"กสิกรไทย" รับตลาดญี่ปุ่นแข่งขันแรง เร่งจับมือศูนย์เอสเอ็มอีของกรุงโตเกียว หวังดึงเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเข้าไทย การแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจจากญี่ปุ่น ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการกระจายไปสู่อาเซียน ภายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาในตลาดไทยตลอด นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 แต่ส่วนใหญ่ ยังใช้ผู้บริหารชาวไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ภาพที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องบุคลากรที่สถาบันการเงินต่างๆ มีการแย่งชิงตัวผู้ที่มีความรู้ ทั้งภาษาจีนและญี่ปุ่นมากขึ้น ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ต้องสร้างบริการที่ดี เพื่อดึงดูดลูกค้าญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ล่าสุดวานนี้ (9 ก.ย.) ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์สนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี โตเกียว เมโทรโพลิแทน (Tokyo Metropolitan Small and Medium Enterprise Support Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลของกรุงโตเกียว ที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีในกรุงโตเกียวโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 30,000 บริษัท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนบริษัททั้งหมดในโตเกียวประมาณ 440,000 เเห่ง "เอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องตามคู่ค้าเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิตลงในแง่ของภาคการเงิน ต้องอำนวยความสะดวก แต่ขณะนี้ต้องมองระยะยาวด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานก่อน ทำให้ลูกค้าเชื่อถือเชื่อใจในทุกๆ ด้าน ลูกค้าจะเข้ามาเปิดบัญชีกับเราเองถ้าเราบริการดี และจะมีธุรกรรมอื่นๆ ตามมา เพราะแค่ปล่อยกู้ใครก็ทำได้" ทั้งนี้ธนาคารจะให้การสนับสนุน และร่วมมือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และการลงทุนในไทยและประเทศ ในกลุ่มอาเซียนแก่เอสเอ็มอี จากกรุงโตเกียว โดยการจัดสัมมนา การหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศร่วมกัน การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างประเทศ การลงพื้นที่ศึกษาลู่ทางการลงทุนและดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มยอดทางการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งการเเนะนำบริการที่ธนาคารกสิกรไทย สามารถสนับสนุนแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเมื่อเข้ามาในไทย โดยเบื้องต้นคาดว่า จะบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในไทยราว 50-70 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 3,500 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย มีลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 3,000 กว่าราย และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 13% โดยตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารไทยในใจนักลงทุนญี่ปุ่นและจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในไทยเป็น 16% ภายในอีกสองปีข้างหน้า นายบัณฑูร ยังกล่าวถึงกรณีที่มูดี้ส์ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของแบงก์ไทย ในระดับมีเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มเป็นบวก สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่มีความมั่นใจมากขึ้น โดยครึ่งหลังของปีจะเห็นการเติบโตที่เร่งตัวขึ้น แต่เมื่อเฉลี่ยกับช่วงครึ่งแรกของปีแล้ว คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ระดับ 1.5-2% ขณะที่การขยายสินเชื่อน่าจะอยู่ในระดับ 8% เป็นระดับที่เหมาะสม ส่วนปี 2558 เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 5% สินเชื่อก็จะขยายตัวได้ 7-9 เขายังกล่าวถึงกรณีที่ครม.จะมีการประชุมครั้งแรกวานนี้ว่า ในแง่เอกชนคาดหวังแต่ความคล่องตัวของระบบต่าง ๆ และทำให้รากหญ้าสามารถหาทำมาหากินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องทำโจทย์ใหญ่ในแง่การปฏิรูป เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งในอนาคต ด้านนายยูจิ อิซาว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์สนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี โตเกียว เมโทรโพลิแทน กล่าวว่า จำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในญี่ปุ่นกว่า 99% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง และสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ โดยตั้งเป้าจะผลักดันให้เอสเอ็มอีในประเทศญี่ปุ่น มากกว่า 10,000 ราย ออกมาดำเนินธุรกิจต่างประเทศภายในปี 2560 โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกิจในอาเซียน เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และทำเลที่ตั้งของประเทศได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ โดยความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เอสเอ็มอีญี่ปุ่น ที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียน เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงในการให้บริการ และมีส่วนแบ่งตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นอันดับหนึ่งในไทย ให้ความสำคัญกับการให้บริการทางการเงิน และสนับสนุนข้อมูลการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนในไทยจริงจัง ดังนั้นการมีสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง และเข้าใจผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย จะช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างความมั่นใจแก่เอสเอ็มอีญี่ปุ่น ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย Tags : กสิกรไทย • ญี่ปุ่น • อาเซียน • แข่งขัน