เลิศรัตน์:อย่ามองข้ามพลังงานทางเลือก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เลิศรัตน์ : อย่ามองข้ามพลังงานทางเลือก แนะเสริมศักยภาพ "เอสเอ็มอี" รับเออีซี

    รายการ Ringside สังเวียนหุ้น ทางสถานีโทรทัศน์ NOW26 ตอน "อนาคตเศรษฐกิจไทยในเออีซี" กับข้อเสนอให้รัฐเพิ่มขีดแข่งขันให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และอย่าลืมให้ความสำคัญพลังงานทางเลือก

    พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนทหารเข้าควบคุมอำนาจอย่างมาก ช่วงนั้นเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ไม่มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะไม่มั่นใจในเสถียรภาพการเมืองไทยซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจจะลงเหว เพราะคงไม่มีใครมาลงทุนในประเทศไทยแน่นอน

    แต่หลังจากที่มีการควบคุมอำนาจและตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็เริ่มมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะการเมืองมีความสงบนิ่ง มีเสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจ

    "การเมืองไม่ได้สงบนิ่งแบบนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ผมไม่ได้เชียร์ทหารเพราะว่าเป็นทหารด้วยกัน แต่ตอนนี้มันมีความสงบเรียบร้อยกว่าก่อนจะมีการควบคุมอำนาจจริงๆ มีความนิ่งทางการเมือง ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ไม่มีทางเลือกอื่น เหมือนขี่ม้าขาวมาช่วยประเทศ เพราะช่วงที่ผ่านมามันสุดกู่จริงๆ เศรษฐกิจตอนนี้เริ่มเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์แล้ว" พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุ

    มั่นใจ ศก.ฟื้นต่อเนื่อง

    ประธานกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมาจากความมั่นใจของภาคเอกชนที่กล้าลงทุนมากขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะโตได้ประมาณ 4% และจะเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณ 2%

    ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากโครงการลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะกลับเข้ามา หลังจากชะลอไปช่วงที่ไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง ประเมินว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตได้ระดับ 4-5% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

    "การที่เศรษฐกิจจะโตได้ตามเป้าหมายมันต้องมีหลายอย่างเป็นส่วนประกอบ ทั้งการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาล ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตได้ไม่เต็มที่ เพราะเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาลไม่มี เวลาที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ก็ต้องไปนั่งปราบคนบนถนน ทุกอย่างมันก็ไม่เดิน แต่ตอนนี้ทำงานได้เต็มที่ เศรษฐกิจก็น่าจะเดินได้เต็มที่เช่นกัน"

    ปฏิรูป ปท.สร้างเชื่อมั่น

    พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในมือ ก็ต้องใช้วิกฤติในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศให้มีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งแผนงานก่อนหน้านี้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ระบุชัดเจนแล้วว่าต้องปฏิรูปการเมือง การปกครอง การศึกษา การปราบทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นหัวใจที่เราต้องเดินหน้า

    "ภาคเอกชนไทยเก่ง แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นจากภาครัฐก็คงเคลื่อนไปได้แบบช้าๆ การกระตุ้นจากภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการกระตุ้นเอสเอ็มอี เป็นการบ้านสำคัญสำหรับรัฐบาล ตอนนี้รัฐบาลได้เปรียบที่จะทำงานเพราะไม่มีฝ่ายค้าน จะทำอะไรก็ได้ตามความเหมาะสม แถมมีสนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลใหม่อีก เวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลที่จะปฏิรูปให้ประเทศเดินหน้าอย่างมั่นคงในระยะยาว"

    เสริมศักยภาพเอกชนลุยเออีซี

    พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ความมุ่งหมายหลักของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) คือ การร่วมมือกันระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลก ดังนั้นการที่มีคนบอกว่าไทยจะเสียเปรียบมากเมื่อเปิดเออีซีนั้น คงไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่ได้แข่งกับคนในภูมิภาค แต่ต้องร่วมมือกันเพื่อแข่งกับภูมิภาคอื่นมากกว่า

    ทั้งนี้ การเปิดเออีซี ไทยมีทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ที่เสียประโยชน์ก็เพราะความสามารถในการแข่งขันของเราต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เราอาจมีแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ แต่ค่าแรงเราก็สูง ดังนั้นการจะเดินหน้าอะไร เรายังต้องพึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ทักษะภาษาที่เรายังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่เราจะได้เปรียบเรื่องระบบโลจิสติกส์ และที่ตั้งของประเทศซึ่งเป็นศูนย์กลางทั้งการลงทุนและการขนส่งสินค้า

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุด คือ การเสริมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อให้เติบโตได้ในเออีซีได้อย่างมั่นคง ที่ผ่านมามีผลสำรวจของหอการค้าชัดเจนว่า ผู้ประกอบการไทยไม่มีความพร้อม และคงปรับตัวไม่ทันการเปิดเออีซี

    ผลสำรวจระบุว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเอสเอ็มอีมากกว่า 63.1% หรือประมาณ 321,000 ราย จากจำนวนเอสเอ็มอีในภาคการผลิตทั้งหมด512,000 ราย คิดว่าปรับตัวเองไม่ทันเปิดเออีซีในปี 58 โดยเอสเอ็มอีที่ปรับตัวไม่ทัน พบว่า อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ประมง ไก่ และยางพาราส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวไม่ทัน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

    "ปีแรกที่เปิดเออีซี คงไม่ได้เห็นว่าใครจะได้เปรียบกว่าใคร เพราะทุกอย่างต้องดูระยะยาว หากประเทศไทยมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น ทั้งการเดินทางทางอากาศ พัฒนาทางรถไฟ และท่าเรือ เราจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งทุกอย่างต้องดูใน 5-10 ปี ไม่ใช่แค่เรื่องวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ถ้าตอนนี้เรายังไม่มีการเตรียมรับมือแล้ว ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศในอาเซียน เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากเออีซีอย่างไร และยังจะเสียโอกาสในการเข้าไปลงทุนตั้งบริษัทในประเทศเพื่อนบ้าน หากปล่อยไว้ กลุ่มที่ปรับตัวไม่ทันจะทยอยปิดกิจการไปในที่สุด"

    จับตาพลังงานทางเลือก

    พล.อ.เลิศรัตน์ ซึ่งนั่งเป็นบอร์ด ปตท.สผ. (บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) มานานถึง 12 ปี กล่าวทิ้งท้ายว่า ปริมาณสำรองพลังงานในประเทศไม่ได้มีอยู่เยอะอย่างที่หลายฝ่ายระบุ อย่างก๊าซในอ่าวไทยที่มีการสำรวจได้ มีปริมาณสำรองได้เพียง 6-8 ปีเท่านั้น ตอนนี้เราต้องเริ่มศึกษาหาพลังงานทางเลือกเพื่อมารองรับการใช้พลังงานของประเทศในอนาคต โดยพลังงานทางเลือกเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การใช้พลังงานของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

    "จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งผลให้บริษัทพลังงานทางเลือกเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีรายได้ที่ชัดเจน เพราะมีสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต่อเนื่อง ส่งผลให้หุ้นพลังงานทางเลือกกลายเป็นดาวรุ่งในตลาด เพราะเราลงทุนวันนี้ เราจะเห็นเลยว่าบริษัทจะมีรายรับรายจ่ายเท่าไร รัฐสนับสนุนเท่าไร จะเติบโตมากแค่ไหน"

    Tags : พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช • พลังงาน • เออีซี • การเมือง • รัฐบาล • สังเวียนหุ้น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้