ชี้กลุ่มฟื้นฟูเป้า'แบ็คดอร์'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 17 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    วงการโบรกเกอร์คาด "แบ็คดอร์ ลิสติ้ง" ได้รับความสนใจสูง เหตุประหยัดเวลาปรับโครงสร้างธุรกิจ-ค่าใช้จ่าย

    นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า กล่าวว่า แนวโน้มการเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (Backdoor Listing) จะมีเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับความสนใจสูง เนื่องจากผู้ประกอบการนอกตลาดมองการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกวิธีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อตลาดหุ้นอยู่ในภาวะที่ดี มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น การแบ็คดอร์ ลิสติ้ง จะเป็นวิธีการเข้าถึงระดมทุนที่ทันเวลา เมื่อเทียบกับการเข้าตลาดหุ้นด้วยการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) แล้ว เห็นชัดเจนว่าประหยัดเวลาประมาณ 1-2 ปี ซึ่งหมายถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน

    นอกจากนี้ การแบ็คดอร์ ลิสติ้ง ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจนอกตลาดที่มีทรัพย์สินกระจัดกระจาย และยังไม่สามารถรวมศูนย์ธุรกิจได้ สามารถใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก่อน เมื่อเข้าตลาดมาแล้วค่อยปรับโครงสร้างธุรกิจให้เข้าที่เข้าทางอีกครั้ง

    เขากล่าวเพิ่มว่า ในฝั่งของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกซื้อกิจการ มองว่าการถูกแบ็คดอร์เป็นอีกหนึ่งในทางรอดของธุรกิจ และแม้จะไม่มีดีลเกิดขึ้นจริง ราคาหุ้นมักจะปรับตัวตอบรับในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ดีลจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ฝั่งจะต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจนว่าเมื่อทุนใหม่แบ็คดอร์เข้ามาแล้ว ทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร เพราะหนึ่งในหน้าที่ของการเป็นบริษัทจดทะเบียนก็คือการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดิม ก็ต้องประเมินบทบาทต่อไปว่าจะเป็นผู้บริหารด้วยหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว

    "เรื่องของภาพลักษณ์ของการถูกแบ็คดอร์ หรือการแบ็คดอร์เข้ามา เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องพิสูจน์ตัวกันว่าเป็นคนทำธุรกิจจริงหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าในการพูดคุยกันของทุนเดิมและทุนใหม่ ต้องมีการทำข้อตกลงกันอยู่แล้วว่าเมื่อมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามาแล้ว บริษัทจะเป็นอย่างไรต่อ ส่วนมุมมองว่าการถูกแบ็คดอร์หมายถึงบริษัทอยู่ในกระแสธุรกิจที่ไม่ดีนั้น ควรมองกันในแง่ของการแสวงหาธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตดีกว่า เพราะคงไม่มีธุรกิจไหนที่มีแต่ขาขึ้นเพียงอย่างเดียว"

    นายไพโรจน์กล่าวเพิ่มว่า กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะถูกแบ็คดอร์มากที่สุดก็คือ กลุ่มหุ้นที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากยังจับทิศทางธุรกิจไม่ได้ว่าแกนหลักของรายได้จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจที่กำลังเติบโตอีกต่อไป และเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องหุ้นต่ำ รวมถึงบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มาก ซึ่งเอื้อให้กลุ่มทุนใหม่เข้ามาเจรจาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

    รายงานจากสำนักงานก.ล.ต. ระบุว่า สถิติตลาดทุนช่วงครึ่งแรกปี 2557 มีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (เทคโอเวอร์) จำนวน 7 บริษัท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 3,943 ล้านบาท โดยเป็นการทำคำเสนอซื้อในช่วงไตรมาส 2/2557 จำนวน 3 บริษัท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 3,274 ล้านบาท

    นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเข้าแบ็คดอร์นั้น ตลาดหลักทรัพย์มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้สนใจเข้าทำการระดมทุนในตลาดหุ้นสามารถทำได้ โดยเรามองว่าสิ่งที่ทำให้หลายบริษัทให้ความสนใจช่องทางนี้เป็นพิเศษน่าจะเกิดจากความต้องการของบริษัทที่จะย่นระยะเวลาเข้าทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความรวดเร็วมากกว่าการเข้าจดทะเบียนในรูปแบบปกติ

    ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เองไม่ได้นิ่งนอนใจในการตรวจสอบบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในช่องทางดังกล่าว เราจะมีการตรวจวัดคุณภาพของกิจการที่จะเข้ามาแทนที่ว่ามีศักยภาพในการประกอบธุรกิจมากน้อยเพียงใด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งความท้าทายของเราคือการพยายามรักษาระดับของการใช้ทั้ง 2 ช่องทาง ไม่ว่าจะนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยตรง หรือการ แบ็คดอร์ ไม่ให้บริษัทจดทะเบียนใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากเกินไป

    ด้าน นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬรักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) ซึ่งประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาและตรวจรักษาปัญหาด้านผิวพรรณและลดกระชับสัดส่วนในสัดส่วน 100% มูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นเดิมของ WCIG พร้อมกันนั้นบริษัทย่อยจะจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมที่วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป กู้ยืมมาจาก Wise Thai อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท

    ในการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ บริษัทจะร่วมกับผู้ร่วมลงทุนรายอื่นที่สนใจเข้าถือหุ้นใน วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป (ผู้ร่วมลงทุนรายอื่น) ผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือหุ้นในวุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป โดยบริษัทจะเข้าถือหุ้นในบริษัทย่อยในสัดส่วน 60% และผู้ร่วมทุนรายอื่นจะถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 40% โดยบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท

    โดยผู้ร่วมทุนรายอื่น ได้แก่ นายพลภัทร จันทร์วิเมลือง ถือหุ้น 8% นายวุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช ถือหุ้น 8% และนายณกรณ์ กรณ์หิรัญ ถือหุ้น 9% ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป และ อีกแห่งคือ กองทุนซึ่งจัดตั้งและบริหารโดย Solaris Asset Management Company Limited ถือหุ้น 15%

    นายธีรวุทธิ์ กล่าวว่า การเข้าลงทุนใน บริษัท วุฒิศักดิ์คลินิกอินเตอร์กรุ๊ป บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมกัน ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทด้วยการประสานงาน และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม

    Tags : ไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ • โบรกเกอร์ • แบ็คดอร์ • ตลาดหุ้น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้