ใครที่ติดตามข่าวสารบน Blognone คงจะเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับ (self-driving car หรือ autonomous vehicle) อยู่บ้าง อย่างล่าสุดที่กูเกิลนำเสนอความคืบหน้าโครงการรถยนต์ไร้คนขับที่ตอนนี้สามารถหลบพื้นที่ก่อสร้าง ข้ามทางรถไฟ เข้าใจสัญญาณมือได้แล้ว แต่ปัญหาหนึ่งของการผลักดันรถยนต์ไร้คนขับให้ออกสู่ตลาดได้นั้นคือเรื่องของกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ในสหรัฐนั้น กูเกิลได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติในหลายมลรัฐให้รับรองกฎหมายอนุญาตให้การใช้งานรถยนต์ไร้คนขับเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากที่มลรัฐเนวาดา ฟลอริดา และแคลิฟอร์เนีย ให้การรับรองกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามก็อาจยังมีปัญหาทางด้านข้อตกลงระหว่างประเทศอยู่ ซึ่งมีผลต่อการแก้กฎหมายในประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกนี้ อาทิ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการจราจรบนถนน (United Nations Convention on Road Traffic) ซึ่งระบุว่า ผู้ขับจะต้องสามารถควบคุมยานพาหนะหรือกำหนดทิศทางของสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะตลอดเวลา แต่ล่าสุดปัญหานี้ได้หมดไปแล้วครับ หลังจากหลายประเทศในยุโรปอย่าง เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ที่มีผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำหลายเจ้าซึ่งเชื่อว่าพวกเขาพร้อมที่จะนำรถยนต์ไร้คนขับออกสู่ตลาดตั้งอยู่ ผลักดันมาเป็นเวลานาน เมื่อเดือนที่ผ่านมาก็ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาดังกล่าว โดยยอมให้รถยนต์สามารถขับด้วยตัวเองได้ตราบเท่าที่ระบบขับรถยนต์ด้วยตัวเองนั้นถูกยกเลิก (overridden) หรือถูกปิดด้วยคนขับได้ และจะต้องมีผู้ที่ขับรถยนต์ได้ประจำอยู่ ณ ตำแหน่งคนขับและสามารถที่จะควบคุมยานพาหนะได้ตลอดเวลา มี 72 ประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาดังกล่าว อาทิ ประเทศในสหภาพยุโรป เม็กซิโก ชิลี บราซิล และรัสเซีย ดังนั้นประเทศเหล่านี้สามารถแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับปรับปรุงนี้ได้ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญานี้ Thomas Weber หัวหน้าฝ่ายวิจัยของเดมเลอร์ บริษัทแม่ของค่ายรถชั้นนำเมอร์เซเดส-เบนซ์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในที่สุดเขาสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ในระดับหนึ่ง (to a limited extent) ใครที่ติดตามข่าวรถยนต์ไร้คนขับจากค่ายดาวสามแฉกก็คงเคยเห็นข่าวการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับรุ่น S-Class รุ่นล่าสุด ด้วยความเร็ว 120 ไมล์ต่อชั่วโมง เป็นระยะทางกว่า 103 กิโลเมตรเมื่อปีที่แล้ว ค่ายดาวสามแฉกนี้ใช้ระบบแผนที่ HERE ของโนเกีย ซึ่งมีข้อมูลสภาพเส้นทางที่รถยนต์ทดสอบจะใช้อย่างละเอียดในรูปแบบโลกเสมือนจริง (virtual reality) ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์ Automobile, Law