กบข.ยันไม่ถอนลงทุนตลาดหุ้นไทย

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กบข.คาดมีสมาชิกลาออกตามพ.ร.บ.อันดู 2 แสนราย คิดเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท ยืนยันไม่มีแผนขายหุ้นไทย

    นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.ประเมินเบื้องต้นถึงผลกระทบจากการประกาศใช้พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือ พ.ร.บ.อันดู (UNDO) โดยคาดว่าจะมีข้าราชการที่ออกจากการเป็นสมาชิกกบข.ประมาณ 2 แสนราย จากสมาชิกทั้งหมด 1.2 ล้านราย คิดเป็นเงินที่กบข.ต้องจ่ายคืนสมาชิกกลุ่มนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

    โดยเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของสมาชิกที่สะสมทุกเดือนบวกกับผลตอบแทน แต่ในส่วนเงินสมทบที่รัฐบาลอุดหนุนเข้ามา ซึ่งคิดเป็น 70% ของเงินสะสมนั้น ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจะไม่ถอนคืน แต่จะให้กบข.บริหารต่อ โดยใส่เข้าไปในกองสำรองที่กรมบัญชีกลางสะสมไว้สำรองเพื่อจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ หากเกิดวิกฤติจนรัฐไม่มีเงินที่จะจ่ายให้กับข้าราชการ ซึ่งกองสำรองนี้กรมบัญชีกลางจะไม่ถอนออก จนกว่าจะสะสมให้ได้ถึง 3 เท่าของงบประมาณที่ต้องจ่ายบำเหน็จบำนาญต่อปี

    “เงินส่วนที่ไหลออกนี้ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของเงินกองทุนที่กบข.บริหารอยู่ทั้งหมด 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งกบข.ได้เตรียมสภาพคล่องไว้พร้อมแล้ว และยืนยันว่าเงินที่จะออกไปไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย และผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรแน่นอน เพราะกบข.ไม่ได้ขายหุ้นไทยออก ยังคงให้น้ำหนักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่”

    เขากล่าวต่อว่า กบข.มั่นใจว่าจะบริหารสภาพคล่องเพื่อเตรียมเงินมาจ่ายคืนให้สมาชิกได้ เพราะปัจจุบันกบข.มีเงินสดอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท มีเงินลงทุนในพันธบัตรอยู่ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท อายุเฉลี่ยประมาณ 2 ปี 8 เดือน และจะครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 13 เดือนข้างหน้าประมาณ 1 แสนล้านบาท

    นอกจากนี้กบข.ยังมีเงินที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นบาท คิดเป็นสัดส่วน 14 % ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงกว่าแผนที่วางไว้ที่ 11 % กบข.สามารถที่จะขายหุ้นในต่างประเทศออกได้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามการขายก็ต้องดูความเหมาะสมของผลตอบแทนด้วย

    “กว่าจะต้องคืนเงินให้สมาชิกที่ถอนการลงทุน คาดว่าจะเป็นครึ่งปีหลังขอปี 2558 ซึ่งกบข.ยังมีเวลาในการเตรียมสภาพคล่องไว้ เพราะกว่าที่พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ก็คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 ธ.ค. 2557 หลังจากนั้นก็จะเปิดให้สมาชิกกบข.ที่เข้าเป็นสมาชิกก่อน มี.ค.2494 ตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ หรือกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมถึงมิ.ย.2558”

    ทั้งนี้ สมาชิกกบข.ที่มีสิทธิตัดสินใจได้อีกครั้งว่าจะอยู่กับกบข.ต่อไป หรือกลับไปใช้ระบบเดิมนั้น ต้องเป็นสมาชิกก่อน 1 มี.ค. 2494 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 5 แสนคน คาดว่าส่วนที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม คือข้าราชการที่มีอายุราชการสะสมเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นข้าราชการทหาร เพราะมีการคำนวณอายุราชการแบบสมทบเข้ามา ตามระเบียบราชการ จะทำให้การกลับไปใช้ระบบเดิมได้เงินมากกว่าการเป็นสมาชิกกบข.

    อย่างไรก็ตามหากเป็นข้าราชการในกลุ่มอื่น ที่มีอายุราชการไม่มาก การอยู่กับกบข.มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งในช่วงนี้กบข.ก็จะเดินสายชี้แจง อธิบายให้กับสมาชิกเข้าใจถึงวิธีการคำนวณผลตอบแทนของระบบเดิม และของกบข.เพื่อให้สมาชิกมีข้อมูลในการตัดสินใจก่อนที่พ.ร.บ.อันดูจะมีผลบังคับใช้

    สำหรับความคืบหน้าของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ล่าสุด ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 172 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียด 15 คน โดยหลักการและเหตุผลควรให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและผู้รับบำนาญ และทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด สามารถกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ได้

    Tags : กบข. • สมบัติ นราวุฒิชัย • ตลาดหุ้น • สภาพคล่อง

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้