คลังชงแผนก่อหนี้3.82แสนล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 13 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สบน.เตรียมแผนการก่อหนี้ใหม่เสนอรัฐบาล ปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 3.82 แสนล้านบาท เป็นหนี้รัฐบาล 2.57 แสนล้านบาท

    คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีมติเห็นชอบ และเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยวงเงินการบริหารอยู่ที่ 1.43 ล้านล้านบาท

    นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าในจำนวนนี้เป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจรวม 3.82 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การบริหารความเสี่ยงของหนี้ และแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ต้องขอ และไม่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

    "แผนทั้งหมดนี้ เพื่อให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจสามารถบริหารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประหยัดภาระดอกเบี้ยในอนาคต บริหารหนี้ให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังโดยมีต้นทุนการเงินต่ำภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม"

    ทั้งนี้ แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ จะแบ่งเป็น 1.การก่อหนี้ของรัฐบาลวงเงิน 2.57 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท การกู้เงินบาทเพื่อทดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศวงเงิน 4,700 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมประกันภัยพิบัติวงเงิน 2,500 ล้านบาท

    2.การกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อวงเงินรวม 59,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้ต่อวงเงิน 26,300 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียงช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และกู้เงินเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อวงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สายสีแดง) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

    3.การก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจ วงเงินรวมประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการจัดซื้อรถโดยสารเชื้อเพลิงธรรมชาติ 3,183 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โครงการก่อสร้างและปรับปรุงขยายของการประปาส่วนภูมิภาค การปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น

    "ในแผนการก่อหนี้ใหม่ทั้งหมดนี้ ได้มีการบรรจุวงเงินกู้สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งรวมประมาณ 9.97 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่ดำเนินโครงการต่อเนื่องวงเงินประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท โครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยปี 2558-2565 วงเงินประมาณ 4.56 หมื่นล้านบาท"

    ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว คาดว่า จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2558 อยู่ในระดับ 47.2% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 7.1% ซึ่งไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%
    สคร.จี้รสก.เร่งเบิกจ่ายภายในธ.ค.

    ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ได้มีการประชุมเพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ร่วมกับรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่จำนวน 11 แห่ง ตามนโยบายของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

    สคร.ได้ขอความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจ ที่ใช้งบตามปีปฏิทินให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อในช่วงที่เหลือของปี หรือภายในธ.ค. 2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 95% ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ และสำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ให้เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของการจัดสัมมนา ขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.2557 ซึ่งช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558

    สำหรับผลการเบิกจ่ายสะสมในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา (รอบ 11 เดือนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ และ 8 เดือนของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน) รัฐวิสาหกิจมีผลเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมรวมทั้งสิ้น 142,403 ล้านบาท คิดเป็น 68% ของแผนเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม หรือ 42% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปีบัญชี 2557 รัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายได้ 70% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 หรือประมาณ 237,000 ล้านบาท

    ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด องค์การเภสัชกรรม โรงงานยาสูบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

    Tags : รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ • คลัง • แผนก่อหนี้ • จุฬารัตน์ สุธีธร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้