ธปท.ชี้บาทอ่อนตามภูมิภาค

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    แบงก์ชาติ ชี้เงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค จากปัจจัยภายนอก หลังเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น ยืนยันเสถียรภาพเงินบาทยังดี

    นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทไทยในช่วงนี้ สาเหตุหลักมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น รวมถึงค่าเงินบาทไทยด้วย โดยการอ่อนค่าลงของเงินบาท ถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

    “ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะถ้ามองการเทียบเคียงเศรษฐกิจของสหรัฐ จะพบว่าช่วงไตรมาสสองออกมาดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก แตกต่างจากยุโรปที่ยังทรงตัว และญี่ปุ่นที่ติดลบถึง 7% จากการขึ้นแวตหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม” นายจิรเทพกล่าว

    สำหรับประเด็นความกังวลของตลาดเงินที่เริ่มคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดนั้น นายจิรเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ ธปท. ยังไม่อยากให้ความเห็น แต่อยากให้ติดตามดูความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) ในสัปดาห์หน้า ว่าจะมีความเห็นอย่างไร

    “ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวของสหรัฐแม้จะออกมาดี แต่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุด ดูจะออกมาต่ำกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ ทำให้ต้องติดตามดูการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้าว่า จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร” นายจิรเทพกล่าว

    การเคลื่อนไหวของค่าเงินทั่วโลกในช่วงนี้ค่อนข้างมีความผันผวน โดยขึ้นกับข่าวสารที่เข้ามากระทบ ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. เคยให้ข้อมูลไปแล้วว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ในช่วงนี้อาจจะมีตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ หรืออาจจะต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงิน

    สำหรับผลกระทบของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีต่อตลาดเกิดใหม่นั้น นายจิรเทพ กล่าวว่า คงต้องแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ ตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพดี คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุลมากนัก เสถียรภาพของภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หนี้ต่างประเทศไม่สูงเกินไป ซึ่งประเทศเหล่านี้ความน่าเป็นห่วงเรื่องของเงินทุนไหลออกก็มีน้อยลง โดยประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

    ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเสถียรภาพการเงินไม่ค่อยดีนัก โดยกลุ่มนี้มักมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง มีหนี้ต่างประเทศในระดับค่อนข้างสูง ขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้อาจมีภูมิต้านทานต่ำ ดังนั้นในกรณีที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ประเทศในกลุ่มนี้อาจเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกได้

    “ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอาจจะยังไม่ดีนัก แต่ครึ่งปีหลังซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้การค้าโลกโดยรวมน่าจะดีขึ้น ดังนั้นตลาดเกิดใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่งพิงการส่งออกก็น่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวตรงนี้ เพียงแต่คนที่มีจุดเปราะบาง อาจจะฟื้นตัวได้เฉพาะในด้านการค้า แต่ด้านตลาดเงินอาจจะยังมีความเปราะบางอยู่” นายจิรเทพกล่าว

    สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นายจิรเทพ กล่าวว่า โดยรวมถือว่ามีเสถียรภาพที่ดี โดยมีการเคลื่อนไหวในทั้ง 2 ทิศทาง และเกาะกลุ่มตรงกลางของภูมิภาค ขณะที่ค่าความผันผวนก็น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2555 และ 2556 ที่ผ่านมา

    นายจิรเทพ กล่าวยืนยันว่า แม้การเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยจะมีเสถียรภาพที่ดี แต่ธปท.ยังติดตามดูแลการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ซึ่งการดูแลของธปท.นั้น จะดูแลไม่ให้เงินบาทมีความผันผวนที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมทั้งดูแลไม่ให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ

    สำหรับปัจจัยในประเทศหลังจากได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้น เรื่องนี้ ธปท. คงติดตามดูว่าจะมีนโยบายใดออกมาบ้าง รวมทั้งความชัดเจนของนโยบายเป็นอย่างไร และการเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นอย่างไร ซึ่งเท่าที่ติดตามดูในเบื้องต้น แนวนโยบายที่ประกาศออกมา ยังเป็นไปทิศทางเดิมที่เคยประกาศไว้ คือ เน้นในเรื่องการลงทุนของภาครัฐ ที่จะดึงให้ภาคเอกชนลงทุนตาม

    “เราคิดว่ายังยืนในคำตอบเดิม คือ ทิศทางไปในเชิงบวก แต่เรามุ่งเป้าไปที่การเติบโตปีหน้ามากกว่า และนโยบายการเงินในขณะนี้ เรามองว่าไม่ใช่ตัวหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเวลานี้เรากำลังต้องการการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตาม” นายจิรเทพกล่าว

    ส่วนการปฏิรูปพลังงานที่มีแผนปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม และแอลพีจีเพิ่ม 0.62 บาทต่อกิโลกรัม ในภาคขนส่งนั้น เท่าที่ประเมินเบื้องต้น หากมีการปรับขึ้นราคาจริง ผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อก็คงไม่ได้มากนัก เพราะสัดส่วนที่มีผลต่อเงินเฟ้อไม่ได้สูงเท่ากับการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน โดยเท่าที่ประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.01% เท่านั้น

    Tags : จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา • ธปท. • ค่าเงินบาท • เฟด

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้