(รายงาน) ฟันธงกนง.คงดอกเบี้ย2% เพิ่มบทบาทการคลังกระตุ้นศก. วันที่ 17 ก.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีการประชุมครั้งที่ 6 ในปีนี้ ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย. ซึ่งมติของเฟดจะส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยและตลาดเงินทั่วโลก แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักประเมินว่ากนง.ยังคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมต่อไป มีรายละเอียดดังนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องในทางเดียวกันว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% เพราะมองว่าเป็นระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในการประชุนวันที่ 17 ก.ย.นี้ กนง.ประชุมในช่วงเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีการประชุม ระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย. ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจส่งสัญญาณช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่น่าจะส่งผลต่อนโยบายการเงินของกนง. ทั้งนี้ กนง.จะเปิดเผยรายงานผลการประชุมใน "รายงานนโยบายการเงิน"อีกหนึ่งสัปดาห์ถัดไป ในวันที่ 26 ก.ย. โดยคาดว่ากนง.อาจปรับลดประมาณเศรษฐกิจลง จากการประชุมครั้งหลังสุด ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี)ในปีนี้ จะขยายตัว 1.5% และในปี 2558 จะขยายตัว 5.5% นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) เชื่อว่ากนง.จะยังตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันสอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ “แบงก์ชาติส่งสัญญาณในเรื่องนี้มาต่อเนื่อง ถ้าได้ไปฟังในงาน ไทยแลนด์โฟกัส ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้ว่าการแบงก์ชาติ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล บอกชัดเจนว่า รูมของนโยบายการเงินมีจำกัด และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น นโยบายการเงินก็ควรกลับไปเล่นในตำแหน่งกองหลังเหมือนเดิม ปล่อยให้นโยบายการคลังทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจแทน”นายพิพัฒน์กล่าว สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยอมรับว่าช่วงนี้อาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะต่อไปพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก แนะจับตาเศรษฐกิจโลก นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น มีผลต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าการส่งออกเติบโตได้ต่ำกว่าคาด ไม่สามารถทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่เคยคาดหวังกัน จึงต้องจับตาดูว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป จะฟื้นตัวได้อย่างที่คาดหวังกันไว้หรือไม่ ส่วนเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องยอมรับว่าสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ( เฟด) หรือแม้แต่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย รวมทั้งทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยแน่นอน “แผนการทำคิวอี (มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ) ของอีซีบี น่าจะช่วยทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลก ไม่ได้หายไปเร็ว แม้ว่าเฟดจะทยอยเลิกมาตรการคิวอี และถ้าดูการลดดอกเบี้ยลงของ อีซีบี ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า ยีลด์บอนด์ (ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร) ของยุโรปปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ยีลด์บอนด์สหรัฐก็ปรับขึ้นไม่มาก ที่น่าสนใจ คือ ผลตรงนี้จะยาวนานแค่ไหน”นายพิพัฒน์กล่าว คาดเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เพราะแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็งมากนัก แต่มองไปข้างหน้าเชื่อว่าการฟื้นตัวจะเริ่มชัดเจนขึ้น และ ธปท. เองก็มองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังไว้ที่ 3-4% ขณะที่ปีหน้า ธปท. คาดว่าจะเติบโตได้ 5.5% “การที่แบงก์ชาติ รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทำให้ไม่เห็นความจำเป็นที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยลง”นายเชาว์กล่าว อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปัจจัยต่างประเทศเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม เพราะอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ในอนาคตได้ ทั้งเรื่องการส่งออกที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมไปถึงการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด นายเชาว์ กล่าวว่า การที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด ยิ่งทำให้ กนง. ไม่น่าจะลดดอกเบี้ย เพราะเกรงจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดต่อตลาด เนื่องจากถ้า กนง. ปรับลดดอกเบี้ย ในขณะที่ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดจริง อาจทำให้ กนง. ต้องรีบกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดต่อตลาด เงินเฟ้อไร้แรงกดดัน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การประชุม กนง. รอบนี้ไม่น่าจะมีเซอร์ไพร์ซ โดยคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ขณะที่เงินเฟ้อเองไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ ธปท. ต้องปรับนโยบายดอกเบี้ยใหม่ “หลังจาก คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เข้ามาและปรับนโยบายในด้านพลังงาน มีมาตรการอุดหนุนดูแลค่าครองชีพ ก็ทำให้เงินเฟ้อลดลงมาบ้าง จึงไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของกนง.” นายอมรเทพ กล่าว การประชุมครั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ กนง. จะทบทวนประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้าใหม่หรือไม่ เพราะตัวเลขที่ กนง. เคยให้ไว้ที่ 5.5% ดูเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ภาคการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และในมุมมองของ สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า จะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่คงไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวามากนัก สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ระยะสั้นคงไม่มีผลกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย เพราะแม้เฟดมีแนวโน้ม จะยุติมาตรการคิวอีลงในเดือนต.ค. แต่ในเวลาเดียวกันอีซีบีและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้ผลกระทบด้านสภาพคล่องที่จะลดลงบรรเทาลงไป ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินจึงไม่น่าจะมีมากนัก เฟดยุติคิวอีกระทบตลาดน้อย นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า คาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เช่นเดิม เพราะภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่ออกมา หลายตัวยังต้องรอการปฎิบัติ ซึ่งอาจใช้เวลาในการดำเนินการอยู่บ้าง ขณะที่เงินเฟ้อเองก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่กดดัน ทั้งหมดนี้จึงเอื้อให้ กนง. ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิมได้อยู่ ส่วนปัจจัยต่างประเทศโดยรวมยังไม่มีแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยมากนัก เพราะอีซีบีมีแผนที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยให้การลดมาตรการคิวอีของเฟด ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินโดยรวมมากนัก Tags : กนง. • เฟด • นักเศรษฐศาสตร์ • ดอกเบี้ย • พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย • ภัทร • เชาว์ เก่งชน • อมรเทพ จาวะลา • เบญจรงค์ สุวรรณคีรี