สรรพากรจับ50บริษัททุจริต ขอคืนแวต2พันล.-สอบจนท.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สรรพากรจับกุม 50 บริษัททุจริตขอคืนแวต และออกใบกำกับภาษีปลอม มูลค่าความเสียหายรวม 2 พันล้านบาท

    พร้อมขยายผลโยงกลุ่มทุจริตเดิม และสอบเจ้าหน้าที่สรรพากร โดยเฉพาะในเขตที่ขอคืนภาษีมากใน "สมุทรปราการ-สมุทรสาคร" เผยนับตั้งแต่ปี 2554 พบลักษณะทุจริตดังกล่าวรวมมูลค่าเสียหายราว 7 พันล้านบาท จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเรียกเงินภาษีคืนหลวงได้

    นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้เข้าตรวจค้นกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกคอมพิวเตอร์ที่ต้องสงสัยว่า ทุจริตในการส่งออก จากการสอบสวนพบว่า มีการกระทำร่วมกันเป็นขบวนการนิติบุคคลกว่า 50 ราย โดยร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์ เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นมูลค่าจำนวน 600 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กลุ่มดังกล่าว ยังได้จำหน่ายใบกำกับภาษีปลอม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทด้วย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท

    เขากล่าวว่า กลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ได้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 โดยมีการทำธุรกรรมทางการเงินโดยการโอนเงินเข้าและโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยการหมุนเวียนเงินจากผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างพยานหลักฐานให้เชื่อว่า มีการรับชำระเงินและการจ่ายชำระเงินค่าสินค้ากันจริง

    ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมสรรพากรในต่างประเทศตามหลักฐานใบขนสินค้าขาออกของกรมศุลกากร คือ ประเทศจีน ฮ่องกง และ ลาว และ สรรพากรประเทศดังกล่าวได้ยืนยันว่า ไม่พบข้อมูลบริษัทที่เป็นผู้ซื้อ อีกทั้ง ได้รับข้อมูลจากกรมศุลกากรว่า กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่า ทุจริตการส่งออกโดยสำแดงสินค้าไม่ตรงตามใบขนสินค้าขาออก และมีการยื่นแบบแสดงรายการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก สร้างความเสียหายแก่ทางราชการในวงเงินดังกล่าว

    "ผลการตรวจค้นทั้ง 12 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และปทุมธานี ได้จับกุมผู้กระทำผิดแล้ว 10 คน กำลังสอบสวนว่า เชื่อมโยงกับผู้กระทำความผิดกลุ่มเดิมหรือไม่ เบื้องต้นพบหลักฐานทางการเงิน ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการกระทำความผิด รวมทั้งตรวจพบหลักฐานเอกสารที่เชื่อมโยงไปถึงตัวการและผู้ร่วมขบวนการจำนวนมาก ซึ่งกรมฯจะทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป"

    ทั้งนี้ พื้นที่สรรพากรที่กลุ่มทุจริตได้เข้าขอคืนภาษี ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขต 21 สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร ในชั้นนี้ กรมฯ กำลังสอบสวนด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวด้วยหรือไม่ ถ้าพบ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่

    สำหรับความผิดข้อหาออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีปลอมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี เป็นความผิดมาตรา 90/4(7)แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และ ปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 2 แสนบาท

    อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมา กรมฯได้ตรวจพบผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน พบผู้กระทำผิดคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 7 พันล้านบาท โดยครั้งใหญ่สุด มีการจับกุมผู้กระทำความผิดที่ทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกคิดเป็นมูลค่าถึง 4.1 พันล้านบาท ซึ่งมูลค่าความเสียหายโดยรวมทั้งหมดนั้น จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถเรียกเงินคืนได้

    ทั้งนี้ ตนได้เสนอแก้ไขกฎหมาย โดยขอให้กรมฯเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนและระงับธุรกรรมการเงินต่อกลุ่มผู้กระทำความผิดกฎหมายสรรพากร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เห็นชอบ และนำร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

    นอกจากนี้ กรมฯยังได้ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจเช็คสินค้าขาออกที่ต้องสงสัยว่า จะอยู่ในกลุ่มที่ส่งออกและขอคืนภาษีเป็นเท็จ โดยกรมฯ ได้ระบุ รายการสินค้าจำนวนมากกว่า 10 รายการที่ขอให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน กรมฯได้เชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าส่งออกกับกรมศุลกากรและกระทรวงพาณิชย์กรณีที่มีการจัดตั้งบริษัทใหม่

    อธิบดีกรมสรรพากรยังกล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในเดือน ส.ค.2557 ว่า จัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนประมาณ 4 พันล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายของเดือน ส.ค.ถึง 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก ในเดือน ส.ค.-ก.ย.ได้ตั้งเป้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 30% และการเก็บภาษีได้รับผลกระทบจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก ทำให้ยอดซื้อขายรถยนต์ในปี 2557 ลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจ อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งผู้ผลิตอะไหล่ เม็ดพลาสติก และวิทยุ ทำให้การเก็บรายได้นิติบุคคลในเดือน ส.ค.ต่ำกว่าเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท

    ภาพรวมการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2557 คาดว่า จะต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 3 หมื่นล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายราว 1.2 แสนล้านบาท ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน


    Tags : ประสงค์ พูนธเนศ • กรมสรรพากร • ทุจริต • แวต

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้