'ยูเอ็มไอ'ขอ2ปีฟื้นทีทีซีเล็งดันเข้าตลาดหุ้น

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 15 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์" ขอเวลา 2 ปี พลิกฟื้นธุรกิจ "ทีทีซี" และดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2559

    นางปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทเข้าซื้อกิจการของ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ RCI ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องแบรนด์อาร์ซีไอ และเข้าซื้อกิจการบริษัทที.ที.เซรามิค จำกัด หรือทีทีซี ผู้ผลิตกระเบื้องแบรนด์พอร์ซเลนนั้น ทำให้ธุรกิจของบริษัทครบวงจร

    "การเข้าลงทุนใน 2 บริษัท ก็เพื่อที่จะผลักดันให้ UMI GROUP ก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัทที่มีสินค้าในกลุ่มกระเบื้องและบุผนังครบวงจร ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่สำคัญลดคู่แข่งในตลาดของเราด้วย"

    โครงสร้างธุรกิจของยูเอ็มไอ กรุ๊ป ประกอบด้วย บริษัทสหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนัง แบรนด์ดูราเกรส-ลีลา และกระเบื้องโมเสคยูเอ็มไอ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โดยยูเอ็มไอ ถือหุ้นสัดส่วน 32% มูลค่าลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท และบริษัท ที.ที.เซรามิค จำกัด ผู้ผลิตกระเบื้องแบรนด์พอร์ซเลน ยูเอ็มไอ ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท

    สาเหตุที่เข้าไปซื้อกิจการของทีทีซี เมื่อปี 2555 เนื่องจากได้รับการติดต่อจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ของทีทีซี ให้เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูทีทีซี เนื่องจากเจ้าหนี้มั่นใจในศักยภาพของยูเอ็มไอว่า จะสามารถแก้ปัญหาสถานะการเงินของทีทีซี และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ เพราะ ยูเอ็มไอ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว

    "เราใช้เงินลงทุนในทีทีซีประมาณ 400 ล้านบาท ยอมรับว่าคุ้มไหม เพราะเราได้ทรัพย์สินมาในราคาส่วนลด แต่ที่ผ่านมาต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาภายในของ ทีทีซี ทำให้กินเวลาพอสมควร กว่าที่ทุกอย่างจะเข้าที่"

    ก่อนหน้านี้ กระบวนการผลิตทุกอย่างของทีทีซีหยุดหมด แต่เมื่อยูเอ็มไอ กรุ๊ป เข้าเคลียร์ปัญหาต่างๆ เรียบร้อย ทำให้ขณะนี้โรงงานทีทีซีโรงงานเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้ง และเริ่มมีออเดอร์จากต่างประเทศกลับมา

    "โดยคาดว่า ปีหน้าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น หากมีการใช้กำลังการผลิตเกิน 60% ทีทีซีจะกลับมามีกำไรทันที โดยยูเอ็มไอ กรุ๊ป เตรียมผลักดันทีทีซี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2559 หรืออย่างช้าในปี 2560"

    การลงทุนในทีทีซีถือว่าคุ้มค่า หากจะต้องลงทุนเอง ด้วยเงินลงทุน 500 ล้านบาท ได้ทั้งโรงงาน และเครื่องจักร ในปัจจุบันคงทำได้ยาก เพราะต้นทุนค่าวัสดุ ค่าก่อสร้างสูงขึ้น นอกจากนี้ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง

    อีกทั้งการที่เราเข้าซื้อกิจการของทีทีซี ยังเป็นการลดจำนวนคู่แข่งลงได้ ที่สำคัญ ทีทีซี มีจุดขายสำคัญ คือ จับตลาดบน และมีกลุ่มลูกค้าส่งออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยเสริมจุดแข็งให้กับยูเอ็มไอ กรุ๊ป ที่จับลูกค้าในตลาดกลาง และตลาดกลางบน

    นางปวีณา ยอมรับว่า ภาพรวมธุรกิจปีนี้ไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ แม้เบื้องต้นจะทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นความกลับมา แต่ต้องใช้เวลากว่าที่สถานการณ์ต่างๆ จะเข้าที่ ซึ่งแน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยรวมของยูเอ็มไอ กรุ๊ป ให้ชะลอตัวตามภาพรวมธุรกิจ

    สำหรับผลการดำเนินงานของยูเอ็มไอ ตั้งแต่ปี 2553-2556 มีรายได้รวม 2,619.02 ล้านบาท 2,703.16 ล้านบาท 3,824.11 ล้านบาท และ 3,861.26 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2 ปีนี้ สําหรับงบเฉพาะกิจการ บริษัทมีรายได้รวม 802 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14 ล้านบาท หรือ 2% เป็นผลมาจากมีกำไรจากการขายที่ดินเปล่า 100 ล้านบาท รายได้จากการขายลดลง 31 ล้าน หรือ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว

    "สหโมเสคอุตสาหกรรม มั่นใจว่า แนวโน้มธุรกิจในปี 2558 จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดเกมรุกของยูเอ็มไอ กรุ๊ป หลังจากฟื้นฟูทีทีซีสำเร็จ ซึ่งทำให้การทำการตลาดกระเบื้องได้อย่างครบวงจร ทั้งในและต่างประเทศ"

    Tags : ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ • UMI • ทีซีซี • เข้าตลาดหุ้น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้