หุ้นกลุ่มแบงก์ถูกแรงเทขายกระหน่ำ เหตุหลากปัจจัยลบ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน แห่ขายหนีกฎอัยการศึก การเมืองวุ่นส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัว หุ้นกลุ่มแบงก์ถูกแรงเทขายกระหน่ำ เหตุหลากปัจจัยลบ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน แห่ขายหนีกฎอัยการศึก การเมืองวุ่นส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัว แม้สินเชื่อเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ภาพรวมแนวโน้มยังไม่ดี "เครดิต สวิส" ลดน้ำหนักลงทุนหุ้นแบงก์ไทยเหลือต่ำเกณฑ์เฉลี่ย หลังประเมินการเติบโตของสินเชื่อลดลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองไร้หนทางแก้ไข พร้อมปรับลดคาดการณ์กำไรกลุ่มแบงก์ไทยปีนี้ลงเหลือ 6% การเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2557 ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลงต่อเนื่องและระหว่างวันปรับขึ้นลงผันผวน และหุ้นแบงก์ที่มีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น ได้แก่ หุ้นแบงก์กสิกรไทย (KBANK) ปิดตลาดที่ราคา 190.50 บาทลดลง 0.50 บาท คิดเป็น 0.23% หุ้นแบงก์กรุงไทย (KTB) ปิดตลาดที่ราคา 18.30 บาท ลดลง 0.10 บาท คิดเป็น 0.54% หุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) ปิดตลาดที่ราคา 163 บาท ลดลง 0.50 บาท คิดเป็น 0.31% ส่งผลดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ลดลง 0.22% นายอดิศร มุ่งพาลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่หุ้นธนาคารปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากมีแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยกดดันหลายเรื่อง ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายของกองทุนที่เข้าไปลงทุนและติดปัญหาเรื่องกฎอัยการศึก จึงต้องลดสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่มีการประกาศเรื่องดังกล่าว ขณะที่ภาพรวมการเมืองไทยยังไม่มีความชัดเจน แม้จะมีความคืบหน้าให้เห็นแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าอาจจะชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต้องขายเพื่อลดความเสี่ยงออกไปก่อน "หุ้นกลุ่มธนาคารถูกรแรงเทขายทำกำไรออกมา ทำให้ปรับตัวสวนทางภาพรวมตลาดหุ้นไทย เพราะมีปัจจัยลบกดดันหลายเรื่อง ซึ่งฝ่ายวิจัยได้แนะนำให้นักลงทุนทยอยเลือกลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เพราะปัจจุบันราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งสามารถซื้อลงทุนได้ในระยะยาว" โบรกเกอร์รายหนึ่ง กล่าวว่า การที่หุ้นขนาดใหญ่อาจถูกแรงเทขายออกมา เพราะบางกองทุนมีเงื่อนไขไม่เข้าลงทุนในประเทศที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งไม่ว่าการลงทุนของกองทุนจะได้รับผลตอบแทนกำไร หรือขาดทุนก็ต้องขายออกมา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุน จึงแนะให้หาจังหวะเลือกซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงที่ราคาอ่อนตัว เพื่อสะสมไว้ในพอร์ตการลงทุน บล.ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า ปัจจุบันแรงขายจากต่างชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นที่ถูกลดน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI อย่างหุ้นแบงก์กสิกรไทย แบงก์ไทยพาณิชย์ เป็นต้น หากพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐาน ประเมินว่า ธนาคารขนาดใหญ่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าธนาคารขนาดเล็ก ต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการขยายตัว และคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้น โดยการที่ตลาดเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวของสินเชื่อเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่อาจกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์มากเกินไป เพราะแม้ผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ของกลุ่มธนาคารจะไม่แข็งแกร่ง แต่ยังคงสอดคล้องกับประมาณการโดยรวมของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แม้ยอดเอ็นพีแอลจะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลุ่มสินเชื่อที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นยังคงเป็นกลุ่มเดิม SME รถยนต์มือสองและสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ธนาคารยังมีงบดุลดีซึ่งสามารถลดผลกระทบจากการรับรู้ขาดทุนการให้สินเชื่อ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าช่วงเวลาที่หุ้นธนาคารมีราคาถูกได้ผ่านไปแล้ว และถึงเวลาที่นักลงทุนจะต้องเน้นการเลือกหุ้นขึ้น ซึ่งธนาคารขนาดใหญ่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าธนาคารขนาดเล็กเนื่องจากสินเชื่อธุรกิจจะขยายตัวสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยในอนาคตอันใกล้ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อ SME ขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเรื่องคุณภาพสินเชื่อมากที่สุด บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า คงคำแนะนำ Neutral กลุ่มธนาคาร และยังคงเลือกกสิกรไทย เป็น Top pick แต่หากเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ แนะนำหุ้นไทยพาณิชย์ เพราะจะมีกำไรพิเศษจากการขาย SCSMG ในไตรมาสนี้ และแนะนำให้หาจังหวะเลือกซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงที่ราคาอ่อนตัว เพื่อสะสมไว้ในพอร์ตการลงทุน เครดิตลดลงทุนแบงก์ไทยต่ำเกณฑ์ เครดิต สวิส วาณิชธนกิจชั้นนำของยุโรป เผยแพร่รายงาน"กลยุทธ์การเงินเอเชีย-แปซิฟิก....ปรับลดน้ำหนักลงทุนแบงก์ไทย" ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ของเครดิต สวิสหั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ ให้ขยายตัวได้เพียง 1.1% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตช้าที่สุดในภูมิภาค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นผลมาจากความวุ่นวายทางการเมือง การเติบโตของจีดีพีไทย 1.1% มีแนวโน้มจะกดดันสุขภาพการเงินของลูกหนี้ และส่งผลต่อเนื่องต่อต้นทุนการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร จึงปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารไทยเหลือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย จากเดิมให้น้ำหนักลงทุนปานกลาง รายงานเพิ่มเติมว่า ภาคธนาคารยังเป็นตัวสะท้อนอาการทางเศรษฐกิจของไทยด้วย เพราะการเติบโตของจีดีพีช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการสินเชื่อ ขณะที่ดอกเบี้ยและกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ ล้วนมีบทบาทอย่างมากต่อคุณภาพสินทรัพย์ ทีมงานของเครดิต สวิสได้ศึกษาดูภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีอิทธิพลต่อแรงขับเคลื่อนผลประกอบการกับกำไรของธนาคารว่าเป็นอย่างไรบ้าง และพบว่า การเติบโตของสินเชื่อมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการเติบโตของจีดีพีแท้จริง จากการศึกษาพบว่าการเติบโตของสินเชื่อในภาคธนาคารไทยอาจลดลงต่อเนื่อง ในเวลาที่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองเจอทางตันขณะนี้ เครดิต สวิส มองว่าการเติบโตของจีดีพียังส่งผลไปถึงกระแสเงินสดหมุนเวียนบริษัท และยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารด้วย และด้วยแรงกดดันมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกับคุณภาพสินทรัพย์ลดลง อาจทำให้ธนาคารไทยเผชิญกับภาวะต้นทุนสินเชื่อสูงขึ้นได้ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ในอนาคตก็ขึ้นอยู่อัตราหรือความช้ากับเร็วในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตรุนแรงอะไร แต่ทีมงานเครดิต สวิสแสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนของไทย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคเอกชนเป็นผลจากการกู้ยืมของภาคครัวเรือนในประเทศ รายงานของเครดิต สวิส วิเคราะห์ว่า ในวงการนักวิเคราะห์ด้านธนาคาร ได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตของกำไรธนาคารในอินเดียและไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเดือนเม.ย.ปีนี้ บรรดานักวิเคราะห์ได้ทบทวนคาดการณ์การเติบโตของกำไรปีนี้ ของทั้งธนาคารไทยและธนาคารอินเดีย และทั้งๆ ที่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของกำไรธนาคารในอินเดียลงแล้วเหลือ 20% แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังถือว่าดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค แต่ตัวเลขโดนปรับลดของธนาคารไทยเหลือตัวเลขเดียวที่ 6% ซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงขาลงยังมีต่อเนื่อง ทั้งนี้เครดิต สวิสมองว่าหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์น่าขายมากที่สุด พร้อมระบุว่าจะยังคงถือหุ้นธนาคารกสิกรไทยไว้ Tags : ต่างประเทศ • ตลาดหุ้น • ธนาคาร • กฎอัยการศึก