เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลแขวงของ Northern District ใน California ได้พิพากษาตัดสินให้ Samsung ชดใช้เงินแก่ Apple เป็นมูลค่า 119.6 ล้านดอลลาร์ ในคดีละเมิดสิทธิบัตรของ Apple ที่ว่าด้วยเรื่องการซิงก์ข้อมูล และฟีเจอร์ slide-to-unlock ทว่า Apple ไม่ใคร่จะพอใจกับคำตัดสินนั้นมากนักเนื่องจากได้เงินชดเชยน้อยกว่าที่เรียกร้องเอาไว้มาก (Apple เรียกเงินชดเชย 2 พันล้านดอลลาร์) ดังนั้น Apple จึงได้ร้องต่อศาลให้พิจารณาไต่ส่วนคดีนี้เสียใหม่พร้อมข้อโต้แย้งว่าในการพิจารณาคดีที่ผ่านมา Apple ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยเพราะทางศาลได้ปล่อยให้ Samsung กล่าวย้ำแก่ลูกขุนหลายต่อหลายครั้งว่า Apple ไม่ได้ (และไม่เคย) ใช้งานหรือพัฒนาสิทธิบัตรบางตัวที่อยู่ในข่ายการพิจารณาคดีมาก่อน (แหล่งข่าวมิได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงสิทธิบัตรฉบับไหน ซึ่งอาจเป็น universal search และ background syncing ที่ลูกขุนลงความเห็นว่าไม่โดนละเมิดสิทธิบัตรโดย Samsung) อีกทั้งศาลยังไม่ให้ Apple ได้แก้ต่างข้อกล่าวอ้างที่ว่าของ Samsung นั้นด้วย อย่างไรก็ตามคำร้องดังกล่าวก็ถูกผู้พิพากษา Lucy Koh ปัดตกไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพร้อมกล่าวแย้งว่า ทางศาลไม่อาจเห็นว่าข้อกล่าวอ้างของ Samsung นั้น "เป็นเท็จ" เนื่องด้วยศาลเปิดโอกาสอย่างชัดเจนให้ Apple แสดงหลักฐานเพื่อหักล้างคำกล่าวอ้างของ Samsung นั้นแล้ว แต่ทว่าหลักฐานที่ Apple นำเสนอมานั้นอ่อนอย่างมาก ทั้งยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดให้ความเห็นสนับสนุนว่า Apple ได้พัฒนาสิทธิบัตรเหล่านั้นจริง ซึ่งทั้งหมดนี้ Apple ก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ายอมรับการตัดสินในครั้งนั้นไปแล้วด้วย นอกจากนี้ผู้พิพากษา Koh ยังได้ปฏิเสธคำขอจาก Apple อีก 1 อย่าง ที่ขอให้ผู้พิพากษาเปลี่ยนคำตัดสินของคณะลูกขุนเสีย (ซึ่งกฎหมายของสหรัฐอเมริการะบุให้ทำได้ในกรณีที่หลักฐานทุกอย่างชี้ไปยังข้อสรุปที่เป็นไปได้เพียงหนึ่งเดียว โดยข้อสรุปนั้นอาจไม่ตรงกับความเห็นของคณะลูกขุน) ทว่าผู้พิพากษา Koh ได้รับพิจารณาข้อเรียกร้องของ Apple อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือการปรับตัวเลขวงเงินชดใช้ที่ Samsung ต้องควักเงินจ่าย อันเนื่องมาจากยอดขายส่วนหนึ่งของ Galaxy S III และ Galaxy Note II (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การคำนวณค่าเสียหายของ Apple) ได้เพิ่มมากขึ้นภายหลังการตัดสินโดยคณะลูกขุนในครั้งก่อน โดยตัวเลขที่จะปรับนี้จะยังไม่คำนวณใหม่จนกว่าจะถึงขั้นตอนกระบวนการพิพากษาในขั้นสุดท้าย ที่มา - PCWorld Apple, Lawsuits, Patent, Samsung