้ว จัดเป็นรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ประเภทที่ 1 มีขนาดรายการ 257.00-327.09% บนสมมติฐานที่ว่าขนาดของกองทุนฯ จะอยู่ที่ประมาณ 55,000-70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าว เสนอในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 27 ต.ค. 2557 วันที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าประชุม 26 ก.ย.2557 นอกจากนี้บริษัทอนุมัติการแต่งตั้งบริษัทเจวีเอส ที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นที่ปรึกษาอิสระเพื่อจัดทำความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมกองทุนรวม รวมทั้งอนุมัติให้นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจในการดำเนินการใดๆเกี่ยวเนื่อง และเป็นประโยชน์สำหรับเข้าทำธุรกรรมกองทุนทุกอย่าง แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์ ให้ความเห็นว่า การปรับลดขนาดดังกล่าวยังมีข้อสงสัยว่าเหตุใดขนาดของกองทุนยังใกล้เคียงเดิม คือ สูงสุดที่ 70,000 ล้านบาท (มติเดิม มูลค่ากองทุนอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาท) ซึ่งสินทรัพย์ที่ตัดออกไปหลายรายการน่าจะทำให้ขนาดของกองทุนปรับลดลง นอกจากนี้ยังประเมินว่า กองทุนดังกล่าวไม่น่าจะผ่านเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะถ้าดูรายละเอียดที่บริษัทฯแจ้งมาแล้ว โครงข่ายใยแก้วนำแสง (OFC) ซึ่งเป็นสินทรัพย์อย่างเดียวที่จะโอนเข้ากองทุน ก็ยังเป็นของ TTTBB ซึ่งยังมีปัญหาด้านคดีความ "เรื่องขนาดของกองทุนที่ยังเท่าเดิม เป็นเรื่องหนึ่งที่เราตั้งข้อสังเกต แต่สุดท้ายแล้วก็เชื่อว่า บริษัทจัสมินจะยังไม่สามารถตั้งกองทุนนี้ได้ เพราะ โครงข่ายใยแก้วนำแสง ยังเป็นของ TTTBB ซึ่ง ก.ล.ต. ไม่น่าจะยอมให้บริษัทนำสินทรัพย์ที่ติดคดีความมาตั้งกองทุนขายให้ประชาชน และหาก ก.ล.ต. ยอมให้ขายหน่วยลงทุนได้ ก็จะเป็นมูลเหตุให้ TT&T ฟ้องร้อง และขอคุ้มครองชั่วคราว เพราะก่อนหน้านี้ที่ศาลฯ ไม่คุ้มครองเพราะยังไม่มีมูลเหตุ เนื่องจากบริษัทจัสมิน ยังไม่ได้ดำเนินการขายกองทุนโครงการพื้นฐาน" แหล่งข่าวกล่าว เขากล่าวว่ากรณีที่ดีที่สุด หากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทจัสมิน สามารถจัดตั้งได้ แนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจัสมินน่าจะลดลง และไม่โดดเด่นอีกต่อไป เพราะมองว่าการนำเอาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านคดีความมาขาย จะต้องให้ผลตอบแทน (Yield) ที่สูงกว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 6-8% โดยกองทุนนี้อาจต้องให้ผลตอบแทนถึง 10% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของบริษัทจัสมิน เพิ่มขึ้น เพราะบริษัทฯต้องกลับเข้ามาเช่าโครงข่ายของกองทุนฯ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง ทั้งนี้ปัจจุบัน บริษัทจัสมิน มีต้นทุนทางการเงินเพียง 5-6% ซึ่งสามารถกู้เงินมาขยายธุรกิจได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ นักวิเคราะห์ บล.ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่าหากมองถึงการดำเนินงานปกติของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งบริษัทจัสมินมีการเติบโตของกำไรเฉลี่ยปีละ 10-20% หุ้นซื้อขายที่พีอีเรโชระดับ 10-11 เท่า ซึ่งถือว่าน่าสนใจ แม้กลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์จะมีการแข่งขันสูง แต่ธุรกิจดังกล่าวยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ กรณีการขายกองทุนโครงสร้างพื้นฐานยังมีความไม่แน่นอน ขณะนี้รออนุมัติจาก ก.ล.ต. ซึ่งต้องติดตาม โดยประเมินว่ากรณีเลวร้ายสุด บริษัทแพ้คดีความทุกกรณี ราคาเหมาะสมจะปรับลงไปอยู่ที่ 6.20 บาท แต่หากศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ราคาเหมาะสมจะอยู่ที่ 9 บาท โดยยังไม่รวมการขายกองทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากขายกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 50,000 ล้านบาท จะมีส่วนเพิ่มของราคา 1.7-1.8 บาท หรือหากมูลค่าของกองทุนขึ้นไปที่ระดับ 70,000 ล้านบาท จะมีส่วนเพิ่มของราคาเหมาะสมที่ 3 บาทต่อหุ้น Tags : จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล • ขายสินทรัพย์ • กองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์