ไมโครซอฟท์ประเทศไทยส่ง Surface Pro 3 มาให้ผมทดสอบประมาณหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจาก Blognone เคยมี รีวิว สองสัปดาห์กับ Microsoft Surface Pro 3 โดยคุณ nuntipat มาก่อนแล้ว รีวิวนี้เลยจะพยายามเล่าเรื่องในแง่มุมอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้สนใจซื้อนะครับ Surface ถือเป็นอุปกรณ์แนวใหม่ที่นิยามได้ว่า "โน้ตบุ๊กก็ไม่ใช่ แท็บเล็ตก็ไม่เชิง" คนที่ไม่เคยใช้อาจเข้าใจยากนิดนึง แต่ Blognone ก็เคยลงรีวิว Surface มาแล้วหลายรุ่น (Surface RT (1), Surface RT (2), Surface 2) เรื่องแนวคิดลองย้อนกลับไปอ่านในรีวิวเก่าๆ กันได้ รีวิวนี้จะเน้นไปที่ความเปลี่ยนแปลงของ Surface Pro 3 เป็นหลัก หมายเหตุ: รีวิวนี้ไม่ได้ทดสอบเรื่องกล้องของ Surface Pro 3 ขนาดและสัดส่วนหน้าจอ อย่างแรกเลย สิ่งที่ Surface Pro 3 เปลี่ยนแปลงจาก Surface Pro รุ่นก่อนๆ มากคือ "ขนาด" โดยปรับมาใช้หน้าจอขนาดใหญ่ขึ้น (12 นิ้ว จากเดิม 10 นิ้ว) แถมยังเปลี่ยนสัดส่วนของหน้าจอจากเดิม 16:9 มาเป็น 3:2 สำหรับคนที่จินตนากรไม่ออก มันคือสัดส่วนของกระดาษ A4 ครับ ผมลองไปหาแฟ้มใสมาเทียบ ก็มีขนาดใกล้เคียงกัน การเปลี่ยนขนาดหน้าจอของ Surface Pro 3 มีผลดีขึ้นดังนี้ จอใหญ่ขึ้น ดูง่ายขึ้นมากเวลาใช้เป็นโน้ตบุ๊ก ความรู้สึกใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊ก 12 นิ้วมากขึ้น มีพื้นที่แสดงผลแนวตั้งเยอะขึ้น เวลาใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์มีเดสก์ท็อป ปัญหาหน้าต่างล้นจอหายไป เวลาใช้งานเป็นแท็บเล็ตในแนวตั้ง อ่านเอกสารหรืออีบุ๊ก สัดส่วนของจอดูสมส่วนมากกว่าเดิมมาก (ของเดิมเป็น 9:16 มันจะผอมยาวมากจนตลก) ส่วนข้อเสียที่ผมพบคือจอมันใหญ่ไปหน่อยสำหรับการใช้งานเป็นแท็บเล็ต (เทียบกับแท็บเล็ตมาตรฐานขนาด 10 นิ้ว) แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ และใช้ไปสักพักจะเริ่มชิน น้ำหนัก ในส่วนของน้ำหนักถือว่าค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วไป โดยตัว Surface Pro 3 เองหนัก 800 กรัม (8 ขีดพอดี) ถ้าพกร่วมกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นดังนี้ Type Cover 295 กรัม Surface Pen 18 กรัม อแดปเตอร์ 168 กรัม รวมแล้ว 1,281 กรัม หรือประมาณ 1.3 กิโลกรัม ใกล้เคียงกับการพก MacBook Air 13" แบบไม่รวมอแดปเตอร์ ถ้ามองว่ามันคือ "พีซี" ตัวหนึ่งแล้ว ในแง่ของความสะดวกในการพกพาถือว่ายอดเยี่ยมมาก ขาตั้ง ประเด็นถัดมาที่ Surface Pro 3 เปลี่ยนจากเดิมมากคือ "ขาตั้ง" ที่รุ่นแรกสุดกางได้ระดับเดียว และรุ่นที่สองกางได้สองระดับ พอมาเป็นรุ่นที่สาม มันสามารถกางได้ตามที่เราต้องการ ในกรอบองศาแคบสุด-กว้างสุดที่ทำได้ (ข้อมูลตามสเปกคือ 22-150 องศา) การกางขาตั้งครั้งแรกจะมาที่ 22 องศาก่อน (วางแคบกว่านี้ไม่ได้) และเราสามารถดันต่อไปได้เรื่อยๆ จนถึง 150 องศาครับ ขาตั้งออกแบบมาดีมาก มีความหนืดในตัวเองไม่ล้มง่ายๆ (ไมโครซอฟท์เรียก friction hinge หรือมีแรงเสียดทาน) กางระดับแรก 120 องศา จากภาพคือการสุดองศาที่ 150 องศา โดยสรุปแล้ว ขาตั้งของ Surface Pro 3 แก้ปัญหาในรุ่นก่อนๆ มาดีมาก ปัญหาเรื่ององศาของขาตั้งไม่ได้ระดับหมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่แน่นอนว่าด้วยแนวทางการออกแบบให้มันตั้งโดยใช้ขาตั้งด้านหลัง ยังมีจุดอ่อนเรื่องพื้นที่การวางที่เยอะกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปเช่นเดิม การวางบนตักจึงยังมีปัญหาอยู่บ้าง (แม้จะดีกว่าเดิม) และท่าที่เหมาะสมที่สุดคือวางบนโต๊ะครับ พอร์ตเชื่อมต่อ Surface Pro 3 ยังมีพอร์ตสำหรับอุปกรณ์เชื่อมต่อที่จำกัดเหมือนเดิม โดยพอร์ตทั้งหมดจะอยู่ด้านขวาของเครื่อง ประกอบด้วย USB 3.0 หนึ่งพอร์ต, Mini DisplayPort สำหรับต่อจอนอก (ไม่แถมสายแปลงมาให้), microSD (ช่องขวาสุดอยู่ใต้ขาตั้ง) สายชาร์จของ Surface รุ่นก่อนๆ มีปัญหาเรื่องเล็งสายให้ตรงช่องยาก (แม้จะเป็นแม่เหล็ก) รุ่นนี้แก้ปัญหานี้แล้ว การแปะสายชาร์จติดกับตัวเครื่องง่ายกว่าของเดิมมาก (สายชาร์จมีไฟบอกสถานะให้ด้วย) ฝั่งซ้ายมือของเครื่องเป็นปุ่มปรับระดับเสียง และพอร์ตสำหรับเสียบหูฟัง ส่วนขอบด้านบนมีปุ่ม Power อยู่ที่มุมด้านซ้าย ถ้าสังเกตจากภาพจะเห็นช่องระบายอากาศที่ขอบด้านบนของเครื่อง ใช้ดีไซน์คล้ายกับ Surface Pro รุ่นก่อนๆ คีย์บอร์ด Type Cover คีย์บอร์ดคู่บารมีของ Surface Pro 3 คือ Type Cover เวอร์ชันใหม่ (รอบนี้ไม่มี Touch Cover) โดยปรับให้ขนาดใหญ่ขึ้นเท่ากับจอของ Surface Pro 3 (ใครมี Type Cover ของเก่าเอามาแปะได้ พอร์ตเดิม แต่ขนาดจะไม่พอดีกัน) รูปแบบของปุ่มเหมือนเดิมทั้งหมด แต่เมื่อขนาดใหญ่ขึ้นก็ช่วยให้พิมพ์ง่ายขึ้น อีกส่วนที่ปรับปรุงขี้นมากคือทัชแพดที่ใหญ่ขึ้น ใช้สะดวกขึ้นกว่าของเดิมมาก สิ่งที่ไมโครซอฟท์ปรับปรุงไปนิดหน่อยแต่เห็นประโยชน์เยอะมากคือ คีย์บอร์ด Type Cover รุ่นใหม่มีแถบแม่เหล็กมาให้ สามารถแปะกับขอบล่างของหน้าจอ Surface Pro 3 เพื่อปรับองศาให้ชันขึ้น เอียงรับองศาของมือขณะพิมพ์มากกว่าเดิม (เราเลือกได้ว่าจะไม่แปะ วางคีย์บอร์ดราบกับพื้น หรือจะแปะเพื่อให้เอียงก็ได้) การแปะแถบแม่เหล็กเข้ากับขอบล่างของหน้าจอยังช่วยให้คีย์บอร์ดมั่นคงมากขึ้นเวลาวางตัก (เพราะจุดสัมผัสเยอะขึ้น เมื่อเทียบกับการแปะเฉพาะขั้วคีย์บอร์ดแบบของเดิม) ส่งผลให้ประสบการณ์การพิมพ์ขณะวางตักดีขึ้นมาก แม้ตอนพิมพ์จะยังมียวบๆ บ้างแต่ก็น้อยลงจากแบบเดิมมาก จุดอ่อนเดียวที่ผมพบจากคีย์บอร์ดแบบแปะขอบจอคือ เราจะใช้ท่าปัดขอบล่างขึ้นเพื่อเรียกปุ่มคำสั่งในแอพแบบ Metro ยากมากครับ โชคดีที่ Windows 8 ออกแบบมาให้ใช้ท่าปัดขอบบนลงแล้วได้ผลลัพธ์เดียวกัน เลยสามารถเลี่ยงไปใช้ท่านี้แทนได้ ปากกา Surface Pen ของใหม่อีกอย่างใน Surface Pro 3 คือปากกา Surface Pen รุ่นใหม่ ซึ่งเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี N-trig แทน Wacom แบบของเดิม (รายละเอียดอ่านได้ในบทความ เจาะลึก Surface Pen ไขปริศนาปากกา Surface Pro 3) ขนาดของ Surface Pen รุ่นใหม่ใกล้เคียงกับปากกาลูกลื่นทั่วไปมาก มีปุ่มด้านข้างมาให้ 2 ปุ่มคือ ลบ (erase) และเลือก (select) ส่วนปุ่มกดด้านบนเป็นการกดเพื่อ activate ปากกา ในการใช้งานจริง ระบบจะแสดงเคอร์เซอร์บอกตำแหน่งของหัวปากกาด้วย (ค่อนข้างแม่นแต่ก็ไม่ 100%) เรื่องน้ำหนักกดรองรับ 256 ระดับ อันนี้ผมไม่ใช่นักวาดรูปเลยไม่สามารถบอกได้ว่ามันดีหรือแย่กว่าปากกา Wacom มากน้อยแค่ไหน แต่เหลือเฟือสำหรับการจดโน้ตทั่วๆ ไปครับ ปากกา Surface Pen ผูกพันกับแอพ OneNote มาก ทุกครั้งเมื่อกดปุ่มที่หัวปากกา แอพ OneNote จะถูกเรียกขึ้นมาทำงานทันที ในกรณีที่เราปิดเครื่อง ล็อคหน้าจออยู่ แอพ OneNote จะทำงานในโหมดจดงานโดยไม่ต้องปลดล็อคเครื่อง เราสามารถจดโน้ตแล้วกดปุ่ม Power กลับไปสถานะล็อคหน้าจอเหมือนเดิมได้ (โน้ตจะถูกเก็บไว้ใน OneNote อัตโนมัติ) แต่ถ้าเราจดโน้ตเสร็จจะไปทำอย่างอื่นต่อ ก็สามารถกดปุ่ม Unlock ที่มุมซ้ายบน (ตามภาพ) เพื่อเข้าหน้าใส่รหัสปลดล็อคหน้าจอปกติได้ (โน้ตจะถูกเก็บอัตโนมัติเช่นกัน) ผมทดลองใช้ฟีเจอร์ OneNote จดโน้ตแล้วพบว่าเจ๋งมาก เพราะกระบวนการทั้งหมดง่ายและเป็นธรรมชาติมาก เพียงแค่กดปุ่มปากกาแล้วจดโน้ตได้ทันที อย่างไรก็ตาม ความสามารถนี้ล็อคตายตัวกับ OneNote เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนไปจดโน้ตด้วยโปรแกรมอื่นๆ (เช่น Evernote ได้) สามารถเปลี่ยนได้มากที่สุดคือเลือก OneNote เวอร์ชัน Metro หรือเวอร์ชันเดสก์ท็อปเท่านั้น จุดอ่อนเดียวของปากกา Surface Pen คือมันไม่มีที่เก็บครับ ถ้าซื้อ Type Cover ด้วย ไมโครซอฟท์จะแถมห่วงสำหรับคล้องปากกามาให้ ซึ่งพอใช้งานได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่ค่อยสวยนัก (และถ้าใช้งานเป็นแท็บเล็ตแนวตั้ง หันทิศผิด ปากกาจะมาจิ้มพุงด้วย) ถ้ามีวิธีการเก็บเข้ากับตัวเครื่องเหมือน Galaxy Note ของซัมซุงจะดีกว่านี้มาก หน้าจอ หน้าจอของ Surface Pro 3 มีความละเอียดมากถึง 2160x1440 (เกิน Full HD) คุณภาพของจอดีมาก ชัดมาก ละเอียดมาก เรียกว่าในการใช้งานโหมดแท็บเล็ตที่แอพ Metro ปรับขนาดตัวเองตามความละเอียดหน้าจออัตโนมัตินั้น "ไร้ที่ติ" อย่างไรก็ตาม พอมาใช้งานในโหมดเดสก์ท็อปมันกลับมีปัญหา "จอละเอียดเกินไป" ซะอย่างนั้น! เมื่อเปิดเดสก์ท็อปด้วยสัดส่วนปกติ (ตัวหนังสือขนาด 100%) พบว่าจอละเอียดระดับนี้ ในขนาดแค่ 12 นิ้ว ทำให้ตัวอักษรเล็กจิ๋วมากจนอ่านไม่ออกครับ ภาพ Blognone ทำงานในโหมดตัวหนังสือ 100% โชคยังดีที่ไมโครซอฟท์เตรียมแก้ปัญหานี้มาบ้าง โดยเปิดให้ผู้ใช้สามารถปรับขนาดของตัวหนังสือได้ (คลิกขวาบนเดสก์ท็อป เลือก Screen resolution > Make text and other items larger or smaller สามารถปรับขนาดได้สูงสุดที่ 200% ภาพ Blognone ทำงานในโหมดตัวหนังสือ 125% (ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดนึง) ขนาดที่กำลังดีคือ 150% ครับ การทำงานในโหมดซูม 150% จะปรับ UI ตามด้วยถ้าโปรแกรมนั้นรองรับ เช่น Microsoft Office จะปรับขนาด Ribbon ให้ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม โปรแกรมยอดฮิตหลายตัว เช่น Chrome, Firefox ยังไม่รองรับการปรับขนาดให้เหมาะกับจอภาพความละเอียดสูงเท่าที่ควร (Firefox รองรับการซูมข้อความ แต่ไอคอนเบลอ เป็นต้น) ปัญหานี้จะยิ่งเลวร้ายเมื่อเราต่อจอนอกที่ความละเอียดน้อยกว่า Surface Pro 3 ครับ (ซึ่งจอส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะเป็นเช่นนั้น) ผมลองใช้จอ 1080p ไปต่อแบบ Extended ก็พบว่า Surface งง และขยายข้อความในจอนอกให้มากเกินควร ไม่ค่อยลงตัวเท่าไรนัก ทางแก้คงไม่มีทางอื่นนอกจากรอให้จอความละเอียดสูง (HiDPI) ได้รับความนิยม และผู้พัฒนาโปรแกรม (ทั้งไมโครซอฟท์เองและบริษัทอื่น) ทยอยปรับอินเทอร์เฟซให้เหมาะกับจอความละเอียดสูงมากขึ้น ซอฟต์แวร์ Surface Pro 3 ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 8.1 โดยปรับแต่งจากรุ่นปกติเล็กน้อยในส่วนของ OneNote หรือไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์เท่านั้น ในแง่การใช้งานแล้วไม่ต่างอะไรกับ Windows 8.1 ทั่วไป การใช้งานโหมดเดสก์ท็อปราบรื่นดี (ยกเว้นปัญหาเรื่องความละเอียดหน้าจออย่างที่กล่าวไปแล้ว) ประสิทธิภาพการทำงานไม่ต่างอะไรกับโน้ตบุ๊ก Core i3/i5/i7 ทั่วไป แต่เมื่อใช้งานเป็นแท็บเล็ต ก็ยังมีปัญหาแบบเดิมๆ ของ Windows 8 ครับ ไม่ว่าจะเป็น UI ที่ใช้งานค่อนข้างยาก หรือแอพที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มคู่แข่ง (รายละเอียดของเรื่องนี้ผมเขียนไว้ใน บทความรีวิว Surface 2) โชคดีที่ Surface Pro 3 ใช้ซีพียู x86 ดังนั้นปัญหา "ไม่มีแอพใช้" จึงพอเลี่ยงได้ด้วยการสลับไปใช้งานโหมดเดสก์ท็อปแทน เช่น Google Drive ไม่มีแอพในโหมด Metro ผมก็ยังสามารถติดตั้ง Google Drive รุ่นปกติบนวินโดวส์ และเข้าถึงไฟล์ได้ผ่านการสลับไปเรียกแอพในโหมดเดสก์ท็อป (แม้จะไม่สะดวกสำหรับการสัมผัสด้วยนิ้ว แต่ก็ยังช่วยให้เข้าถึงไฟล์ได้) โดยรวมแล้วจึงถือว่าการใช้ Surface Pro 3 ในฐานะแท็บเล็ตยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เราก็ได้แต่หวังว่า Windows Threshold ที่มีข่าวว่าจะเปิดตัวปลายเดือนนี้ จะแก้ปัญหาเรื่อง UI ไปบ้าง (เช่น มีข่าวลือว่าจะถอด Charm Bar ออกไป) ส่วนประเด็นเรื่องแอพก็หวังว่าไมโครซอฟท์รวม Universal Windows App แล้วจะช่วยให้แอพบน Windows Phone ถูกพอร์ตมายัง Windows Metro เยอะขึ้น แบตเตอรี่ Surface Pro 3 รุ่นที่ได้มานี้เป็น Core i5-4300 พร้อมแรม 4GB ครับ ตามสเปกแล้วไมโครซอฟท์บอกว่าใช้ท่องเว็บได้นาน 9 ชั่วโมง ผมไม่ได้ทดสอบแบตเตอรี่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ลองนับคร่าวๆ ได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมง ทั้งนี้อายุแบตเตอรี่ขึ้นกับประเภทแอพที่ใช้งานด้วย เท่าที่สังเกตคือแอพแบบ Metro จะกินแบตน้อยกว่าแอพแบบเดสก์ท็อปมาก (ดังนั้นควรท่องเว็บด้วย Modern IE แทน IE/Firefox/Chrome ถ้าไม่ได้เสียบไฟ) แต่ก็แน่นอนว่าแอพ Metro ในปัจจุบันยังมีไม่เยอะนัก และหลายครั้งเราต้องสลับไปใช้โหมดเดสก์ท็อปอย่างไม่มีทางเลือก ในแง่การใช้งานแล้ว ถ้าออกจากบ้านไปสัก 4-5 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องเอาอแดปเตอร์ไปได้สบายๆ แต่ถ้าหยิบไปทำงานด้วยตั้งแต่เช้าจรดเย็น ยังไงก็คงต้องมีอแดปเตอร์ติดตัวไปครับ ส่วนเรื่องความร้อน จุดที่ร้อนที่สุดคือมุมขวาบนของเครื่อง เท่าที่ใช้มาผมเคยเจอปัญหาร้อนจนดับ 1 ครั้ง (ตอน soft reset เครื่อง) แต่นอกนั้นก็เจอแค่อุ่นๆ ไม่ถึงกับร้อนลวก (ส่วนใหญ่จะร้อนเวลาใช้งานแอพเดสก์ท็อป) เมื่อเครื่องร้อนในระดับหนึ่งจะได้ยินเสียงพัดลมบ้าง แต่ก็ไม่ดังจนเกินไป สรุป โดยรวมแล้ว Surface Pro 3 เป็น "โน้ตบุ๊กที่ใช้เป็นแท็บเล็ตได้" มากกว่า "แท็บเล็ตที่ใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กได้" แน่นอนว่ามันไปไม่สุดสักทาง ในความเป็นแท็บเล็ตยังด้อยกว่า iPad หรือแท็บเล็ตแอนดรอยด์ และในความเป็นโน้ตบุ๊กก็ยังด้อยกว่าโน้ตบุ๊กเต็มขั้น ทั้งในแง่ขนาดหน้าจอ คีย์บอร์ด หรือพอร์ตเชื่อมต่อ Surface Pro 3 แก้ปัญหาของ Surface Pro รุ่นพี่ๆ ไปเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาตั้ง หน้าจอ คีย์บอร์ด แบตเตอรี่ รวมทั้งพัฒนาฟีเจอร์ด้านการจดโน้ตไปไกลมาก (น่าจะเป็นอุปกรณ์จดโน้ตที่ดีที่สุดในปัจจุบัน) จุดอ่อนด้านฮาร์ดแวร์อย่างเดียวที่เหลืออยู่คงมีแค่พื้นที่การวางที่ใช้เยอะกว่าโน้ตบุ๊กปกติ และยังวางบนตักได้ไม่ค่อยดีเท่ากับโน้ตบุ๊ก อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของ Surface Pro 3 ก็คือมันสามารถทำได้ทั้งสองหน้าที่ ภายใต้น้ำหนักบรรทุกรวมไม่เกิน 1.3 กิโลกรัม มันจึงน่าสนใจมากสำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไร รู้ฟังก์ชันหรือกระบวนการทำงานของตัวเอง และมองว่า "ชีวิตจะดีขึ้นได้" เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Surface Pro 3 ที่น้ำหนักบรรทุกรวมเบาลงกว่าอุปกรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งในแง่นี้ Surface Pro 3 ทำได้ดีมากๆ ครับ คำถามสุดท้ายว่า Surface Pro 3 คุ้มค่าสมราคาหรือเปล่า คงต้องกลับไปถามตัวเองว่าจะซื้อมันมาทำอะไร เราต้องไม่ลืมว่ามันเป็นสินค้าตระกูล Pro เหมาะสำหรับมืออาชีพหรือการใช้งานเชิงธุรกิจ ดังนั้นถ้าซื้อมาใช้เล่นเน็ต โซเชียล เล่นเกม คงไม่คุ้มแน่ๆ (ไปใช้แท็บเล็ตค่ายอื่นคุ้มกว่ามาก) แต่ถ้ามี requirement ชัดเจนในสายงานของตัวเอง มีความจำเป็นต้องใช้โปรแกรมเฉพาะทางบนพีซี (ไม่ว่าจะเป็นเขียนโปรแกรม แต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ ฯลฯ) การใช้ Surface Pro 3 ที่แรงพอสำหรับงานเฉพาะทางเหล่านี้ แต่พกพาสะดวกกว่าโน้ตบุ๊กแบบเดิมมาก จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้กลุ่ม Pro ที่เรื่องเงินอาจไม่ใช่ข้อจำกัดที่สำคัญมากนัก ข้อดี คุณภาพงานประกอบดีเยี่ยม ประสิทธิภาพของซีพียูดีพอสำหรับงานเกือบทุกชนิด แบตเตอรี่ดีกว่ารุ่นเดิมมาก ซีพียู x86 รองรับการใช้งานเป็นพีซีเต็มรูปแบบ หน้าจอสวย ละเอียด สัดส่วนพอดีกับการใช้งานเป็นโน้ตบุ๊ก แก้ปัญหาขาตั้งจากรุ่นก่อน แก้ปัญหาคีย์บอร์ดจากรุ่นก่อน ปากกา Surface Pen ใช้ดีมากสำหรับการจดโน้ตบน OneNote น้ำหนักเบาพกพาสะดวก เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กที่ขนาดใกล้เคียงกัน ข้อด้อย หน้าจอละเอียดไปสำหรับการใช้งานเป็นเดสก์ท็อป และ Windows 8 ยังรองรับไม่ดีเท่าที่ควร ไม่มีช่องเสียบปากกาในตัว อุปกรณ์ทรงนี้ต้องใช้ขาตั้ง ยังไงก็วางตักยากกว่าโน้ตบุ๊กปกติ การใช้งานเป็นแท็บเล็ต ยังติดข้อจำกัดด้าน UI และปริมาณแอพ การใช้งานเป็นโน้ตบุ๊ก ยังสู้โน้ตบุ๊กจริงๆ ไม่ได้ 100% ราคาแพงไปนิดสำหรับผู้ใช้ทั่วไป Surface Pro 3, Microsoft, Review, Tablet