เปิดแผนล้างหนี้'แสนล้าน'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 8 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ร.ฟ.ท.เร่งดึงเอกชนร่วมพัฒนาที่ดิน3ทำเลทองกว่า800ไร่ ปธ.บอร์ดรฟท.เสนอ4ทางเลือกแผนฟื้นฟูองค์กร-เร่งล้างขาดทุน

    เปิด 3 ทำเลทองที่ดิน"มักกะสัน-สถานีแม่น้ำ- พื้นที่บริเวณ กม.11 หลังปตท." เนื้อที่กว่า 800 ไร่ การรถไฟเล็งดึงเอกชนร่วมพัฒนาที่ดินล้างหนี้ก้อนโตกว่าแสนล้าน เตรียมปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ทั่วประเทศ 47 จังหวัด พื้นที่กว่า2.3 แสนไร่ เพื่อเพิ่มรายได้องค์กร ตั้งคณะอนุกรรมการเร่งศึกษารูปแบบการลงทุน ขณะ"ออมสิน"แนะยึดโมเดลผลศึกษาเดิม

    การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เป็นอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนและหนี้สะสม ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

    นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ"กรุงเทพธุรกิจ" ถึงแผนฟื้นของฟูร.ฟ.ท.ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดและคำอธิบายแผนการฟื้นฟู ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง โดยหลักการยังยึดข้อเสนอที่จะให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางล้างหนี้ของร.ฟ.ท. กว่า 1 แสนล้านบาทใน 4 ทางเลือก

    ตามข้อเสนอแผนฟื้นฟูร.ฟ.ท. มีอยู่ 4 แนวทาง คือ แนวทางแรก รัฐบาลรับภาระด้านโครงสร้างพื้นฐานในอดีตและการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 176,808 ล้านบาท โดยร.ฟ.ท. รับภาระการลงทุนจัดหารถจักรและล้อเลื่อนทำให้ค่าเสื่อมราคาโครงสร้างพื้นฐานในอดีตและที่จะลงทุนใหม่ ไม่รวมอยู่ในงบกำไรขาดทุน

    แนวทางนี้จะส่งผลให้ ร.ฟ.ท. มีรายได้เพิ่มจาก 10,609 ในปี 2557 เป็น 23,489 ในปี 2565 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (อีบิทด้า) จากติดลบ 2,558 ล้านบาท เป็นบวก 1,710 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 8,970 ล้านบาท เป็นขาดทุน 11,154 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสะสมระหว่างปี 2557-2565 อยู่ที่ 91,219 ล้านบาท

    แนวทางที่ 2. รัฐรับภาระตามแนวทางที่ 1 พร้อมรับภาระหนี้สินในอดีตทั้งหมดและค่าบำเหน็จบำนาญ แต่ร.ฟ.ท. ยังรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากรถจักรและล้อเลื่อน แนวทางนี้ส่งผลให้ร.ฟ.ท.ไม่มีค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญจากเดิมที่ต้องจ่ายระหว่างปี 2557-2565 รวม 34,178 ล้านบาท มีรายได้ 23,489 ในปี 2565 อีบิทด้าอยู่ที่ 1,710 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 2,408 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสะสมระหว่างปี 2557-2565 อยู่ที่ 27,992 ล้านบาท

    แนวทางที่ 3. รัฐรับภาระตามแนวทางที่ 1, 2 แต่ร.ฟ.ท.จะขอปรับค่าโดยสารและค่าระวางขึ้น 10% หลังจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางเสร็จแล้ว แนวทางนี้ส่งผลให้รายได้จากค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 5,535 ในปี 2557 เป็น 17,030 ในปี 2565 และเงินอุดหนุนค่าโดยสารสาธารณะเพิ่มจาก 2,350 เป็น 4,500 ล้านบาท รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 26,560 ล้านบาท อีบิทด้าเปลี่ยนเป็นบวก 3,899 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 219 ล้านบาทและขาดทุนสะสมลดเหลือ 21,884 ล้านบาท

    แนวทางที่ 4. รัฐรับภาระตามแนวทางที่ 1,2, 3 และภาระค่าซ่อมบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางนี้ ร.ฟ.ท. จะมีรายได้จากการสนับสนุนค่าซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานในปี 2563 จำนวน 3,969 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 4,010 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 4,026 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท. มีรายได้รวม 26,560 ล้านบาท ในปี 2565 อีบิทด้าเปลี่ยนจากติดลบเป็นบวก 3,899 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิเปลี่ยนเป็นมีกำไรสุทธิในปี 2563 จำนวน 2,668 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,248 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 3,807 ล้านบาท ส่วนขาดทุนสะสมลดเหลือ 9,879 ล้านบาท

    ภาระบำเหน็ญบำนาญ30ปี6หมื่นล้าน

    ภาระหนี้สินของ ร.ฟ.ท. เกิดจากค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญปีละ 4,000 ล้านบาท จากการคำนวณพนักงานมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี จะทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท ในอีก 30 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีภาระดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้กู้อยู่ปีละ 4,000-4,500 ล้านบาท การลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ตามนโยบายรัฐบาลอีก 30,000 ล้านบาท และค่าอุดหนุนรถไฟฟรี 164 ขบวนต่อวัน จากรถไฟที่วิ่งทั้งหมด 300 ขบวนต่อวัน แต่กระทรวงการคลังคืนเงินส่วนนี้ให้ร.ฟ.ท. แค่ 40% โดยจ่ายคืนให้แค่ปี 2552 ส่วนที่เหลือยังไม่ได้คืนและไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้คืนหมด

    "ภาระหนี้ของ ร.ฟ.ท. เป็นการขาดทุนจากการดำเนินงานส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกไม่น้อยเป็นภาระที่รัฐบาลควรรับไป ร.ฟ.ท.มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยเงินกู้อยู่แล้ว ถ้าภาครัฐเลือกแนวทางที่ 4 คือล้างหนี้ทั้งหมด จะทำให้ ร.ฟ.ท. มีอีบิทด้าเป็นบวกในปีที่ 6 และเริ่มมีกำไรสุทธิได้ในปีที่ 7” นายออมสิน กล่าว

    รุก3ส่วนเพิ่มรายได้องค์กร

    นายออมสิน กล่าวว่า นอกจากข้อเสนอให้รัฐรับภาระหนี้สินแล้ว ตามแผนฟื้นฟูร.ฟ.ท. ยังมีแนวทางเพิ่มรายได้จาก 3 ส่วนควบคู่กัน คือรายได้จากค่าโดยสารซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการ เมื่อโครงการรถไฟรางคู่แล้วเสร็จ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์รองรับการขนส่งสินค้า และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่กว่าโครงการรถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จคงต้องใช้เวลา ดังนั้นร.ฟ.ท. จึงต้องหันมาเน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และระบบโลจิสติกส์ก่อน

    ทั้งนี้ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีที่ดินทั้งหมด 234,976 ไร่ ในพื้นที่ 47 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อการเดินรถ 84.60% หรือคิดเป็น 198,674 ไร่ และไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ 15.40% หรือคิดเป็น 36,302 ไร่ ถือเป็นองค์กรที่มีที่ดินจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพทำให้มีรายได้จากส่วนนี้มีน้อย ดังนั้นร.ฟ.ท. จึงได้วางแผนที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มรายได้ ตามแผนจะมีรายได้จากบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 2,724 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 5,030 ล้านบาทในปี 2565

    "ผมว่าร.ฟ.ท.มีดินจำนวนมาก แต่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ต่อไปเราคงต้องดูเรื่องค่าเช่าใหม่ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากมีการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ให้ดี เชื่อว่าร.ฟ.ท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้น"

    เปิดแผนพัฒนาที่ดิน3ทำเลทอง

    นายออมสิน กล่าวว่าที่ดินแปลงสำคัญของร.ฟ.ท. ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนา 3 แห่งประกอบด้วยที่ดินบริเวณมักกะสัน เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ บริษัทที่ปรึกษาเสนอให้พัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ โดยภายในแบ่งเป็น 4 โซนตามกิจกรรมต่างๆ และสร้างตึกสูง 95 ชั้น แต่ก่อนจะพัฒนาที่ดินบริเวณนี้ต้องย้ายโรงซ่อมรถไฟมักกะสันและโรงพยาบาลของ ร.ฟ.ท. ที่ตั้งอยู่ออกไปชานเมือง

    สถานีบริเวณแม่น้ำ เนื้อที่ 200 ไร่ มีแผนที่จะพัฒนาเป็นอาคารสูง แต่ติดปัญหาต้องหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่ และพื้นที่บริเวณพหลโยธิน กิโลเมตรที่11 ติดกับกระทรวงพลังงานและสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีแผนจะพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ แต่การพัฒนาที่ดินผืนนี้มีปัญหามากที่สุด เพราะเป็นบ้านพักของพนักงาน ร.ฟ.ท.จำนวนมาก

    ดังนั้น ก่อนจะพัฒนาได้ต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นของพนักงานและจัดหาที่อยู่ใหม่ให้

    สั่งศึกษาโมเดลดึงเอกชนลงทุน

    นายออมสิน กล่าวว่าก่อนหน้านี้บอร์ดร.ฟ.ท.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวการพัฒนาที่ดินแล้ว ซึ่งแนวทางการศึกษาเน้นเปิดกว้าง สำหรับโมเดลการลงทุนทุกรูปแบบ เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PUBLIC-PRIVATE PARTNERSHIP: PPP) การจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ แต่ ร.ฟ.ท. ควรเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น

    การลงทุนอสังหาฯร.ฟ.ท.จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดูแลการดำเนินงานและผลประโยชน์ที่ร.ฟ.ท.จะได้รับ พร้อมหาผู้ลงทุนและผู้พัฒนาโครงการ อาจจะเป็นกลุ่มเดียวหรือคนละกลุ่มกันก็ได้ ส่วนสัญญาเช่าพื้นที่กับเอกชนจะเป็นกี่กลุ่ม ขึ้นอยู่กับผลศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนที่พิสูจน์ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ทำให้ผู้ลงทุนและร.ฟ.ท. ได้ประโยชน์ร่วมกัน” นายออมสิน กล่าว

    เผยผลศึกษา3ทำเลทองสร้างเมืองใหม่

    แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท. กล่าวว่าก่อนหน้านี้ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างให้ บริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนาที่ดินทั้ง 3 แปลงมาแล้ว ซึ่งในแต่ละแปลงมีแผนพัฒนาที่ชัดเจน เพียงแต่บอร์ดชุดปัจจุบันได้ขอให้คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษารายละเอียดและดูความเหมาะสมกับสิ่งที่ศึกษามาก่อนหน้านี้

    โดยในส่วนของที่ดินบริเวณมักกะสันบริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาไว้แล้ว เป็นโครงการมักกะสัน คอมเพล็กซ์ โดยรูปแบบที่ศึกษาไว้ที่ปรึกษาระบุว่ารูปแบบที่เหมาะสมของโครงการคือการให้สิทธิ์สัมปทานพื้นที่ทั้งหมดกับผู้ลงทุนภายใต้กระบวนการและข้อเสนอของร.ฟ.ท. รูปแบบนี้ร.ฟ.ท.ไม่ต้องลงทุนใดๆ จะเป็นเพียงผู้ออกสิทธิสัญญาเช่าระยะ34ปี คือก่อสร้าง 4 ปี เป็นโครงการดำเนินการ 30 ปีให้กับผู้ลงทุน

    โดยร.ฟ.ท.จะได้ผลตอบแทนจากการให้สิทธิ คือ1.ช่วงก่อสร้างปีที่1 คิด FRONT END FEE 30% ของผลตอบแทนจากการจัดให้เช่าที่ดิน 2.ช่วงก่อสร้างปีที่2,3และ4 คิดว่าเช่า25,50และ75%ของค่าเช่าที่ต้องชำระในปีที่1เมื่อเริ่มเปิดดำเนินการ 3. ค่าเช่ารับรายปี ซึ่งจะเพิ่มขึ้น5%ต่อปี นับจากเริ่มเปิดดำเนินการจนสิ้นสัมปทาน(รวม30ปี)

    อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษายังได้ประเมินมูลค่าที่ดินย่านมักกะสันในพื้นที่รวมเกือบ500 ไร่ ว่ามีมูลค่าที่ดินรวมประมาณ 55,815 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินราคาที่ดินที่ตารางวาละ 266,000 บาท เป็นราคาประเมินเมื่อปี2555

    ส่วนโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำ ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาแผนการพัฒนาในที่ดินไว้แล้ว ในพื้นที่ 260 ไร่ คิดเป็นพื้นที่104.135.56 ตารางวา โดยประเมินว่าจะมีมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมด 10,413.56 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 แปลงย่อย

    สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณ กม.11 (บริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11 คลับเฮาส์/สนามซ้อมกอล์ฟ และฝ่ายบริหารงานบุคคล ด้านฝึกอบรม) ที่ปรึกษาได้ศึกษารายละเอียดของการพัฒนาที่ดินไว้แล้วเช่นกัน ในพื้นที่359 ไร่ แต่จะนำมาพัฒนาได้กว่า100 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีการใช้งานไปแล้ว ที่ผ่านมาร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษารูปแบบการลงทุนไว้แล้ว

    เป็นการลงทุนพัฒนาที่ดินซึ่งมีทั้งศูนย์แสดงนิทรรศการ โรงแรม สำนักงาน ร้านค้า เซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ อาคารจอดรถอัตโนมัติ โดยกำหนดการใช้พื้นที่ออกเป็น 6โซน

    Tags : ร.ฟ.ท. • แสนล้าน • คสช. • คนร. • ออมสิน ชีวะพฤกษ์ • หนี้

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้