เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา Jason Chen ซีอีโอของบริษัท Acer ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานในประเทศไทย โดยมีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าพบและสัมภาษณ์ ซึ่ง Blognone ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเข้าพบดังกล่าวนี้ด้วย Jason Chen ซีอีโอของ Acer Inc. ซีอีโอของ Acer คนปัจจุบันท่านนี้ ก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่งที่ Acer นั้น ทำงานอยู่กับทาง IBM, Intel และ TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปจากไต้หวันมาก่อน โดยตำแหน่งสุดท้ายของ Jason Chen ที่ TSMC คือรองประธานบริษัทฝ่ายขายและการตลาด ก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นซีอีโอของ Acer เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ วิสัยทัศน์ และความเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าใจก่อนว่า Acer มีกลุ่มธุรกิจต่างๆ อยู่ในมือเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มธุรกิจจำนวน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน แต่ก็ทำงานร่วมกัน (Jason กล่าวว่าหัวหน้าแต่ละกลุ่มธุรกิจต้องแข่งกันเองด้วย) ได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (ทั้งพกพาและตั้งโต๊ะ) เป็นกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของ Acer แต่แรก อุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น เครื่องฉายภาพและหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์และ eBusiness ซึ่งเป็นสายงานด้านองค์กรเป็นหลัก สมาร์ทโฟน Jason เริ่มต้นด้วยการพูดถึงสถานการณ์ของ Acer ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างจะเมาหมัดของตัวเองพอสมควรว่า เกิดจากสภาพของการที่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบเดิม อันเป็นธุรกิจหลักของบริษัทไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่มากอีกต่อไป ยุทธศาสตร์ของ Acer จึงเป็นเรื่องของการขยายเข้าสู่พรมแดนในตลาดอื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรมแดนเหล่านั้นคือบรรดาตลาดอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย รวมถึง Chromebook (ในการพบปะสื่อมวลชนครั้งนี้ Chromebook ถูกยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นจำนวนบ่อยครั้งมาก) แต่ยุทธศาสตร์ของการขยายไปสู่พรมแดนของอุปกรณ์ใหม่ๆ อย่างเดียวอาจจะไม่พอ สิ่งที่ Acer ทำคือการสร้างยุทธศาสตร์คู่ขนาน (two-fold strategy) ซึ่งประกอบไปด้วย Connected Devices ที่เป็นฝั่งของอุปกรณ์ต่างๆ ของ Acer ซึ่งในตลาดนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก โดยคุณ Jason ระบุว่าในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเหมือนกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล กล่าวคือในกลุ่มตลาดแบรนด์ระดับพรีเมียมอย่าง IBM, Compaq, HP ต่างก็ประสบปัญหาทั้งสิ้น จนกระทั่งถ้าไม่เลิกกิจการก็ขายทิ้งให้คนอื่นทำ ส่วนตลาดล่างก็เหมือนสงครามดุเดือด สิ่งที่ Acer ทำในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คือการวางตัวเป็นผู้ผลิตระดับกลาง ซึ่งทำให้รอดมาจนทุกวันนี้ และจะใช้แนวทางนี้กับอุปกรณ์ของ Acer ในทุกตลาด ไม่ว่าจะโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต BYOC หรือ Built Your Own Cloud ในฐานะที่เป็นแนวทางซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถดึงข้อมูลได้จากทุกอุปกรณ์ในทุกๆ ที่ กรณีนี้คุณ Jason ยกตัวอย่างว่า ผู้คนมักจะนิยมการเก็บข้อมูลเอาไว้ในฮาร์ดดิสก์ มากกว่าจะเก็บไว้บนคลาวด์ คำถามก็คือ จะแก้ไขการเข้าถึงข้อมูลนอกสถานที่ได้อย่างไร เพราะคนเราไม่ได้พกฮาร์ดดิสก์ไปทุกๆ ที่ ซึ่งสิ่งที่ Acer ทำ คือยุทธศาสตร์ที่ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น มากกว่าจะไปวางข้อมูลเหล่านั้นบนคลาวด์ เป้าหมายคือทำให้อุปกรณ์ตั้งแต่ 3 นิ้ว ไปจนถึง 33 นิ้วของ Acer ทำงานร่วมกันได้ ในเชิงตัวเลขผลประกอบการ ไตรมาสล่าสุดของ Acer (ไตรมาส 2 ปี 2014) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 250.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 212.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (ไตรมาส 4 ปี 2013) ซึ่งอยู่ที่ 33.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคุณ Jason เน้นว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของบริษัทสามารถใช้ได้จริง นอกจากนั้นแล้ว คุณ Jason ยังอ้างตัวเลขของบริษัทวิจัย IDC ที่ระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2014 ส่วนแบ่งทางการตลาดของ Acer ขยับขึ้นมาจาก 7% เมื่อสิ้นไตรมาสที่แล้ว มาเป็น 7.9% และยอดส่งมอบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จากเดิมที่ -14.3% ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 14.3% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2014 ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิม และมากกว่าคู่แข่งในไตรมาสเดียวกับ (Lenovo อยู่ที่ 12.2% ในไตรมาสที่ 2) ตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สิ่งที่ Jason ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นแนวโน้มใหม่ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และจะสำคัญมากๆ ในอนาคต ที่กำลังเริ่มมามีสองอย่าง คือ Chromebook และแท็บเล็ตแบบ 2-in-1 สำหรับ Chromebook แม้จะยังไม่มีขายในประเทศไทย แต่ในระดับโลกแล้วกลับขายดีมาก ตัวเลขที่ทาง Acer อ้างจากสำนักวิจัย NPD คาดการณ์ไว้สำหรับอัตราการเติบโตของ Chromebook เมื้อสิ้นปี 2014 จะอยู่ที่ 76% จากปีที่แล้ว แต่ภายในไม่กี่เดือน ตัวเลขการเติบโตที่ถูกคาดการณ์กลับแพ้ตัวเลขจริงที่ 114% เมื่อนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน โดย Acer มีส่วนแบ่งการตลาด Chromebook มากที่สุด Acer พบว่าเหตุผลที่ Chromebook ได้รับความนิยมอย่างมาก มาจากเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดูแลและบริหารจัดการที่ต่ำมาก เพราะ Chromebook มีโครงสร้างที่เรียบง่ายกว่า, ความนิยมที่เริ่มต้นจากในสถานศึกษา ทำให้ไปสู่ตลาดอุปกรณ์ภายในบ้านอย่างรวดเร็ว และการมีราคาที่ “เหมาะสม” (right spot) อีกตลาดหนึ่งคือแท็บเล็ตแบบ 2-in-1 (อย่างเช่น Microsoft Surface, Acer Switch 10) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะสามารถใช้งานได้หลากหลายมากกว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ (กล่าวอีกอย่างคือไม่ต้อง “เสีย” อย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งในเชิงของยอดขาย Jason ระบุแต่เพียงว่า ขายได้ “ดีมาก” สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา อุปกรณ์อื่นๆ, คลาวด์ และบริการ ในเรื่องของอุปกรณ์ต่อเชื่อม Jason ระบุว่าในกลุ่มนี้ โปรเจคเตอร์กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นที่สุด โดยเป็นผู้นำของตลาดในเมืองไทย ส่วนในเยอรมนีก็ได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของตลาดจากผู้อ่านในสื่อที่เยอรมนี สำหรับธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Acer ระบุว่าเติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2012 ที่เริ่มต้นทำตลาดในยุโรปก่อน ซึ่งในปัจจุบันมีวางขายแล้ว 31 ประเทศทั่วโลกในปีนี้ (เป้าหมายในปีนี้ตอนแรกอยู่ที่ 25 ประเทศเท่านั้น) โดยในประเทศไทย Acer ถือเป็นอันดับที่ 3 ในเชิงยอดขาย ตามหลังคู่แข่งอย่าง Apple และ Samsung เท่านั้น ซึ่งในยุโรป Acer สามารถเริ่มจะมีที่ยืนได้แล้ว โดยเป็นที่ 3 ในเบลเยียมเช่นกัน เรื่องของอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ที่เพิ่งจะเปิดตัวไป (Liquid Leap) Jason ออกมาระบุว่าได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนอย่างมาก โดยยกตัวอย่าง CNET ที่จัดลำดับอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่แล้วได้อันดับที่ 3 (อ้างอิง) ซึ่ง Jason ระบุว่า รุ่นนี้เป็นเพียงรุ่นแรกเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ทาง Acer กำลังเตรียมรุ่นที่สองเอาไว้แล้ว นอกเหนือจากอุปกรณ์แล้ว Jason ยังกล่าวถึงเรื่องของคลาวด์ว่าเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ สิ่งที่ Acer ทำในเวลานี้ คือการสร้างแพลตฟอร์มด้านคลาวด์เป็นของตัวเอง รวมไปถึงการสร้างศูนย์ข้อมูลของ Acer เองด้วยเช่นกัน แต่มากกว่านั้นคือการที่ Acer เริ่มมีบริการให้คำปรึกษากับบริษัทที่ต้องการสร้างระบบคลาวด์ของตัวเองด้วย ซึ่ง Acer เองขายผลิตภัณฑ์ในสายองค์กรด้วย ทำให้บริการส่วนนี้เป็นตัวส่งเสริมผลิตภัณฑ์กลุ่มองค์กรไปในตัว แต่สิ่งที่ Acer วาดภาพไว้ไกลกว่านั้น คือการสร้างระบบแวดล้อม (ecosystem) เป็นของตัวเอง โดยล่าสุด Acer กำลังที่จะนำเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Acer Extended ซึ่งเหมือนกับเทคโนโลยีอย่าง Samsung SideSync, Motorola Connect หรือ iOS Continuity เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งจะมีใช้กับเฉพาะคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนของ Acer แต่เพียงอย่างเดียว หรืออย่างในกรณี Liquid Leap ที่ใช้ได้เฉพาะกับสมาร์ทโฟนจาก Acer เท่านั้น ทั้งหมดเป็นไปเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าภายใต้สภาวะแวดล้อมเดียว และทุกอย่างทำงานร่วมกันได้ ช่วงถามตอบ หลังจากจบการนำเสนอ คุณ Jason เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม ซึ่งผมมีโอกาสรวบรวมคำถามที่น่าสนใจมาดังนี้ครับ Acer จะหลุดพ้นจากสภาวะในปัจจุบันที่กำลังต่อสู้อย่างหนัก อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มทางเทคโนโลยีอย่างไร คิดว่าอีกกี่ปี? Jason: แล้วแต่ว่าคุณจะนิยามคำว่า turnaround อย่างไร ถ้าคุณหมายถึงถึงการหยุดสภาวะขาดทุน ตอนนี้ เราทำได้แล้วในสองไตรมาสที่ผ่านมา และจากการดูสภาพของตลาดแล้ว เราเชื่อว่าเราจะสามารถรักษาสถานการณ์นี้เอาไว้ได้ต่อไป ผมมีโอกาสคุยกับผู้ก่อตั้ง Acer ย้อนไปถึงสมัยที่ธุรกิจของ Acer ยังดีมาก เรามีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันมากถึง 11 แห่ง ซึ่งเราก็คงไม่กลับไปทำอย่างนั้นแน่ๆ เพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากยุคนั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหมายถึงการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมไอที เราก็พยายามทำอยู่ ในตลาดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเราไปได้ดีมาก แต่ในตลาดอื่นเราก็พยายามจะไปให้ถึงจุดนั้น เช่น Acer Switch 10 ที่เสียงตอบรับดีมาก หรือ Chromebook ก็ประสบความสำเร็จระดับเดียวกัน เป้าหมายของเราในอนาคตคือต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรม และผมเชื่อว่าเราน่าจะทำได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ซีอีโอของ Bestbuy บอกว่าตลาดแท็บเล็ตกำลังอยู่ในขาลง และจะหายไปในอีก 1-2 ปี จากนี้ คุณคิดอย่างไรบ้าง และยุทธศาสตร์ของ Acer จะเป็นอย่างไรบ้าง Jason: แท็บเล็ตเองได้รับความนิยมรวดเร็วมาก แต่เรายังไม่รู้ว่ามันจะพังลงมาหรือไม่ ข้อมูลแค่ช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนคงยากที่จะบอกว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งที่ผมพอบอกได้คือภาพรวมของตลาดยังคงไปได้ดี ปัญหาอยู่ที่ว่า เราพิจารณาว่าแท็บเล็ตแบบ 2-in-1 เป็นแท็บเล็ตหรือไม่ สำหรับผมแล้ว ผมวางมันไว้ในโน้ตบุ๊ค เพราะระบบปฏิบัติการข้างในยังคงเป็น Windows อยู่ อย่างไรก็ตามในอนาคตแท็บเล็ตที่ใช้ Windows จะโตขึ้นหรือไม่ เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อีกคำถามคือแท็บเล็ตขนาด 6-7 นิ้วที่ใช้เป็นโทรศัพท์ได้ ตกลงมันเป็นแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือเป็นโทรศัพท์กันแน่? ผมเชื่อว่าเส้นแบ่งความเป็นอุปกรณ์เหล่านี้กำลังจางหายไป ยุทธศาสตร์ของเราคือเมื่อตลาดเปลี่ยนไป เราต้องยืนอยู่ถูกที่ถูกเวลา ตลอดเวลาที่ผ่านมาของ Acer เราเข้าสู่ตลาดในช่วงเวลาที่มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้ว แต่เราก็สามารถหาที่ยืนของเราได้เสมอ และเราก็เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม ตอนนี้ในโลกของคนที่สนใจด้านเทคโนโลยี พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “Maker movement” กันว่าจะเป็นสิ่งที่มาแทนที่สมาร์ทโฟน Acer จะปรับตัวอย่างไรบ้าง Jason: เราใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติอยู่ในแผนกวิจัยเป็นหลัก แต่ถ้าถามว่าจะเป็นที่นิยมในอนาคตหรือไม่ ผมเองคงตอบไม่ได้ในตอนนี้ เรื่องนี้ขึ้นกับผู้ประกอบวิชาชีพ (professional) ในวงการมากกว่า ส่วนสมาร์ทโฟน เราเชื่อว่ามันยังไปได้แน่ๆ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และสิ่งที่เราพบคือ พอคงไปหน้าจอใหญ่ ก็ยากจะกลับมาที่หน้าจอเล็ก อะไรเป็นความท้าทายที่สำคัญของ Acer ในการเข้าสู่ตลาดอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่? มันเกี่ยวกับรูปแบบ (form factor) การแข่งขันที่รุนแรง หรือเป็นเรื่องของการแสวงหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเข้าสู่ตลาดนี้ Jason: ตลาดอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ยังเป็นตลาดที่ใหม่มาก เนื่องจากผมมีพื้นมาจากอุตสาหกรรมที่ทำเกี่ยวกับสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ผมคิดว่าธรรมชาติของตลาดนี้มันจะคล้ายกันกับอุตสาหกรรม semiconductor กล่าวคือต้องไปถึงจุดที่อุปกรณ์เริ่มที่จะใช้งานได้จริง (usable) เสียก่อน ตลาดนี้มีความท้าทายใหญ่ๆ อยู่สองอย่าง ผู้คนใช้อุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ไปทำไม? เพื่อสุขภาพ การนอนหลับ เดินได้กี่ก้าว พฤติกรรมเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้ทุกคนก็ยังไม่รู้ว่ามันจะไปอยู่ตรงจุดไหน เลยต้องลองตลาดก่อน เราพยายามตั้งคำถามว่าอะไรจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจซื้ออุปกรณ์เหล่านี้และใช้งานมันอย่างจริงจัง ระบบหลังบ้าน (back-end infrastructure) เรายังขาดระบบคลาวด์ที่เชื่อมต่อเข้ากับคลาวด์ทางการแพทย์ ถ้าเชื่อมต่อเข้ากันได้ ข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้จะมีประโยชน์มาก ไม่อย่างนั้นแล้วอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ก็จะเป็นแค่ของเล่นเท่านั้น Chromebook เป็นที่นิยมมากในหลายประเทศ คุณพอจะบอกได้ไหมว่ามันเป็นช่วงเวลาถึงจุดจบของแพลตฟอร์ม Windows แล้ว เพราะซีอีโอของไมโครซอฟท์เอง ก็ออกมาบอกว่า ไมโครซอฟท์กำลังมุ่งไปยังทิศทางของคลาวด์มากกว่า Jason: ผมคงไม่สามารถพูดได้ว่ายุทธศาสตร์คลาวด์ของไมโครซอฟท์ถูกต้องหรือไม่ แต่ผมไม่คิดว่า Windows จะใกล้ถึงจุดจบ เราเชื่อว่า Windows ยังคงอยู่ต่อไป และ Chromebook ก็เป็นอีกตัวเลือกให้กับผู้ใช้ จุดต่างของสองระบบนี้อยู่ที่รูปแบบของการใช้งาน Chromebook พิสูจน์ตัวเองว่ามันใช้งานได้ดีมากในตลาดของการศึกษา ตอนนี้มันกำลังเริ่มขยายมายังตลาดผู้บริโภคทั่วไป แต่กว่าจะเข้าที่เข้าทางคงอีกนาน เพราะผู้ใช้มักมีความลังเล (hesitation) ก่อนเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นอยู่เสมอ ในปีนี้ตลาดมือถือราคาถูกแข่งกันดุเดือดมาก อย่างเช่น ASUS Zenfone ที่ขายดีมากๆ Acer จะปรับตัวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง Jason: เราเชื่อว่าเราจะอยู่รอดด้วยประสบการณ์ของเราในตลาดกลาง ส่วนสมาร์ทโฟนตลาดล่าง ผมเชื่อว่าเราเหนือกว่าคนอื่นในด้านจุดขาย ศูนย์บริการ และแบรนด์ ผู้เล่นตลาดล่างอาจจะสนใจเฉพาะเรื่องราคาแต่ไม่ได้สนใจปัจจัยอย่างอื่น คำถามคือ เขาจะไปได้อีกนานแค่ไหน นี่ยังไม่ต้องนับถึงคดีการฟ้องร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกที่บริษัทเหล่านี้จะต้องเผชิญ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการซ่อมและการบริการ และผู้ผลิตที่สร้างกำไรต่อหน่วยต่ำมากๆ ก็จะมีปัญหาเหล่านี้ ผมคิดว่าเรามีศักยภาพพอในการรับมือเรื่องเหล่านี้ Special Report, Acer, Interview