คลังชง'จ้างงาน'กระตุ้นเศรษฐกิจ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 12 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    คลังชงโครงการ'จ้างงาน'กระตุ้นศก. วางกรอบถึงกลางปี2558 -เร่งเบิกงบค้างท่อ3แสนล้าน

    คลังเดินหน้านโยบายรัฐบาล วางกรอบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นถึงกลางปี 2558 ผ่านเบิกจ่ายงบค้างท่อ 3 แสนล้าน พร้อมชงโครงการจ้างงาน หวังอัดฉีดเงินเข้าระบบ ขณะเตรียมดันภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง-มรดก คาดเสร็จในรัฐบาล ขณะนักวิชาการหนุนเต็มที่ ชี้เป็นคุณูปการของประเทศ หากทำสำเร็จ แนะเพิ่มกฎหมายคุมวินัยการคลัง

    กระทรวงการคลังเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันกฎหมายด้านภาษีหลายฉบับเพื่อสร้างความเป็นธรรม รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลที่แล้ว

    นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในวันจันทร์ที่ 15 ก.ย. จะมีการประชุมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง เพื่อมอบนโยบายการทำงาน

    "แนวนโยบายจะสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ การปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึง มาตรการที่จะดูแลเศรษฐกิจในระยะต่างๆ"

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จากปีนี้จนถึงครึ่งแรกของปี 2558 จากนั้นจะกระตุ้นผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    "ระยะ 6 เดือนหลังของปี 2558 นั้น เรามองว่า เศรษฐกิจจะเดินไปได้ด้วยการลงทุนภาครัฐ แต่ระยะนับจากนี้ จนถึง 6 เดือนแรกของปี 2558 นั้น ภาคการส่งออกที่มีปัญหาจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แม้ขณะนี้ สัญญาณด้านการบริโภคจะเริ่มดีขึ้นบ้างก็ตาม ฉะนั้น สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ คือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยไม่กระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ"

    เร่งเบิกจ่ายงบค้างท่อกว่า3แสนล้าน

    นายกฤษฎา กล่าวว่ามาตรการระยะสั้นจะทำผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในส่วนงบค้างท่อที่รอการเบิกจ่ายทั้งในปี 2557 ซึ่งสำนักงบประมาณรายงานว่ามีงบค้างท่อที่รอการเบิกจ่ายรวมแล้วประมาณ 3.04 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบรอเบิกจ่าย ตั้งแต่ปี 2548-2556 จำนวน 1.04 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบค้างเบิกจ่ายในงบประมาณปี 2557 ประมาณ 2 แสนล้านบาท

    "งบค้างท่อที่ว่านี้ ถ้าเร่งรัดให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาด ซึ่งเราหวังที่จะให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ 2% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย โดยรัฐบาลได้รับทราบ และต้องการให้เงินส่วนนี้ ได้มีการเบิกจ่ายออกมา หากโครงการใดคิดว่า ไม่สามารถทำได้ ก็ให้คิดโครงการใหม่ เพื่อให้การเกิดการใช้จ่ายเงิน" เขากล่าว

    ชงมาตรการจ้างงานระยะสั้น

    นายกฤษฎา กล่าวว่าสศค.จะเสนอมาตรการที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยเร็ว ด้วยโครงการจ้างงานระยะเร่งด่วน ผ่านหน่วยงานรัฐ ทั้งกรมพัฒนาแรงงาน กรมอาชีวศึกษา สำนักงานการอุดมศึกษาแห่งชาติ กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย

    โครงการที่ทำได้ทันที ประมาณ 9 โครงการ เช่น โครงการเสริมความรู้ให้กับนักศึกษาอาชีวะ เพื่อเข้าอบรมเสริมความรู้ให้กับนักเรียนอาชีวะ พร้อมออกไปทำงานได้ทันที โครงการปรับปรุงโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจำนวนมากมีสภาพเสื่อมโทรม โครงการนี้จะจ้างนักเรียนอาชีวะเข้ามาช่วยปรับปรุง ,โครงการสร้างฐานข้อมูลการคลังท้องถิ่น ซึ่งจะมีการจ้างนักศึกษาหรือคนที่ต้องการงาน เข้ามาช่วยจัดเก็บข้อมูลเข้าระบบ และการซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท การต่อยอดโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าทำอยู่แล้ว

    "โครงการที่ว่ามานี้ ทางสศค.เห็นว่า เป็นโครงการที่จะผลักดันให้มีเม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบโดยเร็ว และ เกิดการจ้างงานจริง ซึ่งที่ผ่านมา สศค.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามทุกภาคเศรษฐกิจว่า มีความต้องการให้เข้าไปช่วยด้านใดบ้าง ก็ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นในแนวทางดังกล่าว"

    เตรียมแผนจ่ายหนี้ข้าว5แสนล้าน

    น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เผยว่า สบน.กำลังจัดทำแผนการบริหารจัดการหนี้ในส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลที่ผ่านมา ตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยหนี้จำนวน 7 แสนล้านบาทที่รัฐบาลระบุนั้น กำลังพิจารณาว่า เป็นหนี้ที่เกิดจากส่วนใดบ้าง และจะบริหารจัดการอย่างใด แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นนั้น หนี้ส่วนใหญ่หรือจำนวน 5 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา

    แผนในการบริหารจัดการหนี้จำนำข้าวเบื้องต้นนั้น ในปีงบประมาณ 2558 จะมียอดการชำระหนี้เข้ามาประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ เป็นการจัดสรรงบประมาณมาจำนวน 3 หมื่นล้านบาท และ อีก 6 หมื่นล้านบาท จะได้จากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์

    “หากคิดจากวงเงินหนี้คร่าวๆ แล้ว เราคาดว่า การบริหารหนี้ก้อนนี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการกับข้าวในสต็อก ขณะเดียวกัน ก็ต้องหารือกับทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว เพื่อให้ทราบว่าเมื่อปิดบัญชีได้แล้ว จะมีการชำระหนี้ส่วนที่เกิดผลขาดทุนในปีงบประมาณใด และ ใช้เวลาจำนวนเท่าใดในการชำระหนี้ทั้งหมด”

    เร่งผลักดันกฎหมายภาษีใหม่ในรัฐบาลนี้

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ากฎหมายใหม่ที่จะเกิดในรัฐบาลนี้ คือ ภาษีมรดกและ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา พยายามผลักดันมาหลายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน สอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ต้องการลดปัญหาการเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้

    สำหรับร่างกฎหมายภาษีมรดกนั้น กรมสรรพากรเป็นผู้ร่างกฎหมายนี้ และเป็นฉบับเดียวของการเสนอร่างกฎหมายกระทรวงการคลังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา สาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากผู้รับ โดยอัตราการจัดเก็บที่กรมสรรพากรเสนอ คือ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ไม่มีการจัดเก็บ ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 10%

    ส่วนประเภทของสินทรัพย์ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมรดก จะเป็นทรัพย์สินที่มีการลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ พันธบัตร เงินฝาก และ หุ้น เป็นต้น โดยทรัพย์สินนั้นจะนับทั้งที่อยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกณฑ์ของราคาทรัพย์สินจะมีการประเมินราคาย้อนหลัง ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการขึ้นทะเบียน เช่น พระเครื่อง นาฬิกา ของสะสมต่างๆ หากไม่มีการลงทะเบียนไว้ ในชั้นนี้ ยังไม่มีการจัดเก็บภาษี

    หวังประกาศใช้ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง

    แหล่งข่าวกล่าวว่าร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เป็นผู้ร่างกฎหมายนี้ และพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อนำใช้แทนที่พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะเป็นการปรับปรุงจากร่างเดิม ที่กระทรวงการคลัง เคยยกร่างมาแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

    ทั้งนี้ กำหนดเพดานภาษีให้สูงขึ้น เพื่อรองรับในอนาคตที่เศรษฐกิจประเทศขยายตัวมากกว่าปัจจุบัน เพราะหากกำหนดเพดานในกฎหมายหลักในอัตราที่ต่ำไป เมื่อมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราภาษีในอนาคต ก็จะต้องเสียเวลาในการยกร่างเพื่อเสนอสภาฯอนุมัติ

    เพดานภาษีใหม่ อาจกำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย และที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตรา ไม่เกิน 0.5 % ของมูลค่าที่ดินต่อปี โดยจะมีการกำหนดมูลค่าที่ดินที่มีการยกเว้นภาษีด้วย , ที่ดินเชิงพาณิชย์ในอัตราไม่เกิน 1%ของมูลค่าที่ดินต่อปี และที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรจัดเก็บในอัตราไม่เกิน 2%ของมูลค่าที่ดินต่อปี

    ทั้งนี้ สศค.ประเมินรายได้ ในกรณีนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่มาใช้ว่า จะมีรายได้ที่มากกว่ากฎหมายการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งทำรายได้ภาษีให้กับรัฐบาลท้องถิ่นรวมปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่หากนำกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มาใช้ โดยจัดเก็บอัตราภาษี เพียงครึ่งหนึ่งของอัตราตามเพดานที่กฎหมายกำหนด จะทำให้รัฐบาลท้องถิ่น มีรายได้มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท/ปี

    สำหรับเพดานภาษี ตามร่างเดิมที่เคยเสนอไว้นั้น กำหนดอัตราภาษีตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย จะจัดเก็บไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อปี , ที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.05%ต่อปี และอัตราทั่วไปหรืออัตราที่จัดเก็บกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบธุรกิจ จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5 %ต่อปี

    ทั้งนี้ รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดภาระการจัดงบประมาณของรัฐบาลกลาง ให้กับรัฐบาลท้องถิ่น ตามกฎหมายกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่น ที่ปัจจุบัน กำหนดให้ท้องถิ่นต้องมีรายได้ในสัดส่วน 26-27 % ของรายได้ของรัฐบาลกลาง

    แนะเพิ่มกฎหมายคุมการคลังระยะยาว

    นางณดา จันทร์สม คณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้ง 17 ด้านที่ออกมา ถือว่ามีการมองปัญหาได้อย่างรอบด้านและเดินมาถูกทาง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณ

    นางณดา กล่าวว่าอยากเห็นนโยบายสร้างกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งปัจจุบันแม้เราจะมีกรอบปฏิบัติงาน คือ พยายามดูแลหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ การออกกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้ในระยะยาว

    “สิ่งที่อยากเสริม คือ การสร้างกรอบความยั่งยืนทางการคลัง จริงอยู่แม้เราจะมีกรอบวินัยการคลังเรื่องการก่อหนี้ แต่อันนั้นก็เป็นแค่กรอบปฏิบัติงานเท่านั้น ดังนั้นถ้าทำได้ก็อยากให้ออกเป็นกฎหมายควบคุมการบริหารทางการคลังขึ้นมาเลย เพื่อที่จะใช้กับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย”นางณดากล่าว

    หนุนกฎหมายภาษีที่ดิน-ทรัพย์สิน

    นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าพอใจกับนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้น เพราะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า รัฐบาลจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรบ้าง รวมทั้งมาตรการที่ออกมา ล้วนแต่เป็นมาตรการที่ถูกต้องและชัดเจน ทั้งเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ การส่งเสริมสินค้าเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

    ส่วนมาตรการระยะที่สองที่เน้นการปรับโครงสร้างภาษีนั้น มาตรการที่ออกมานับว่ามีการมองภาพที่กว้างขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต โดยในอดีตที่ผ่านมาเราจะเห็นการปรับภาษีแค่บางจุด เช่น ภาษีรายได้นิติบุคคล กับภาษีบุคคลธรรมดา แต่นโยบายใหม่ที่ออกมา เริ่มเห็นภาพที่กว้างขึ้น แต่อาจยังไม่สะท้อนภาพทั้งหมด

    “โครงสร้างภาษีเงินได้ ที่เป็นปัญหาในการสร้างรายได้ภาครัฐ เราเริ่มเห็นการปรับในส่วนการลดหย่อนภาษีแอลทีเอฟ (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) ซึ่งอันนี้นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการส่วนใหญ่ พูดมานานแล้วว่า ภาษีในส่วนนี้ไม่ใช่ภาษีที่ส่งเสริมการออมอย่างแท้จริง แต่เป็นภาษีที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือฉกฉวยมาใช้ในการลดหย่อนภาษี หรือหลบเลี่ยงภาษีมากกว่า เพียงแต่ยังต้องตามต่อว่า หลังการยกเลิกภาษีลดหย่อนแอลทีเอฟแล้ว จะมีเครื่องมือภาษีใดออกมาชดเชย เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมอย่างแท้จริงหรือไม่”

    นอกจากนี้อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ครั้งนี้เราเห็นความพยายามในการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมาเกือบ 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างจริงจังได้ ดังนั้นหากรัฐบาลชุดนี้สามารถผลักดันภาษีเหล่านี้ออกมาได้ จะนับเป็น “คุณูปการ” อันใหญ่หลวงของประเทศไทย แม้การเริ่มใช้ในช่วงแรกจะมีผลกระทบตามมาบ้างก็ตาม

    Tags : กระทรวงการคลัง • กระตุ้นเศรษฐกิจ • ภาษีที่ดิน • มรดก • สมหมาย ภาษี • เบิกจ่าย • งบประมาณ • กฤษฎา จีนะวิจารณะ • สบน. • แหล่งข่าว • นิด้า • คณบดี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้