ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง"บ้านปู"คดีหงสา ไม่ต้องจ่ายกลุ่มงานทวี3.1หมื่นล้าน ปมก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ "โครงการหงสา" ในลาว ศาลชี้ไม่ต้องชดใช้เงิน 3.1 หมื่นล้านบาท แถมไม่ต้องส่งคืนเอกสารข้อมูลสำรวจธรณีวิทยา เหตุโจทก์ยกเลิกสัญญาเอง ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก วานนี้ (9 ก.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ ด.2946/2550 ที่ นายศิวะ งานทวี ผู้บริหารกลุ่มบริษัทด้านพลังงาน บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด บริษัท หงสาลิกไนท์ จำกัด บริษัท ไทยลาวเพาเวอร์ จำกัด และบริษัทเซาท์อีสท์ เอเชียพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU บริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายชาญชัย ชีวะเกตุ และ นายองอาจ เอื้ออภิญญกุล กรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 63,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2550 ระบุพฤติการณ์ว่า พวกจำเลยทำการหลอกลวงว่าเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทโจทก์ เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินและรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ที่เมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว (โครงการหงสา) แต่หลังจากนั้นจำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จ ทำให้รัฐบาล สปป.ลาวยกเลิกสัมปทานเหมืองถ่านหิน สัญญาก่อสร้าง และการดำเนินกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าของพวกโจทก์ เพื่อที่พวกจำเลยจะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาล สปป.ลาว แทน ศาลแพ่งให้ชดเชยค่าเสียหาย คดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 ให้ บริษัทบ้านปู จำเลยที่ 1 ส่งคืนเอกสารข้อมูลจำเพาะต้นฉบับ 13 รายการให้กับนายศิวะและพวก โจทก์ที่ 1-5 โดยให้ บริษัทบ้านปู กับ บจก.บ้านปูเพาเวอร์ จำเลยที่ 1 และ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีแก่โจทก์ นับตั้งแต่วันฟ้อง 3 ก.ค.2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ในอนาคต ตั้งแต่ปี 2558-2570 อัตราปีละ 860 ล้านบาท และอัตราปีละ 1,380 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2571-2582 โดยให้ชำระภายในวันสิ้นปีของแต่ละปีด้วย รวมค่าเสียหายที่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 31,000 ล้านบาท ทั้งยังต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้าด้วย จำนวน 5 ล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นๆ ศาลให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ได้เข้าทำสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นกับโจทก์ และโจทก์ทั้งห้าได้ส่งมอบเอกสารการศึกษา ข้อมูลการสำรวจทั้ง 13 รายการให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาตรวจสอบเพื่อพัฒนาโครงการร่วมกันต่อไปตามสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นด้วยความสมัครของโจทก์ทั้งห้าเอง และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ทำสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นกับโจทก์ทั้งห้าโดยสุจริตใจ ไม่มีเจตนาหลอกลวง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ที่เป็นบริษัทในเครือเข้าทำสัญญาร่วมพัฒนาโครงการกับโจทก์ทั้งห้าในฐานะคู่สัญญาผู้รับผิดชอบตามสัญญาร่วมกัน โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำในการพัฒนาโครงการ จากนั้นฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งดำเนินการโครงการร่วมกันให้รัฐบาล สปป.ลาวทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2549 โจทก์ทั้งห้าบอกเลิกสัญญาร่วมพัฒนาโครงการกับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1-2 คืนข้อมูลการศึกษาและการสำรวจทั้ง 13 รายการให้โจทก์ ศาลเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1-2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญากับโจทก์ทั้งห้า โดยโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1-2 จึงไม่จำเป็นต้องคืนเอกสาร เพราะโจทก์ทั้งห้ามีสำเนาเอกสารศึกษานั้น ซึ่งโจทก์ก็ได้ใช้มาเป็นพยานในคดีนี้อยู่แล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าได้คืนเอกสารดังกล่าวให้โจทก์ และได้มีการแจ้งความว่าใบรับคืนเอกสารนั้นหายไปแล้วตามบันทึกแจ้งความ อีกทั้งเอกสารดังกล่าวก็เป็นข้อมูลการสำรวจทางธรณีวิทยาในพื้นที่สัมปทาน และตามความคิดของนักวิชาการเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ละเมิดต่อโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยที่ 3 จะเข้าทำสัญญาตามโครงการกับรัฐบาล สปป.ลาว แต่ก็ได้จ้างบริษัทอื่นทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการถ่านหินที่ต่างจากข้อมูลวิเคราะห์ของโจทก์ทั้งห้า ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และ 3 จึงฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 3 โดยจำเลยไม่ต้องส่งคืนเอกสารข้อมูล 13 รายการให้โจทก์ทั้งห้า รวมทั้งไม่ต้องจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมศาลด้วย ส่วนจำเลยอื่นเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือให้ยกฟ้อง หุ้นบ้านปูร่วงสวนทางข่าวยกฟ้อง บรรยากาศการลงทุนบริษัท บ้านปู วานนี้ (9ก.ย.) ราคาหุ้นปิดที่ 32.25 บาท ลดลง 1.75 บาท เปลี่ยนแปลง 5.15% สวนทางคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า หาก บ้านปู ชนะคดีจะมีอัพไซต์ราว 5 บาทต่อหุ้น ราคาซื้อขายหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ 2 วันก่อนหน้า แต่ยังมีแรงขายทำกำไรอย่างต่อเนื่องวานนี้ ทำให้เหลืออัพไซต์เริ่มจำกัด อีกทั้งยังมีชั้นฎีกาให้ฟ้องร้องได้อีก ส่วนบล.ทิสโก้ กล่าวว่า คำตัดสินของศาลกรณีโครงการหงสา ถือเป็นบวก ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์ปรับประมาณการของ BANPU ขึ้น โดยราคาของหุ้นบ้านปู ลดลง 5 บาท นับจากเกิดข้อพิพาทในเดือนก.ย. 2555 บริษัท บ้านปู ยังมีความเสี่ยงเชิงลบอยู่คือ ราคาถ่านหินที่แย่กว่าคาด, ความล่าช้าในการเริ่มต้นโรงไฟฟ้าหงสา ส่วนความเสี่ยงในเชิงบวกคือ ราคาถ่านหินที่ฟื้นตัว ต้นทุนการดำเนินงานที่ออสเตรเลียและอินโดนีเซียลดลง "จัสมิน"ยกคำร้องยื่นฟ้องอคิวเมนท์ ส่วนกรณีของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ตัดสินยกคำร้องกรณีที่บริษัท ทีทีแอนด์ที (TT&T) ยื่นฟ้องบริษัท อคิวเมนท์ (ACU) เป็นบริษัทย่อยที่บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้นอยู่ 99% ให้บริษัท อคิวเมนท์ ขายหุ้น 869 ล้านหุ้น หรือ 70% ในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ทีทีแอนด์ที และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้บริษัท อคิวเมนท์ จำหน่าย จ่าย โอน สินทรัพย์ของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ แหล่งข่าวจากฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) กล่าวว่า การยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของบริษัท ทีทีแอนด์ที ดังกล่าว น่าจะเป็นบวกต่อบริษัท ทำให้สามารถรับรู้รายได้จาก บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ได้ตามปกติ จากก่อนหน้าที่ตลาดมีความกังวลว่า หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้บริษัท อคิวเมนท์ จำหน่าย จ่าย โอน สินทรัพย์ของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จะทำให้บริษัทขาดรายได้ "บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้เหมือนเดิมจากทริปเปิลที บรอดแบนด์ แต่ก่อนตลาดยังกังวลว่า บริษัทจะไม่สามารถรับรู้รายได้จากทริปเปิลที บรอดแบนด์ได้ ตอนนี้ก็คลายกังวล" นักลงทุนสัมพันธ์ กล่าว บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ผลเบื้องต้น คดีที่ทีทีแอนด์ที ยื่นฟ้องร้องจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ขายหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ให้กับผู้ถือหุ้นทีทีแอนด์ที ต้องไปตัดสินกันในชั้นศาลกันต่อไป Tags : ศาลแพ่ง • ถ่านหินลิกไนต์ • โรงไฟฟ้า • บ้านปู • อุทธรณ์ • แหล่งข่าว