(รายงาน) ดีเอสไอผ่าปัญหาคดีปั่นหุ้น "เม็ดเงิน"กับ"โทษ"ห่างกันเยอะ "รองอธิบดีดีเอสไอ" ชำแหละปัญหาคดี "ปั่นหุ้น" ยอมรับรวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างยาก เพราะเหตุเกิดขึ้นเร็ว พยานปากสำคัญล้วนเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด หนำซ้ำผลประโยชน์กับความผิดที่อาจได้รับก็ต่างกันลิบ ทำให้ไม่มีใครเกรงกลัว แถมนักปั่นล้วนคนมีความรู้ แนะ ก.ล.ต.-กรมสอบสวนคดีพิเศษจับมือเกาะติดข้อมูลเรียลไทม์ เน้นปรามดีกว่าไล่ตามจับทีหลัง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงภาพรวมคดีเกี่ยวกับตลาดหุ้นทั้งหมดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอว่า ต้ังแต่ก่อต้ังกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อปี 2547 มีคดีที่ส่งมายังดีเอสไออย่างต่อเนื่อง ความผิดส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เช่นผู้บริหารทุจริต ตกแต่งบัญชี หรือปั่นหุ้น ที่ผ่านมาดีเอสไอได้ทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการทำงาน เพราะว่าฐานข้อมูลต่างๆ จากตลาดหลักทรัพย์ ทาง ก.ล.ต.เป็นผู้ดูแลกำกับดูแล หากมีความผิดเกิดขึ้นทาง ก.ล.ต.จะมีข้อมูลและวินิจฉัยว่า พฤติการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หรือไม่ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.ไม่ได้ทำหน้าที่สอบสวนคดี เมื่อมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานเพียงพอเชื่อว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก็ต้องส่งให้ดีเอสไอดำเนินการ ยกเว้นบางฐานความผิดที่ ก.ล.ต. สามารถเปรียบเทียบปรับได้เองโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับของ ก.ล.ต. และผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดยอมให้เปรียบเทียบปรับ คดีก็จะถูกระงับไปตามกฎหมาย ตลอดเกือบ 10 ปีของการทำคดีเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคดีปั่นหุ้น พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ยอมรับว่าเป็นคดีที่ทำยาก โดยเฉพาะขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน "เราต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอจนเชื่อได้อย่างหนักแน่นว่าผู้นั้นกระทำความผิด แต่บางเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก กว่าคดีจะมาถึงดีเอสไอก็ล่วงเลยไปแล้ว ที่สำคัญคนที่จะให้ข้อมูลหรือเป็นพยานปากสำคัญ ส่วนมากก็เป็นผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วย จึงเป็นความยุ่งยากในการทำคดี" "ส่วนในแง่ความสำเร็จ ผมมองว่าเราก็ทำสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าคดีอาจจะล่าช้า จึงเห็นว่าคดีลักษณะนี้อาจจะไม่ค่อยมีผลทันทีทันใด ทำให้คนไม่ค่อยเกรงกลัวการกระทำผิด อีกทั้งเรื่องผลประโยชน์ ต้องยอมรับว่าคดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สูงมาก จึงทำให้คนอยากเสี่ยง ที่ผ่านมาคดีที่ ก.ล.ต.ส่งมาให้ดีเอสไอดำเนินการ ก็มีทั้งสั่งฟ้องและไม่สั่งฟ้อง บางทีพยานหลักฐานอาจจะไม่เพียงพอ ไม่สามารถหาได้มากกว่านี้แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะสั่งฟ้อง เนื่องจากรู้ตัวผู้กระทำผิดอยู่แล้ว" กับความยุ่งยากในการทำคดี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ บอกว่า ความยุ่งยากอยู่ที่พยานหลักฐาน เช่น การซื้อขาย ทำอย่างไรเราจะพิสูจน์ว่ามีบุคคลใดร่วมดำเนินการอยู่ หรือรู้เห็นเป็นใจกันบ้าง ทั้งๆ ที่ต่างคนต่างเข้าไปซื้อหุ้น แล้วเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคนเหล่านี้รู้ข้อมูลล่วงหน้า หรือผู้บริหารบริษัทมหาชนให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับบุคคลใด ดังนั้นคนที่กระทำผิดประเภทนี้ ส่วนใหญ่ต้องมีความรู้ เพราะหากไม่รู้คงทำไม่ได้ เช่น จะเข้าไปปั่นหุ้นกับใคร ส่วนหนึ่งต้องรู้ ต้องเข้าไปเล่นด้วย รวมทั้งในปัจจุบันการสอบสวนคดีมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะการสื่อสารไม่ใช่แค่โทรศัพท์เท่าน้ัน แต่มีระบบอื่นๆ ตามมา เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค อีกทั้งการตอบแทนผลประโยชน์ก็ไม่ใช่ใช้วิธีการโอนเงินให้กัน แต่มีการตอบแทนผลประโยชน์ในวิธีอื่นๆ อีก จึงยิ่งเป็นภาระยากขึ้นในการพิสูจน์ "ทุกคนเห็นตรงกันว่า ผลประโยชน์จากการปั่นหุ้น กับผลจากกระทำผิดที่อาจได้รับ มันห่างกันเยอะมาก บางทีห่างจนลืมไปเลย ทำให้คนเกรงกลัวน้อย และแนวทางป้องกันก็ไม่ค่อยชัดเจน ดังนั้นเราก็เลยต้องคิดร่วมกัน เช่น ตลาดที่รู้ข้อมูล เห็นการซื้อขายตลอดเวลา ก็อาจจะแจ้งกับ ก.ล.ต.หรือดีเอสไอว่าตอนนี้หุ้นตัวนี้เริ่มมีความผิดปกติ อาจจะใช้วิธีการเข้าสืบสวนในเชิงป้องกัน ไม่ใช่สืบสวนเพื่อเอาผิด คือ ดูความสัมพันธ์ในกลุ่มนั้นๆ ว่ามีความผิดปกติในการซื้อขายอย่างไร" "ทางการวิเคราะห์ซื้อขาย ก.ล.ต.ก็ใช้อำนาจหน้าที่และความเชี่ยวชาญลงไปตรวจสอบ ส่วนการสืบสวนทางกายภาพ เรามีข้อกฎหมาย อำนาจสืบสวนที่สามารถใช้อำนาจพิเศษได้ แล้วทุกคนก็เอาข้อมูลที่ตัวเองทำมารวมกัน และวิเคราะห์กันว่ามีโอกาสที่จะเป็นการกระทำผิดหรือไม่" รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า วิธีการดังที่ระบุนี้ ข้อดีคือสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ทันที แต่ข้อเสียคือปริมาณงานอาจจะเยอะมาก จนดูแลได้ไม่ครบถ้วน อาจจะมีช่องว่าง "แต่เมื่อเรามีข้อมูล เราก็สามารถเกาะหรือตามกลุ่มที่ผิดปกติได้ อีกมุมที่เราจะได้คือเรื่องของการป้องกัน จะทำให้ชัดขึ้นว่า ผู้กำกับดูแลกับผู้ดำเนินคดีเกาะติดสถานการณ์อยู่ตลอด อาจจะทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดระมัดระวังมากขึ้น หรือลดการกระทำผิดให้น้อยลง" ส่วนที่มีการมองกันว่าคดีปั่นหุ้น ดีเอสไอมักสั่งไม่ฟ้อง หรือฟ้องไปแล้วศาลก็ยกฟ้องนั้น รองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเคยทำคดีปั่นหุ้นของกลุ่มนายฉาย บุนนาค กล่าวว่า โดยกระบวนการเราก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง มีทั้ง ก.ล.ต. ดีเอสไอ ก็ทำสำนวนส่งให้อัยการ เพื่อส่งศาล แต่ละคดีก็ไม่เห็นมีใครรับสารภาพ ก็สู้คดีกันทุกคน เพราะฉะนั้นการสู้คดี คนที่ทำเป็นคนที่มีความรู้ และด้วยหลักของข้อกฎหมายก็เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ ทำให้การดำเนินคดีค่อนข้างยากพอสมควร Tags : ดีเอสไอ • ปั่นหุ้น • กรุงเทพธุรกิจ • ก.ล.ต. • ทุจริต • พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์