เอกชนหนุนรัฐบาลเก็บภาษีที่ดินและมรดก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและพัฒนาท้องถิ่น นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่เป็นการสานต่อนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะการเดินหน้าปฎิรูปหลายด้าน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลในอดีตเคยมีแนวคิดที่จะดำเนินการแต่ยังไม่สำเร็จ โดยต้องติดตามการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเดินหน้าและผลักดันให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งหากดำเนินการได้จริงก็จะเป็นผลดี จะทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีรายได้จากภาษีมากขึ้น และ นำไปสร้างสาธารณูปโภคพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ นอกจากนี้มองว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างอยู่ เพราะที่ผ่านมาอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าและต่ำกว่าที่คาด โดยมีการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น ซึ่งหากเต็มประสิทธิภาพ และ เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง เช่น ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ และ รถไฟเชื่อมจังหวัดชายแดน จะสนับสนุนให้เม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่น และ สนับสนุนการค้าชายแดน ให้ขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 17 กันยายนนี้ คาดว่า กนง.จะมีมติ ให้คงอัตรานโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง รวมทั้งประเมินว่า กนง. จะยังคงระดับนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนคลายไปจนถึงสิ้นปี เพื่อรักษาแรงส่งของการฟื้นตัว และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ไม่ได้กดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายแต่อย่างใด โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 1.83 ในเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยจากระดับร้อยละ 1.81 ในเดือนก่อนหน้า จึงนับว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ใกล้ค่ากึ่งกลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงร้อยละ 0.5-3.0 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ ด้านนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายจะออกกฎหมายปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ว่ามีความเป็นไปได้ครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย และการผลักดันกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้ เพราะต้องยอมรับว่าการเมืองไทยอยู่ในมือของคนรวย ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 50-60 ครอบครัว Tags : เบญจรงค์ สุวรรณคีรี • เอกชน • รัฐบาล • ภาษีที่ดิน • ภาษีมรดก