กรมสรรพากรจับผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์ขอคืนภาษีปลอม สร้างความเสียหาย 2,000 ล้านบาท นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรประสานกรมศุลกากรและสรรพากรต่างประเทศ ตรวจสอบพบกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกคอมพิวเตอร์ร่วมกันกระทำผิดเป็นขบวนการประมาณ 50 ราย ด้วยการออกใบกำกับภาษีปลอม เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มส่งออกคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก โดยมีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำธุรกรรมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ปี 2554 มีธุรกรรมทางการเงินด้วยการโอนเงินเข้าออกจากบัญชีกับกลุ่มผู้ส่งออก เพื่อสร้างหลักฐานให้มีความน่าเชื่อถือในการรับชำระเงินจากการซื้อสินค้า จากการตรวจสอบไม่พบหลักฐานใบขนสินค้าและการเสียภาษีของต่างประเทศ สำหรับขบวนการดังกล่าวตั้งบริษัทกระจายอยู่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร กทม. เจ้าหน้าที่ตรวจค้นทั้ง 12 จุด พบหลักฐานทางการเงิน ใบกำกับภาษีปลอม และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการกระทำความผิด พบตัวการและผู้ร่วมขบวนการจำนวน 10 ราย แต่คาดว่าจะมีผู้ร่วมกระทำความผิดจำนวนมาก โดยสร้างความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การยื่นแบบแสดงรายการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกประมาณ 600 ล้านบาท และความเสียหายจากการออกใบกำกับภาษีปลอมกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้กระทำความผิดมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก จึงได้ประสานไปยังกรมศุลกากรให้สุ่มตรวจสินค้า 10 รายการสุ่มเสี่ยงอยู่ในกระบวนการทุจริตขอคืนภาษีเป็นเท็จ เช่น สินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น โดยให้กรมศุลกากรสุ่มตรวจปริมาณสินค้าและใบขอคืนภาษีทั้งปริมาณสินค้าและยอดขอคืนให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจะทำการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการตรวจสอบทุจริตภาษีให้มาประจำในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อสงสัยอาจเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่บางจุด สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สิ้นเดือนสิงหาคมยังต่ำกว่าเป้าหมาย 4,000 ล้านบาท ส่วนยอดรวมการจัดเก็บภาษี 11 เดือนแรกต่ำกว่าเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสหากรรมที่เกี่ยวข้องรายได้ภาษีถึง 15,000 ล้านบาท ตลอดทั้งปีงบประมาณคาดว่าจะดูแลให้ยอดต่ำกว่าเป้าหมาย 30,000 ล้านบาท เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว จากนั้นปี 2558 คาดว่ายอดจัดเก็บภาษีกรมสรรพากร 1.965 ล้านล้านบาท Tags : ประสงค์ พูนธเนศ • กรมสรรพากร • คืนภาษี • ปลอม