เปิดเส้นทางรถหรู'ล่องหน'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เปิดเส้นทางรั่วไหล"รถหรู"หายจากสินค้าทัณฑ์บน คาดอยู่ในขั้นตอนขอนำรถออก

    ชี้ "ตรวจสภาพ-ร่วมงานโชว์-เปิดตัวกับลูกค้า" แล้วไม่ส่งคืน เอกชนระบุทุกขั้นตอนมีหลักฐานตรวจสอบได้ไม่ยาก ขณะที่ปลัดคลัง สั่งอธิบดีกรมศุลกากร เร่งสรุปหาสาเหตุรายงานภายในสัปดาห์นี้ คุมเข้มนับรถตรงตามบัญชี

    หลังจากนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ออกมาระบุว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์หรู หรือซูเปอร์คาร์ ตรวจสอบรถยนต์หายไปจากคลังทัณฑ์บนของกรมกว่า 500 คัน แหล่งข่าวจากบริษัทรถยนต์กล่าวว่า การนำเข้ารถยนต์เข้ามาภายในประเทศมีหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่จะต้องผ่านทางคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อรอการตรวจสอบและเสียภาษีให้เรียบร้อยก่อนที่จะตรวจปล่อยให้กับผู้นำเข้าเพื่อทำตลาดต่อไป ยกเว้นบางกรณีที่อาจติดขัดการตรวจสอบที่ด่านศุลกากร รถดังกล่าวจะถูกส่งเข้าเขตฟรีโซน เพื่อตรวจสอบต่อไป

    ผู้บริหารเขตฟรีโซน กล่าวว่า ปกติรถนำเข้ามาจะตรวจปล่อยที่ท่าเรือโดยเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าไม่สามารถตรวจปล่อยได้ก็ต้องขนตู้เข้าไปในฟรีโซน โดยเหตุที่ตรวจปล่อยไม่ได้ เพราะไม่สามารถเคลียร์ราคาอินวอยด์ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะมีช่องทางรั่วไหลได้เช่นกัน ด้วยการส่งเอกสารส่งมายังฟรีโซน แต่ตัวรถไม่ได้เข้ามา โดยส่งไปยังผู้นำเข้าแทน ซึ่งถือว่าเป็นการรู้เห็นกันของเจ้าหน้าที่กับผู้นำเข้า

    "ที่ผ่านมา มีการแจ้งรถว่านำเข้ามาในฟรีโซน แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้นำรถเข้าจอด มาแต่เอกสาร ทำกันมานานเพราะหน่วยตรวจปล่อยรู้เห็นเป็นใจ ถ้าวันไหนกองปราบจะตรวจสอบก็รีบเอารถกลับมาคืน"

    ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนเคยเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยตั้งโชว์รูมในเขตฟรีโซน เพื่อจัดกิจกรรมกับลูกค้าในการเข้ามาชมรถ โดยไม่ต้องนำรถออกไป แต่ติดปัญหาระเบียบของกรมศุลกากร ที่ห้ามทำอะไรกับตัวรถในเขตฟรีโซน

    แจงกระบวนการรถล่องหนคลังทัณฑ์บน

    ขณะที่รถนำเข้าที่เข้าไปสู่คลังสินค้าทัณฑ์บน จะมีขั้นตอนหลักๆ คือ รอการตรวจสอบเพื่อเสียภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานโดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ.ก่อน ดังนั้นวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาคือ ผู้นำเข้าขอให้ตรวจปล่อยชั่วคราวเพื่อนำรถออกไปตรวจสอบกับ สมอ. และนำส่งคืน เพื่อผ่านกระบวนการทางภาษี ก่อนที่จะตรวจปล่อยให้ผู้นำเข้าสำหรับการทำตลาด รูปแบบนี้ อาจจะมีการรั่วไหลในขั้นตอนการนำรถออกไปตรวจสอบกับ สมอ. แล้วไม่ส่งกลับคืนคลังสินค้าทัณฑ์บน

    อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ ผู้นำเข้าซึ่งยังไม่สามารถนำรถออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนได้ ทำเรื่องขอยืมออกไปเพื่อใช้ในงานโชว์ หรือ เปิดตัวกับลูกค้า โดยวางเงินประกันเอาไว้ และเมื่อเสร็จงานก็ต้องส่งรถคืน ซึ่งก็อาจจะมีช่องว่างในขั้นตอนการยืมรถออกไปแล้วไม่ส่งคืนเช่นกัน

    สำหรับการตรวจสอบมาตรฐานของสมอ. เป็นขั้นตอนที่จำเป็น โดยปัจจุบัน หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทแม่ให้เป็นผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ ระบุให้ตรวจสอบ 1 คัน ต่อการนำเข้า 5,000 คัน/รุ่น

    ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้นำเข้าอิสระรายย่อย หรือ เกรย์ มาร์เก็ต ที่ สมอ.เพิ่งเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากการกำหนดให้ตรวจทุกคัน เป็น ตรวจ 1 คัน ต่อการนำเข้า 1 ชิฟท์เมนต์

    อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้นำเข้าอิสระ ระบุว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นธรรม แม้จะผ่อนคลายเงื่อนไขแล้วก็ตาม เนื่องจากการนำเข้าต่อครั้งส่วนใหญ่จะมีเพียง 1-2 คันต่อชิฟท์เมนต์ ต่อรุ่นเท่านั้น ทำให้รถเกือบทุกคันต้องผ่านการตรวจสอบ จึงจะสามารถนำออกมาจำหน่ายได้

    เงื่อนไขที่เข้มงวดดังกล่าว ทำให้มีการมองกันว่ากลุ่มนำเข้ารายย่อย น่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษต่อกรณีรถหายไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพราะเกือบทุกคันต้องขอตรวจปล่อยชั่วคราว

    ระบุทุกขั้นตอนต้องมีหลักฐาน

    แหล่งข่าว กล่าวว่า แม้กระบวนการต่างๆ จะมีช่องว่างให้ลักลอบนำรถออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือ เขตฟรีโซน แต่สิ่งที่ต้องมีคือ เอกสารที่ระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้ขอนำรถออกไป ใครเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากหากจะตรวจสอบว่ารถที่หายไปอยู่ที่ไหน

    "เชื่อว่าถ้าตามจริงก็ไม่ใช่เรื่องยาก อาจจะยุ่งยากบ้างสำหรับผู้นำรถออก เป็นบริษัทที่ปิดกิจการไปแล้ว ที่ผ่านมาก็มีอยู่มากเช่นผู้นำเข้ารายย่อย ที่มีทั้งเปลี่ยนชื่อ หรือเลิกกิจการ แต่ว่าในส่วนของรถยังคงมีชื่อเดิม คือหมายเลขตัวถัง หมายเลขแชสซีส์ หมายเลขเครื่องยนต์ ที่จะตรวจสอบได้"

    อย่างไรก็ตาม ช่องทางที่ผู้ใช้รถจะหลีกเลี่ยงการตรวจจับก็คือ ไม่นำรถไปจดทะเบียน เพราะจะถูกตรวจสอบได้ง่าย แต่เลือกที่จะใช้งานเป็นรถป้ายแดงไปเรื่อยๆ

    ปลัดคลังสั่งเร่งสอบข้อมูลรถหาย

    ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ได้สั่งให้อธิบดีกรมศุลกากรรายงานเรื่องดังกล่าวให้ทราบภายในสัปดาห์นี้ และให้ตรวจนับรถที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนว่า ยังมีอยู่ตรงตามบัญชีสินค้าทัณฑ์ครบถ้วนหรือไม่

    "ที่จริงเรื่องนี้ เป็นปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่สมัยอดีต ทั้งรูปแบบนำออกมาจากคลังสินค้าทัณฑ์บน และเขตปลอดภาษีแล้วหายไปหรือขออนุญาตนำออกไปโชว์แล้วหายไป ซึ่งสมัยที่ผมเป็นรองปลัดกระทรวง ได้สั่งให้ตรวจเช็คสินค้าตามคลังทัณฑ์บน แต่ยังไม่รับรายงาน เพราะมีการเปลี่ยนตำแหน่งผมเสียก่อน"นายรังสรรค์ กล่าว

    สั่งตรวจเข้มบิ๊กไบค์หนีภาษี

    นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่านอกจากกรณีรถยนต์หรูหนีภาษี 500 คัน ที่ตนได้ให้ติดตามมาชำระภาษีตามกฎหมายแล้ว ยังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้านำเข้าประเภทรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า บิ๊กไบค์ หลังพบว่า มีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้นในประเทศ มีการหลีกเลี่ยงภาษีเข้าสินค้าดังกล่าว

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมศุลกากร ได้ดำเนินการตรวจจับรถบิ๊กไบค์ที่หนีภาษีแล้วประมาณกว่า 80 คัน

    สำหรับกรณีรถยนต์หรูหนีภาษี ได้เกิดจากการที่ผู้นำเข้า ได้ขอนำสินค้าไปขึ้นในด่านศุลกากรที่ผู้ประกอบการอ้างว่า จะมีความสะดวกในการขนส่ง แต่ปรากฏว่า ไม่มีการนำสินค้าไปยังด่านศุลกากรตามที่แจ้ง ทำให้ไม่มีการชำระภาษีที่ถูกต้อง ขณะที่ สินค้าส่วนใหญ่ถูกนำไปเก็บไว้ยังคลังทัณฑ์บน

    แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร ระบุว่า คลังสินค้าทัณฑ์บนที่เก็บรักษารถยนต์อยู่ในประเภทของคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป มีเกือบ 38 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สงขลา เชียงราย และระนอง ในจำนวนนี้ มีคลังสินค้าทัณฑ์บนที่

    ไม่ได้ระบุประเภทสินค้ากว่า 20 แห่ง และมีคลังที่มีระบุว่า เก็บรถยนต์เพียง 2 แห่ง

    ทั้งนี้มีช่องว่างของกฎหมายที่กำหนดว่า สามารถเก็บรักษาสินค้านำเข้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนได้ 2 ปี และระหว่างเก็บสามารถขออนุญาตนำสินค้าไปโชว์เพื่อประโยชน์ในการค้าได้ ทำให้มีดีลเลอร์บางรายใช้ช่องทางนี้นำรถยนต์หลบเลี่ยงการภาษีออกมาจำหน่าย และบางรายไม่ยอมชำระภาษี

    ตำรวจแจงเหตุผลไม่มีการแจ้งความ

    แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายตำรวจระดับสูง ระบุว่า กรณีนี้ยังไม่มีการแจ้งความกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลที่ว่า 1.ข้อเท็จจริงไม่เข้าข่ายการโจรกรรมรถ เพราะไม่ใช่การขโมยรถ แต่เป็นการนำรถออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมิชอบ

    2.ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าใครคือผู้เสียหาย เพราะรถซูเปอร์คาร์เหล่านี้มีผู้สั่งนำเข้ามา ทั้งบุคคลและนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการ ไม่ใช่ทรัพย์สินของกรมศุลกากร ฉะนั้นกรมศุลกากรอาจไม่ใช่ผู้เสียหาย

    3.ข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนว่ารถซูเปอร์คาร์ดังกล่าวสูญหายหรือไม่ เนื่องจากกรมศุลกากรมีการผ่อนผันให้ผู้สั่งนำเข้าเพื่อจำหน่าย นำรถไปโชว์ก่อนได้ ระยะเวลา 1 ปี เมื่อจำหน่ายได้จึงค่อยนำภาษีนำเข้ามาชำระให้กับกรมศุลกากร ฉะนั้นกรณีรถซูเปอร์คาร์ 500 คัน ต้องพิจารณาว่ามีกี่คันที่อยู่ในห้วงเวลาที่ผู้ประกอบการสามารถนำรถไปโชว์ตามโชว์รูม

    "คิดว่าเบื้องต้นทางกรมศุลกากรต้องใช้มาตรการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคลังสินค้าทัณฑ์บนก่อน หากพบว่ามีการทุจริตจริง จากนั้นจึงค่อยมาดูความเสียหายจากรายได้ภาษีศุลกากรที่ต้องสูญเสีย หากมีความเสียหายจึงแจ้งความดำเนินคดี อาจเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157"

    Tags : สมชัย สัจจพงษ์ • กรมศุลกากร • รถหรู • คลังทัณฑ์บน • รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ • แหล่งข่าว

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้