แบงก์รัฐทำโครงการสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอกระทรวงการคลัง เน้นแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ พร้อมออกสินเชื่อเอสเอ็มอี "ออมสิน" มี 22 โครงการ แยกเป็นส่วนที่ขอพีเอสเอ 18 โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้าน "ธกส." เตรียมสินเชื่อกรีนเครดิต หนุนเพาะปลูกระบบอินทรีย์ เพื่อความยั่งยืน ธนาคารเฉพาะกิจ เดินหน้าทำโครงการสนองนโยบายรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารปกติได้ พร้อมเตรียมโครงการใหม่ๆ เสนอกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ นายสุพจน์ อาวาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินเตรียมทำโครงการสินเชื่อทั้งหมด 22 โครงการ เป็นโครงการที่เตรียมเสนอกระทรวงการคลังเพื่อแยกเป็นบัญชีสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล (พีเอสเอ) 18 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูรายละเอียด "วงเงินต่อโครงการไม่ได้สูง แต่เป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อเปิดโอกาสให้ครัวเรือนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ได้" นอกจาก 18 โครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแล้ว ธนาคารออมสินยังได้เร่งดำเนินงานอีก 4 โครงการ คือ 1.การแก้ไขปัญหายางพารา 2. การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยในส่วนการแก้ไขปัญหานี้นอกระบบนั้น จะมีการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด และ3. การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงการที่ 4 คือ การแก้ไขปัญหาหนี้ของข้าราชการ อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง โดยเป็นคนละโครงการกับการแก้หนี้นอกระบบ โดยปัจจุบันพบว่าข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู และข้าราชการก.พ. มีหนี้สินจำนวนมาก เงินเดือนที่ได้รับต่อเดือน100 บาทจะถูกหักใช้หนี้ประมาณ 60% อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาหนี้ของข้าราชการนี้ ออมสินจะร่วมมือกับพันธมิตรแก้ไขแบบบูรณาการ เช่น ธนาคารกรุงศรี อิออน และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของข้าราชการ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการเตรียมโครงการเพื่อเสนอทางกระทรวงการคลังหลายโครงการ โดยเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเกษตร โครงการเหล่านี้จะเป็นสินเชื่อใหม่ที่ช่วยเหลือเกษตรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นสินเชื่อ กรีนเครดิต เป็นสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเกษตรแบบอินทรีย์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะให้อัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน เป็นต้น นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ธนาคารมีความพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี ไปพร้อมๆกับการแก้ไขปัญหาของธนาคาร เพราะปัจจุบันยังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยมีกว่า 1.5 ล้านราย จากเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.7 ล้านราย ล่าสุด ได้เตรียมวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ออกสินเชื่อ 9 ประเภทให้กับเอสเอ็มอี รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แจ้งว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 พบว่ามีการเบิกจ่ายโครงการที่มีการแยกบัญชีพีเอสเอ ทั้งหมด 8.15 หมื่นล้านบาท โดย ธ.ก.ส.มียอดเบิกจ่ายมากสุด 6.24 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือธนาคารออมสิน 1.66 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงแนวนโยบายกึ่งการคลังของรัฐบาลที่เน้นช่วยเหลือโครงการประเภทธุรกิจและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรของ ธ.ก.ส. Tags : คสช. • ธนาคาร • แบงค์ • แคมเปญ • สินเชื่อ • กระตุ้นเศรษฐกิจ